Posted: 16 Dec 2018 07:57 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-16 22:57
นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
จากการติดตามกระทู้ใน Pantip ที่เพื่อนนิสิตในคณะของผู้เขียนแชร์ลง Facebook ของเขา ผู้เขียนจึงได้ไปสัมภาษณ์อดีตนักเรียนของชมรมดังกล่าว รวมทั้งสอบถามประสบการณ์จากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชมรมหลายคน พบว่าวงโยฯ ดังกล่าวเคยมีการใช้ระบบโซตัส มีการให้อำนาจรุ่นพี่ในการสั่งลงโทษและใช้แรงงานรุ่นน้อง มีการว้ากและการธำรงวินัย และมีกิจกรรมสันทนาการที่ไม่สร้างสรรค์และไม่ถูกสุขอนามัยและอาจเข้าข่ายการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผู้เขียนยังได้รับข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งว่าปัจจุบันชมรมดังกล่าวได้ลดความสำคัญของระบบโซตัสลง แต่ถึงกระนั้นเหตุการณ์ในอดีตก็ยังควรนำมาศึกษาและวิเคราะห์ถึงสภาพปัญหา อะไรเป็นปัจจัยเกื้อหนุนหรือแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมดังกล่าวในโรงเรียนมัธยม
โซตัส (sotus) ปรากฏครั้งแรก ๆ ในไทยที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน) โดยเริ่มต้นจากแนวคิดระบบในโรงเรียนกินนอน (boarding school) ในสหราชอาณาจักร ระบบโซตัสในมหาวิทยาลัยไทยมีต้นกำเนิดที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่นำระบบโซตัสเข้ามาคืออาจารย์รุ่นแรก ๆ ที่จบจากมหาวิทยาลัยบอสบานยอสในฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยคอร์แนล และมหาวิทยาลัยโอเรกอนในสหรัฐอเมริกา [1] และคงถูกนำมาปรับร่วมกับระบบทหารในช่วงสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ซึ่งความเป็นทหารเป็นกระแสนิยมในช่วงเวลานั้น ระบบถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 2480 (พร้อมกับการนำวิธีการลงโทษคล้าย ๆ ทหารเข้ามาปรับใช้กับตัวอุดมการณ์) ระบบได้แพร่ระบาดเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศและถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันพบว่าระบบนี้ได้เริ่มแพร่กระจายลงสู่โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แน่นอนว่าระบบโซตัสคงไม่ได้เข้ามาในโรงเรียนเพราะโชคช่วย แต่เพราะมีปัจจัยและสิ่งแวดล้อมรอบด้านคอยสนับสนุนให้ระบบโซตัสและระบอบอำนาจนิยมเติบโต โดยผู้เขียนขอนำทัศนคติและวาทกรรมทั้งจากที่ผู้เขียนเคยได้รับฟังเองและจากที่เจ้าของกระทู้ข้างต้นได้ระบุไว้มาทำการวิเคราะห์ร่วมถึงเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดระบบโซตัสในระดับมัธยม ผ่านกรณีศึกษาของวงโยฯนี้ อันได้แก่
ระบบอาวุโสที่มีอยู่เดิมในสังคมไทย สังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมเคารพผู้มีอาวุโสเดิมอยู่แล้วตั้งแต่ในอดีต เมื่อระบบโซตัสก่อตัว ยิ่งทำให้มีการระบุขอบเขตอำนาจของผู้มีอาวุโสอย่างชัดเจน อิทธิพลจากระบบทหารสร้างรุ่นพี่ให้เป็นคล้ายผู้บังคับบัญชาทางทหาร มีอำนาจในการสั่งลงโทษหรือใช้งานตามสมควรกับรุ่นน้องที่เป็นผู้ใต้บังคับ ระบบอาวุโสเดิมนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่น่าจะมีอยู่ในโรงเรียนก่อนระบบโซตัสจะเข้ามา พอระบบโซตัสแพร่เข้ามาถึง ระบบอาวุโสเดิมก็สอดรับกับระบบโซตัสอย่างแนบแน่น
ความผูกผันกับสถาบันและกลุ่มบุคคล เป็นเรื่องที่ดีที่คน ๆ หนึ่งจะมีความรู้สึกที่ดีต่อคนรอบข้าง แม้ตนเองจะจบการศึกษาไปแล้ว แต่ปัจจัยนี้ยังนำความน่ากลัวติดมา เป็นที่รู้กันว่าในระดับอุดมศึกษานั้นมีระบบโซตัสที่ฝังรากลึกเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีคน ๆ หนึ่งเข้าไปซึมซับแนวคิดมา แล้วเห็นชอบกับแนวคิด ย่อมนำกลับมาเผยแพร่ในสังกัดเก่าที่คน ๆ นั้นยังมีความผูกผัน เพราะอาจมองว่าเป็นระบบที่ดี สันนิษฐานในเบื้องต้นได้ว่าชมรมดังกล่าวต้องมีระบบอุปถัมภ์ที่แนบแน่นเป็นทุนเดิม จึงทำให้ระบบโซตัสถูกนำเข้ามาโดยศิษย์เก่าอย่างง่ายดาย
ความไม่เข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่ค่อยมีสอนในสถาบันการศึกษาขั้นพื้นฐานะนของไทย การขาดความเข้าใจในเสรีภาพและความเท่าเทียมของมนุษย์ ทำให้รุ่นพี่อาจมองรุ่นน้องในฐานะที่ไม่เท่าเทียม มีการกดขี่ในทางคำพูดและการออกคำสั่งใช้งานหรือลงโทษ หรือหยอกล้อรุ่นน้องในแบบที่ไม่สร้างสรรค์ เช่น สั่งให้ทำท่าแผลง ๆ ซึ่งบางครั้งมีลักษณะไปทาง sexual harassment โดยรุ่นพี่เหล่านั้นมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นลักษณะของ “ความสัมพันธ์แบบครอบครัว” (ซึ่งเหล่ารุ่นพี่อาจมีมายาคติว่าความสัมพันธ์แบบครอบครัวคือความสัมพันธ์ที่มีลักษณะในแนวดิ่ง หรือ Hierarchy) โดยอาจลืมคำนึงถึงว่าการกระทำเหล่านั้นจะขัดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกกระทำ ค่านิยมชายเป็นใหญ่ยังปกคลุมอยู่ในชมรมนี้ จากวาทกรรม “เป็นผู้ชายต้องมีระเบียบมากกว่าผู้หญิง” สะท้อนถึงทัศนคติที่ว่าความเป็นชายคือความเหนือกว่า และจากแนวทางสันทนาการในกรณีชมรมนี้รวมทั้งพื้นที่โซตัสทั่วไป ก็มักเต็มไปด้วยมุกตลกเชิงล้อเลียนเพศสภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเพศทางเลือก และพยายามสร้างคนให้เป็นวัตถุสร้างความตลก เช่น จับคนมาแต่งตัวให้ดูแปลกประหลาด หรือ บังคับให้ออกมาแสดงท่าที่ไม่เหมือนวิถีของคนปกติ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำที่เหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
การถูกสังคมกดขี่หรือพยายามตีตราตนเองว่าเป็นชนชั้นล่าง จึงกลายเป็นปมและมาระบายออกในพื้นที่ที่กลุ่มคนที่เคยถูกกดขี่สามารถแสดงออกได้นั้นคือพื้นที่ของชมรมวงโยฯ ในกรณีชมรมดังกล่าว สมาชิกในชมรมบางกลุ่มพยายามแปะป้ายว่าตนเองว่าไม่ใช่ชนชั้นอภิสิทธิ์ (แต่พวกเขาก็คงไม่ได้สมาทานแนวคิด Marxism หรือการโค่นล้มชนชั้นมาใช้แต่อย่างใด) ผ่านการกระทำที่แสดงออกมาต่าง ๆ เช่น ในเหตุการณ์สั่งแก้ผ้าอาบน้ำ ผู้เขียนได้ยินว่าบรรดารุ่นพี่ได้สร้างวาทกรรมหนึ่ง คือ “มึงเป็นลูกทักษิณเหรอเลยแก้ผ้าอาบน้ำร่วมกับคนอื่นไม่ได้” แสดงให้เห็นถึงการเปรียบเปรยว่าคนสูงศักดิ์เช่น อดีตนายกฯอย่างคุณทักษิณจะได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องอาบน้ำแบบเปลือยเปล่าร่วมกับผู้อื่น แต่หากเป็นชนชั้นกรรมาชีพนั้น จะไม่มีทางเลือกแบบคุณทักษิณ และจะต้องเปลื้องผ้าอาบน้ำร่วมกับผู้อื่น วาทกรรมนี้ยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมที่พวกเขาก็เลือกที่จะยอมรับ ทางเลือกที่คนชนชั้นล่างไม่มีสิทธิจะเลือก ทัศนคติของผู้สร้างวาทกรรมที่เข้าใจถึงสิทธิที่มีอยู่จำกัดในสังคมของคนชนชั้นกรรมาชีพ ผู้สร้างโซตัสมักพยายามที่จะเปรียบเปรยความสุขสบายของผู้มีฐานะหรือผู้ใฝ่เรียนที่ไม่เข้าร่วมกิจกรรมพิเศษว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ บางครั้งคนเหล่านี้จะแสดงท่าทางลามกอนาจารหรือคำพูดท้าทายเพื่อเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามผู้มีฐานะหรือผู้ใฝ่เรียนด้วย
ซึ่งการกระทำของพวกเขาอาจเกิดมาจากการที่ผู้ใหญ่ไปเปรียบเทียบพวกเขากับกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนดีหรือแสดงอาการต่อการกระทำของพวกเขาในเชิงเหยียดหยามและปฏิบัติต่อพวกเขาในลักษณะสองมาตราฐานกับกลุ่มเด็กที่มีผลการเรียนดี การเปรียบเทียบโดยไม่คำนึงถึงจิตใจของผู้อื่นแบบนี้ ทำให้พวกเขาอาจยิ่งถูกกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรมเบี่ยงเบนให้เหมือนกับชนชั้นล่างตามทัศนคติของผู้ใหญ่ไทยบางคน (ที่มักดูหมิ่นชนชั้นกรรมาชีพ) และพวกเขาก็จะยิ่งไม่ชอบกลุ่มเด็กเรียนที่ถูกชื่นชมและถูกตีค่าให้สูงกว่า จนพวกเขายอมตีตราตนเองว่าเป็นชนชั้นล่างเพื่อให้ตนเองแตกต่างกับกลุ่มเด็กเรียนที่เป็นมายาคติว่าเป็นชนชั้นที่สูงกว่า พวกเขายังพยายามหล่อหลอมรุ่นน้องให้มีแนวคิดนี้ต่อไปอีกด้วย
การถูกทำร้ายจิตใจหรือร่างกายจากระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียนและในสังคม บุคคลนั้นอาจไม่ได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว หรือถูกครูในโรงเรียนใช้คำพูดกระทบจิตใจหรือใช้ความรุนแรงตอบสนอง พวกเขาอาจถูกกดทับจนไม่มีพื้นที่ทางสังคมในสังคมโรงเรียนปกติ เมื่อบุคคลเหล่านั้นได้รับอำนาจมา ก็จะนำมาสู่การมาระบายออกในพื้นที่ที่เกื้อหนุนให้สามารถแสดงออกด้วยวิธีที่คล้ายคลึงกันกับที่โดนกระทำมา เช่น การใช้แรงงานผู้อื่น ใช้คำพูดดุด่าเสียดสี และพยายามเล่นบทบาทเป็นผู้มีความรู้สอนปรัชญาชีวิตแก่รุ่นน้องเพื่อชดเชยบาดแผลในใจที่ถูกกระทำมา
ค่านิยมการบูชาวัตถุ อาจประกอบกับความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีที่มาจากศาสนา ในไทยไม่ใกล้ไม่ไกลก็คงจะเป็นแนวคิดของศาสนาพุทธ ซึ่งแน่นอนว่าศาสนาพุทธโดยเนื้อแท้ก็ไม่ได้มีคำสอนให้เคารพบูชาวัตถุ ดังนั้นก็คงจะเป็นความเชื่อเรื่องภูติผีกับศาสนาพราหมณ์ ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งพอสมควรในการผูกเอาความศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาท้องถิ่นกับสิ่งของที่นำมาจากวัฒนธรรมต่างชาติ ซึ่งบางอย่างอาจจะมีพื้นเพมาจากศาสนาคริสต์ด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็น เกียร์ในระบบโซตัส หรือ เครื่องดนตรีในกรณีของชมรมดังกล่าว หลายคนคงปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ แต่เกี่ยวกับคุณค่าทางจิตใจและการดูแลรักษาสิ่งของ เช่น จะมีการลงโทษเมื่อทำเครื่องดนตรีกระทบเสียงดัง หรือ ตกหล่น แต่ดูจากพฤติการณ์แล้วนั้น ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นการกระทำที่เชิดชูคุณค่าวัตถุเหล่านั้นเสมือนเป็นวัตถุยึดเหนี่ยวจิตใจก็เป็นเหมือนลัทธิทางศาสนาแบบหนึ่ง ถึงขนาดมีวาทกรรม “เครื่องดนตรีสำคัญกว่าชีวิต” ผู้สร้างวาทกรรมก็คงเห็นว่าชีวิตมนุษย์ด้อยค่ากว่าวัตถุ ซึ่งแนวคิดแบบนี้เป็นมรดกตกทอดจากลัทธิบูชาภูติผีในสมัยโบราณ มองมนุษย์เป็นเพียงเครื่องมือในการขับเคลื่อนกิจกรรมหรือเป็นเครื่องสังเวยในพิธีบูชายัญ (แม้จะไม่ถึงขั้นนั้นก็ตาม) กระแสอนุรักษ์นิยมในสังคมไทย สังคมไทยมักจะเชิดชูสิ่งที่เป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ในกรณีชมรมนี้ผู้สร้างโซตัสที่เป็นศิษย์เก่ามักจะโอ้อวดถึงประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในอดีตของชมรมและความสำเร็จในชีวิตของตน (ในเชิงอัตวิสัยของพวกเขา) ที่เกิดจากการปลูกฝังโดยระบบโซตัส เป็นการโฆษณาชวนเชื่อถึงความดีงามของระบบ เพื่อให้ระบบได้สืบทอดต่อไป กระแสอนุรักษ์นิยมในสังคมปลูกฝังให้ผู้คนเชิดชูสิ่งที่เก่าแก่ปฏิบัติต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยมักอ้างว่า หากไม่ดีคงไม่สืบทอดมานานถึงขนาดนี้ และไม่มีความจำเป็นจะต้องออกมาตั้งคำถามกับสิ่ง ๆ เดิม เพราะคนตั้งคำถามจะกลายเป็นคนที่ปรับตัวเข้าสังคมไม่ได้เอง
ทั้งหมดเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้โซตัสเกิดและสามารถดำรงอยู่ได้ในทั้งในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยม และจะคงอยู่อย่างแข็งแรงหากหลายคนสยบยอมต่อระบบและสมาทานวาทกรรม “ครอบครัว” “ประเพณีสืบทอด” ไปใช้ พร้อมทั้งอวดอ้างถึงลักษณะความพิเศษของคนกลุ่มตนที่คนกลุ่มอื่นไม่มี และผลักดันผู้ที่ไม่เห็นด้วยไปสู่ชายขอบและตีตราว่าเป็นผู้ที่เข้าสังคมไม่ได้หรือเป็นผู้ทรยศ ผู้สร้างโซตัสมักจะสร้างสถานการณ์และตัวละครตัวร้ายขึ้นเพื่อโยนความผิดใดความผิดหนึ่งกับผู้สั่นคลอนระบบ (หรือ สร้างเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจให้รุ่นน้องพุ่งความสนใจไปที่สิ่ง ๆ หนึ่งแทนการกระทำที่ละเมิดสิทธิของตน) หรือ ทำการเชือดไก่ให้ลิงดูผ่านการลงโทษหรือประณามใครสักคนเพื่อไม่ให้ผู้เป็นรุ่นน้องขัดขืนคำสั่งตน และเสนอทางผลักดันผู้พยายามวิพากษ์วิจารณ์ให้ออกจากระบบไปโดยวาทกรรมสุดคลาสสิค “ไม่ชอบก็ออกไปไม่มีใครบังคับ” เพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และยังผลักดันให้เรื่องเกี่ยวกับโซตัสต้องเป็นปัญหาภายในที่คนภายนอกไม่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนขอแสดงเหตุผลคัดค้านความเห็นดังกล่าวและขอแสดงถึงเหตุผลหักล้างทัศนคติของบรรดารุ่นพี่ที่กล่าวมา
1.โซตัสเป็นประเด็นในระดับสังคม ไม่ใช่เรื่องภายในอย่างเดียวและเป็นสิทธิโดยชอบธรรมของผู้ที่ไม่เห็นด้วยที่จะออกมาเปิดโปงเรื่องดังกล่าวกับสังคม เมื่อองค์กรนั้นเป็นองค์กรทางสังคม เรื่องในองค์กรนั้นก็ย่อมเป็นเรื่องของสังคม ระบบโซตัสเกิดจากค่านิยมของสังคมในอดีต การจะลบล้างโซตัสก็จะต้องกระทำผ่านการรับรู้ของสังคม เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องใหม่แทนค่านิยมในระบบโซตัสแก่สังคมด้วย การจะปฏิรูปสังคมใดไม่มีความจำเป็นจะต้องถอนตัวออกจากสังคมนั้น ทุกคนมีสิทธิที่จะเสนอและเรียกร้องเพื่อพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ของทุกคนในสังคมนั้น ๆ การขับไล่จึงเป็นเพียงการเบี่ยงประเด็นของกลุ่มผู้ไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
2.อายุย่อมไม่ใช่เครื่องบ่งชี้อำนาจ หรือบ่งบอกคุณค่าในตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จากถ้อยคำในคำปฏิญาณ “เชื่อฟังพี่ ดูแลน้อง ปกป้องระบบอาวุโส” ไม่มีเหตุผลที่เป็นตรรกะที่จะมาสนับสนุนว่าคนอายุมากกว่าจะต้องมีอำนาจมากกว่าหรือมีคุณลักษณะที่ดีกว่าคนมีอายุน้อยกว่า อายุไม่ใช่สิ่งที่เลือกได้แต่กำเนิด สิ่งที่เลือกไม่ได้หากจะนำมามาวัดคุณค่าในเรื่องใดย่อมเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ระบบอาวุโสเป็นระบบที่ใช้วัดคุณค่าของคนได้จริงหรือ? หรือเป็นแค่ประเพณีเก่าที่บางคนอ้างเพื่อนำไปใช้ในการกดขี่และสร้างความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ระบบนี้นั้นควรค่าแก่การถูก “ปกป้อง” จริงหรือ?
3.ความสัมพันธ์แบบครอบครัว(ในแบบสมมติ)ไม่ได้มีเพียงแต่รูปแบบเชิงอำนาจที่ใครคนหนึ่งมาอยู่เหนือกว่าใครอีกคนหนึ่ง ความรักไม่ใช่ข้ออ้างที่จะมาอ้างเพื่อกดขี่ผู้อื่นหรือยินยอมให้ผู้อื่นกดขี่ ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่าเทียมกันได้ และทุกคนก็สามารถมีเสรีภาพในการทำอะไรที่ไม่เดือดร้อนผู้อื่นได้
4.ทุกคนมีคุณค่าในความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นทางเศรษฐกิจชนชั้นใดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเป็นคนชนชั้นสูงจึงจะได้รับการยกเว้นในกิจกรรมหนึ่ง แต่ทุกคนมีสิทธิที่จะปฏิเสธหรือเลือกที่จะทำกิจกรรมใดก็ตามภายใต้การตัดสินใจของตนเอง โดยกิจกรรมนั้นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่นหรือตนเอง
5.ไม่มีวัตถุใดจะมีความสำคัญเท่ากับชีวิตมนุษย์ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปลงโทษใครเนื่องจากทำเครื่องดนตรีกระทบวัตถุอื่นเสียงดัง อย่าลืมว่าเครื่องดนตรีถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกเพื่ออะไร จุดประสงค์ของการมีเครื่องดนตรีคือ การสร้างความสุนทรี เป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เมื่อเครื่องดนตรีเป็นเครื่องช่วยสร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์ เหตุใดจึงต้องให้มนุษย์เสียความสุขเพราะแม้แต่อุบัติเหตุเพียงเล็กน้อยที่เกิดกับเครื่องดนตรี การลงโทษเป็นการสร้างจิตสำนึกให้รักเครื่องดนตรีหรือทำให้เสียสติคลั่งในลัทธิบูชาวัตถุกันแน่
6.ประเพณีย่อมเป็นสิ่งที่สามารถถูกตั้งคำถามและเปลี่ยนแปลงได้ เมื่อเวลาเปลี่ยนไปและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยน หรือประเพณีนั้นมันขัดต่อหลักศีลธรรม คุณค่าความดีงามสากล ทุกอย่างต้องมีการปรับตัวเพื่อให้ทันสมัยไม่ล้าหลัง หากประเพณีเปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เราคงต้องกลับไปอยู่ในระบบไพร่ ระบบทาส หรือ ทำอะไรที่สืบทอดมาในสมัยโบราณตามวิถีเดิม
ระบบโซตัสเป็นบ่อเกิดของระบอบอำนาจนิยม เป็นการปลูกฝังให้คนยอมรับในความไม่เท่าเทียมของคนในสังคม การปลูกฝังระบบโซตัสต่อไปเรื่อย ๆ ย่อมเป็นการปลูกฝังคุณค่าของระบอบเผด็จการ ตอนนี้โซตัสแพร่ระบาดไวและน่ากลัวกว่าที่คิด ไม่เพียงแต่ในมหาวิทยาลัยที่มี แต่ยังเริ่มพบในโรงเรียนมัธยมแล้วด้วย ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะเลิกให้คุณค่ากับระบบแบบนี้ ทุกคนสามารถช่วยกันด้วยกำจัดปัจจัยที่ก่อให้เกิดระบบโซตัส แล้วสร้างความเข้าใจในหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่คนในสังคม หยุดยั่งความบ้าคลั่งของระบบที่ตอนนี้ได้เริ่มแพร่ระบาดไปสู่ในระดับโรงเรียนแล้ว
อ้างอิง
[1] https://www.voicetv.co.th/read/69339
แสดงความคิดเห็น