Posted: 27 Nov 2018 04:23 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-11-27 19:23


'เอฟทีเอ ว็อทช์' ระบุ ม.44 เป็นคำสั่งพิเศษของคณะรัฐประหาร ไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักนิติรัฐปกติ และยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ระบบอันเป็นต้นตอของปัญหา แนะกำกับดูแลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางเคมีและชีววัตถุอย่างเข้มงวดและรอบคอบ พร้อมทั้งรายงานต่อสาธารณชนเป็นระยะ


27 พ.ย.2561 จากกรณีวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกรณีการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาว่า ต้องหาวิธีการที่เหมาะสม และต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศไทยด้วย ซึ่งการนำกัญชามาสกัดเป็นยา ต้องคิดให้รอบคอบว่าอะไรได้ประโยชน์ อะไรเสียประโยชน์ ไม่ขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศ โดยการแก้ปัญหาจะต้องไม่ก่อเกิดปัญหาใหม่ขึ้นมาแทนปัญหาเดิม เพราะจะเกิดผลเสียต่อรัฐบาล

ไทยโพสต์ ยังรายงานประเด็นที่ว่าจะมีการออกคำสั่งมาตรา 44 สำหรับการแก้ปัญหานี้นั้น พล.ประยุทธ์ ระบุว่า อยู่ระหว่างการเขียนรายละเอียดอยู่

วันนี้ (27 พ.ย.61) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่าขอคัดค้านการที่หัวหน้า คสช. จะออกคำสั่งตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาคำขอสิทธิบัตรกัญชา ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1) มาตรา 44 เป็นคำสั่งพิเศษของคณะรัฐประหาร ที่ไม่อาจถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนอันชอบธรรมของการออกหรือการใช้กฎหมาย (due process of law) ไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักนิติรัฐปกติ ซึ่งเป็นอำนาจพิเศษเฉพาะในกฎหมายไทยเท่านั้น แต่ขัดกับหลักการสากลในทางระหว่างประเทศ การใช้อำนาจเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกผู้ขอสิทธิบัตรชาวต่างชาติจะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (Investor-state Dispute Settlement: ISDS) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย หรือที่สื่อไทยใช้คำเรียกว่า 'ค่าโง่' ได้ เช่นเดียวกับกรณีเหมืองทอง จ.เลย และรัฐบาลไทยก็มีโอกาสจะแพ้คดีเนื่องจากความไม่ชอบธรรมของอำนาจที่ใช้ออกคำสั่ง

2) การออกคำสั่งตามมาตรา 44 เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ที่ระบบอันเป็นต้นตอของปัญหา นั่นคือ การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของตัวเองอย่างเคร่งครัด อาทิ ไม่ใช้มาตรา 9 ที่ระบุถึงสิ่งที่ห้ามจดสิทธิบัตร เช่น สารสกัดตามธรรมชาติ จุลชีพ การใช้เพื่อการบำบัดรักษา และสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี มาใช้ในการตรวจสอบคำขอสิทธิบัตรเบื้องต้น, ไม่ใช้มาตรา 5 ที่ว่าด้วยคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งต้องมีความใหม่และมีนวัตกรรมที่สูงขึ้นมาพิจารณาตรวจสอบสิทธิบัตรอย่างเคร่งครัด แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับไม่ยกคำขอเหล่านี้ทิ้งไป ปล่อยให้คำขอเหล่านี้อยู่ในระบบจนเป็นการขัดขวางนวัตกรรมและการพัฒนาพืชกัญชาทางการแพทย์อยู่ขณะนี้ นอกจากนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญายังออกคู่มือตรวจสอบสิทธิบัตรในการอธิบายมาตรา 9 พ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เกินไปกว่ากฎหมาย ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดทางให้จดสิทธิบัตรสารสกัดที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ทั้งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสารธรรมชาติซึ่งเกินกว่ากฎหมาย

3) ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหานี้ที่ถูกต้อง คือ รัฐบาล คสช. ต้องกำกับดูแลให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจสอบสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ทางเคมีและชีววัตถุอย่างเข้มงวดและรอบคอบ และรายงานต่อสาธารณชนเป็นระยะถึงการยกคำขอสิทธิบัตรเหล่านั้น และให้ถือปฏิบัติเช่นเดียวกับยาอื่นๆ

สิทธิบัตรกัญชา : นักวิชาการทรัพย์สินทางปัญญาฯ ร้องรัฐปฏิบัติตาม กม.เคร่งครัด ยกทิ้ง 7 คำขอ
FTA Watch เตือน สนช. ระวังถูกแหกตา ปมเพิกถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิบัตรกัญชา สะท้อนความล้มเหลวกรมทรัพย์สินฯ ทำบริษัทผูกขาด-นักวิจัยพัฒนาต่อไม่ได้

เอฟทีเอ ว็อทช์ ย้ำอีกครั้งว่า สนับสนุนให้มีการยกคำขอสิทธิบัตรกัญชาทิ้งไป แต่ให้ใช้กระบวนการตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งต้องอาศัยความเอาจริงเอาจังของข้าราชการกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่ใช้อำนาจพิเศษในการแก้ปัญหาซึ่จะยิ่งสร้างปัญหาให้รุนแรงกว่านี้โดยไม่จำเป็น

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.