Posted: 10 Dec 2018 09:21 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 00:21


สันทัด อย่างเสรี

นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศเรา ในยุค คสช. ที่เมื่อเร็วๆ นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งเป็นมือ-ไม้ ในการออกกฎหมายให้กับรัฐบาลเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ ออกมาแถลงผลงาน (อย่างภาคภูมิใจ ) ว่า ภายใน 4 ปีนี้ สนช. ได้ออกกฎหมายมาแล้วกว่า 300 ฉบับ ซึ่งเมื่อเทียบกับในยุคของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสูงถึง 3 เท่า

แต่อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายที่มากมายเช่นนี้ โดยไม่มีการพิจารณาอย่างรอบด้าน ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในภายหลัง เช่น พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 ที่กำหนดให้ข้าราชการต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ปรากฏว่าข้าราชการที่อยู่ในข่ายที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินตามกฎหมายดังกล่าว ลาออกกันเป็นแถว จนรองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาแถลงรับปากแก้ไขกฎหมายยกเว้นข้าราชการบางกลุ่มให้ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

กรณีตามข่าว การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับ การไม่ให้สิทธิ “ คนที่หนีคดีอาญา ” ใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาล ก็เช่นกัน (สนช. มีมติ 149 สียง ให้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวในวาระที่ 3) จะก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายในภายหลังเช่นเดียวกับ พ.ร.บ. ป.ป.ช. 2561 หรือไม่ โดย สนช.ให้เหตุผลเกี่ยวกับการแก้ไขว่า คนที่หนีคดีอาญาไปต่างประเทศ (ลองคิดกันดูนะครับว่ามีใครบ้าง) แสดงว่าคุณไม่เคารพในกระบวนการยุติธรรม คุณย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองเช่นกัน (แบบว่าแฟร์ๆ ไง)

ซึ่งในระบบการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายไทย บุคคลที่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 28 บัญญัติว่า บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล

(1) พนักงานอัยการ
(2) ผู้เสียหาย

ดังนั้น บุคคลที่สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาได้ จึงมีเพียง 2 คน ได้แก่ พนักงานอัยการและผู้เสียหายซึ่งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย ทั้งสองฝ่ายต่างก็สามารถเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ทั้งคดีอาญาแผ่นดินและคดีความผิดต่อส่วนตัว (คดีอาญาแผ่นดิน คือ คดีความที่มีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวม โดยปกติรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งรัฐสามารถดำเนินคดีได้เอง และเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัว คือ คดีที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดนั้นโดยตรง เป็นความผิดที่รัฐไม่อาจดำเนินคดีได้เองเว้นแต่ผู้เสียหายจะได้ร้องทุกข์ไว้ และเป็นความผิดที่ ผู้เสียหายจะยอมความเมื่อไหร่ก็ได้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด )

สำหรับขั้นตอนการฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ กฎหมายบังคับว่า พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ต่อเมื่อ ความผิดนั้น ต้องมีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนก่อน

คดีอาญาแผ่นดิน พนักงานสอบสวนสามารถทำการสอบสวนได้เอง การฟ้องคดีของพนักงานอัยการจึงไม่มีปัญหา

ส่วนคดีความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจทำการสอบสวนได้ต้องมีการร้องทุกข์จากผู้เสียหายก่อน

ดังนั้น จึงเท่ากับว่า พนักงานอัยการจะสามารถฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวได้ จะต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวนก่อน เพื่อให้พนักงานสอบสวนจะได้มีอำนาจในการสอบสวนแล้ว ส่งสำนวนเรื่องให้พนักงานอัยการทำการฟ้องคดีต่อไป ในทางกลับกัน หากในคดีความผิดต่อส่วนตัว ไม่มีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจทำการสอบสวน พนักงานอัยการก็จะไม่มีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาที่เป็นความผิดต่อส่วนตัวนั้น

โดยสรุปคือ พนักงานอัยการจะสามารถฟ้องคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวได้ต่อเมื่อผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ในความผิดนั้นต่อพนักงานสอบสวนแล้ว กลับมา แล้วการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ การไม่ให้สิทธิ “ คนที่หนีคดีอาญา ” ใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาล จะเกิดปัญหาการบังคับใช้ อย่างไร

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า พนักงานอัยการจะฟ้องคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวได้ ต่อเมื่อมีคำร้องของผู้เสียหายต่อพนักงานสอบสวนก่อน ดังนั้น หากว่ากรณี การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ การไม่ให้สิทธิ “ คนที่หนีคดีอาญา ” ใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้ประกาศใช้แล้ว ผลก็คือว่า ผู้เสียหายที่เป็น คนที่หนีคดีอาญา ก็จะไม่สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาลเกี่ยวกับบุคคลที่กระทำผิดอาญาต่อเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาแผ่นดินหรือคดีความผิดต่อส่วนตัว ส่วนพนักงานอัยการการก็จะสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้เพียงคดีที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินเท่านั้น สำหรับความผิดต่อส่วนตัวพนักงานอัยการไม่อาจดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดได้ เพราะเหตุว่าผู้เสียหายหรือผู้หลบหนีคดี ไม่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้

อ้าว!!! ซวยละเขียนมาซะยาวยังไม่เห็นเลยว่าจะเป็นปัญหาอย่างไร

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ หากว่าการเวลาผ่านไป 4-5 ปี ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เป็นเหตุให้ผู้มีอำนาจคนหนึ่ง ถูกดำเนินคดีและเป็นเหตุให้ต้องหลบหนีคดีออกไปนอกประเทศ สมมุติว่า ผู้มีอำนาจคนนั้น (ตอนนี้กลายเป็นผู้เคยมีอำนาจแล้ว) มีเงินฝากในบัญชีธนาคารเป็นชื่อของตนอยู่ หนึ่งร้อยล้านบาท แต่ยังไม่สามารถถ่ายเทไปยังต่างประเทศได้ทัน แล้วถูกเจ้าหน้าที่ธนาคารยักยอกไป ปัญหาคือ ความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เคยมีอำนาจคนนั้นเป็นผู้เสียหายและเป็นคนหลบหนีคดีอาญา ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ ส่วนพนักงานอัยการก็ไม่สามารถฟ้องเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้กระทำผิดได้ เพราะไม่มีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ส่วนเจ้าหน้าที่ธนาคารผู้กระทำผิดฐานยักยอกก็ได้รับเงินหนึ่งร้อยล้านบาทไปสบายๆ เพราะไม่มีใครสามารถเอาผิดได้

หรือหากเจ้าหน้าที่ธนาคารคนนั้นได้เงินไปแล้ว แต่ยังไม่พอใจเนื่องจากโกรธแค้น ที่ผู้เคยมีอำนาจคนนั้นบริหารประเทศไม่ได้เรื่อง เจ้าหน้าที่ธนาคารคนนั้นจึงมาด่าผู้เคยมีอำนาจคนนั้นต่อหน้าครอบครัวของผู้เคยมีอำนาจ ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบเช้าจรดค่ำ หรือด่าออกสื่อทุกวัน

การด่าที่ทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คำตอบที่ได้ก็เช่นเดียวกันครับคือ ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ธนาคารคนผู้กระผิดได้

การกระทำเช่นนี้ก็น่าจะสะใจนะครับสำหรับใครที่โกรธแค้นผู้เคยมีอำนาจ แต่มันคงไม่ใช่เรื่องสนุกนัก หากว่าเราต้องตกเป็นบุคคลหลบหนีคดีอาญา หรือเป็นบุคคลในครอบครัวของคนหนีคดีอาญา

เห็นหรือยังครับ การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ การไม่ให้สิทธิ “ คนที่หนีคดีอาญา ” ใช้สิทธิฟ้องคดีอาญาต่อศาล จะก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ อย่างไร

ไหนๆ ก็ตั้งชื่อเรื่องว่า วิธีเตรียมตัว ยักยอกเงินจากผู้เคยมีอำนาจ โดยที่ไม่มีใครเอาผิดได้ แล้ว ขอแนะนำให้ทุกคนเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้แล้ว ทำดังต่อไปนี้นะครับ

1. สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือรับดูแลทรัพย์สินของผู้เคยมีอำนาจ
2. ทำให้ผู้เคยมีอำนาจเป็นผู้หลบหนีคดีอาญาให้ได้

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มีอำนาจในการบัญญัติกฎหมายจะนำกฎหมายนี้กลับไปพิจารณาอย่างรอบด้านอีกครั้งก่อนที่จะประกาศใช้ หรือจะไม่ประกาศใช้เลยก็ได้นะครับ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.