Posted: 10 Dec 2018 09:04 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 00:04
พีร์ พงศ์พิพัฒนพันธุ์
ผมมีโอกาสออกไปทัวร์ สปป.ลาวที่ไม่ใช่เวียงจันทน์ครั้งแรกในชีวิต เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผ่าน ด่านห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน แน่นอนว่าคณะของเราเดินทางไปกันเองแบบนักเดินทางทั่วไป คือ ไม่ประสานหน่วยงานของทางการหน่วยงานใดๆ เป็นพิเศษทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว กระนั้นการเดินทางรูปแบบดังกล่าว กลับมีคุณูปการต่อการเปิดโลกทัศน์ จนยากจะลืมเลือน ดังเมื่ออดีตหลายปีก่อนหน้านี้ที่คณะสื่อมวลชนกลุ่มของผมเคยเข้าไปทำงาน ยังประเทศพม่า ผ่านด่านสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
สิ่งที่เห็นได้ชัดสุดในฝั่งไทยไล่ตั้งแต่พื้นที่ อ.ทุ่งช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คือ การคมนาคม ถนนที่ดิ่งตรงไปยังด่านห้วยโก๋นกำลังถูกขยายออกเป็นเลนคู่ 4 เลน ขณะที่ทางฝังสปป.ลาว ได้แก่ เมืองเงิน แขวงไชยะบุรี นั้น ถนนยังเป็น 2 เลน คือเลนรถวิ่งสวนไปมาอยู่
เข้าใจได้ถึงความไม่เท่าเทียมและข้อจำกัดของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของทั้ง 2 ประเทศ เทียบแล้ว สปป.ลาวน่าจะมีข้อจำกัดมากกว่าไทยทั้งด้านพื้นที่ (ที่มีที่ราบน้อยกว่าไทย) และงบประมาณ ความแตกต่างเหล่านี้กำลังสื่อให้เห็นว่า ไทยเป็นต่อลาวในแง่ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ไทยมีมาก่อน ที่เหมือนกันคือ ทั้ง 2 ประเทศ ต่างได้รับเงินอุดหนุนจากองค์กรการเงินระหว่างเทศ เช่น เอดีบี (ธนาคารพัฒนาเอเชีย) และรูปแบบการให้การสนับสนุนแบบเดี่ยวๆ เช่น รัฐบาลจีนให้เงินรัฐบาลสปป.ลาวสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ดังกรณีจีนให้เงินรัฐบาลลาวสร้างสะพานข้าม แม่น้ำโขง ตรงปากแบ่ง (โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมปากห้วยแคน-ปากแบ่ง ทางการจีนก่อสร้างให้เพื่อเชื่อมแขวง 2 แขวง ซึ่งสะพานแห่งนี้เชื่อมถนนระหว่างแขวงอุดมไชย แขวงไชยะบุรี แขวงหลวงน้ำทา และห่างจากชายแดน สปป.ลาว-จีน ประมาณ 240 กิโลเมตร) ส่วนงบของฝ่ายไทยเข้าใจว่าเป็นแค่ระดับงบพัฒนาจังหวัด (น่าน)
ประเด็นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจของ 2 ฝั่งประเทศ ผ่านทั้งตัวสินค้าและการท่องเที่ยว ไม่ว่าจังหวัดน่านจพถูกพิจารณาให้อยู่ในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษหรือไม่ น่านน่าก็น่าจะเป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยว (ขณะเชียงใหม่เป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยวของภาคเหนือ) เพราะในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทะยอยเดินทางจากส่วนต่างๆ ของไทยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ถ้าจะให้คาดเดา รายได้จากการท่องเที่ยวของน่านน่าจะเป็นรายได้หลักของจังหวัด ขณะที่การค้าผ่านแดนไทยลาวคงมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นทุกขณะ
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของจีน เชื่อมเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน- เวียงจันทน์ สปป.ลาว จีนเลือกใช้เส้นทางผ่านแขวงอุดมไชยสู่แม่น้ำโขง ระยะทางประมาณ 64 กิโลเมตร ข้ามแม่น้ำโขงไปสร้างสถานีรถไฟไชยะบุรีที่บ้านโคกแอกซึ่งห่างจากเมืองหงสาเพียง 40 กิโลเมตร
เส้นทางรถไฟสายนี้ จีนจะใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าลงมาและขนส่งทรัพยากรกลับไปยังจีนอีกด้วย โดยเฉพาะเถ้าจากการเผาไหม้ลิกไนต์จากโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนท์เมืองหงสา ซึ่งจะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ไทย 80 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองหงสาให้เติบโตขึ้น เวลานี้จีนยังเข้าไปปลูกพืชผลทางการเกษตรใน สปป.ลาวจำนวนมาก เมื่อได้ผลผลิตก็ต้องขนกลับผ่านเส้นทางสายนี้ด้วย ดังนั้นในอนาคตแขวงอุดมไชยจะกลายเป็นทางแยกเชื่อมไทย-จีน และไทย-เดียนเบียนฟู (เวียดนาม)ที่มีระยะทางห่างจากอุดมไชยประมาณ 200 กิโลเมตร
การผลักดันให้ จ.น่านเป็นหัวเมืองหลักทางด้านเศรษฐกิจ ฝ่ายหัวเมืองเหนือฟากตะวันออกจึงน่าที่จะต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ระดับท้องถิ่น และระดับประชาชนทั้งสองประเทศ อย่างน้อยก็ในระดับท้องถิ่น Senior officers ของทั้งสองประเทศควรได้พบปะแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแผนการพัฒนาท้องถิ่นของทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายปกครองและความมั่นคง
น่าที่จะมีคณะกรรมการร่วมเพื่อขจัดปัญหาหรืออุปสรรคด้านการค้า ที่สำคัญคือการสร้างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยงเชิงวัฒนธรรมและธรรมชาติ เพราะในภูมิภาคหรือท้องถิ่นแห่งนี้ ยังขาดการจัดการในเรื่องการท่องเที่ยวทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกน้อย รวมถึงนักท่องเที่ยวจีนจากยูนนาน ที่ยังเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าวน้อยอยู่
งานในส่วนของฝ่ายปกครองและความมั่นคงควรเป็นไปในแนวทางกระชับมิตร เนื่องจากภาคเอกชนหรือภาคธุรกิจเดินหน้าไปก่อนแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นายอำเภอ สองสามอำเภอ ที่อยู่ในบริเวณชายแดนไทย-ลาว น่าที่จะต้องตื่นตัวเป็นพิเศษ เช่น อ. ทุ่งช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.เชียงกลาง อ. ปัว หรือ อ.บ่อเกลือ เป็นต้น น่าจะมีคณะกรรมการร่วมไทย-ลาว ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะเป็นการสานฝันให้แผน AEC ของประชาติอาเซียนเป็นจริงได้เร็วและมากยิ่งขึ้น
ดูไปแล้วการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในฝั่งไทย อย่างเช่น ถนน ไม่น่าจะเป็นปัญหามากนัก ปัญหาคือความร่วมมือเชิงการลงทุนของนักลงทุนทั้งสองประเทศ สามประเทศรวมจีน ในแง่การท่องเที่ยวนั้นกล่าวได้ว่าพื้นที่น่านเมืองเงิน เมืองหงสา และยูนนานของจีนเป็นลำเลทองของการท่งเที่ยวเชิงวัฒนธรรมก็ว่าได้ สายน้ำไม่เคยไหลกลับ แต่สายน้ำในดินแดนแห่งนี้ก็ไม่เคยหลับเช่นกัน รอการมาเยือนของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ผู้สนใจวัฒนธรรมและธรรมชาติที่ยังค่อนข้างยังเดิมแท้อยู่
ในช่วงหลังจากการเลือกตั้งใหญ่ของไทย ถ้าเราได้ประชาธิปไตยคืนมา ผมหวังว่าผู้นำพลเรือนและนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์จะช่วยกันพัฒนาปรับปรุงให้เหลี่ยมเศรษฐกิจชายแดนก้าวรุดหน้าไปมากขึ้น ด่านห้วยโก๋นนั้น แม้จะเป็นด่านถาวรแล้วก็จริง หากยังขาดการบริหารจัดการแบบมืออาชีพ ระเบียบปฏิบัติทางด้าน ตม.และศุลกากรบางประการควรได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของท้องถิ่น
โดยเหตุที่เมืองน่านเอง มีสนามบินรองรับอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากในการยกระดับการทำมาค้าขายระหว่างสองหรือสามประเทศ คือ ไทย –ลาวหรือ ไทย-ลาว-จีน เลย หากว่าฝ่ายรัฐไทยจะใส่ใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าที่แล้วๆ มา หลายเมืองในลาว ในจีนต่างมีสนามบินของตนอยู่แล้วด้วยซ้ำ
ฝ่ายเอกชนนั้นเดินหน้าไปก่อนแล้ว เหลือเพียงฝ่ายรัฐไทยที่จะต้องก้าวให้ทันฝ่ายเอกชน ให้สมกับคำว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หรือก้าวไปให้ถึงความเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งผมคิดว่านายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานหอการค้าจังหวัดน่าน คงพร้อมสำหรับการผูกดีลระหว่างประเทศครั้งนี้ โดยมีฝ่ายรัฐไทย รัฐลาวและรัฐจีนเป็นพยาน วัตถุประสงค์ก็เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจทำให้ประชาชนของทุกประเทศในเขตการค้าแห่งนี้ลืมตาอ้าปากได้ ก้าวไปพร้อมกับโลก 4.0
ในส่วนของรัฐไทย นายวรกิตติ ศรีทิพากร ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านควรเร่งกระชับอำนาจปกครองเพื่อผลักดันเมืองน่านให้เข้าไปอยู่ในระบบเขตเศรษฐกิจพิเศษตามที่คาดหวังในฐานะที่ท่านเป็นพ่อเมืองและสามารถเป็นคนกลางในการดึงภาคเอกชนลงมาร่วมหารือด้วย
ขณะเดียวกัน ในส่วนของด่านตม.ที่ห้วยโก๋นเองก็ต้องปรับปรุงการให้บริการประชาชน นักธุรกิจและนักท่องเที่ยวให้เป็นมืออาชีพและเป็นระบบมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการใช้ความทรงจำ จดจำหน้าคนเข้าออก แบบโบราณที่ยังใช้กันอยู่ในขณะนี้
แสดงความคิดเห็น