Posted: 02 Dec 2018 02:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-02 17:24


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แนะใช้ 'คูปองการศึกษา' คนที่มีฐานะไม่ดีแต่มีศักยภาพสามารถกู้เงินมาลงทุนการศึกษาได้ เพิ่มสวัสดิการการศึกษาเด็กในครอบครัวยากจนโดยให้ 'แต้มต่อ' ด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) ให้เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน


2 ธ.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นถึงกระแสคัดค้านและสนับสนุนการนำหุ้นของสถาบันการศึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยว่าต้องมีการพิจารณาถึงบทบาทของกลไกตลาดและบทบาทของรัฐที่เหมาะสมในกิจการทางการศึกษาว่าควรจะเป็นอย่างไรจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยรวมและสนับสนุนการระดมทุนเพื่อสนองตอบการขยายตัวของกิจการทางการศึกษาที่เป็นไปตามภาวะของตลาด การเข้าตลาดหุ้นทำให้เกิดแรงกดดันที่บริษัทหรือนิติบุคคลที่บริหารโรงเรียนนานาชาตินั้นต้องแสวงหากำไรเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นทำให้คุณภาพการศึกษาอาจด้อยคุณภาพลงหรือผิดปรัชญาและวัตถุประสงค์ในการศึกษาได้ การให้สิทธิพิเศษทางภาษีหรือมาตรการสนับสนุนต่างๆต่อสถานศึกษาเอกชนเพื่อให้มีการลงทุนทางการศึกษาเพื่อตอบสนองต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจโดยรัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนเองทั้งหมด ในหลายกรณีการลงทุนการศึกษาโดยเอกชนมีประสิทธิภาพสูงกว่าการลงทุนการศึกษาโดยรัฐ ขณะเดียวกันเอกชนก็มีแรงจูงใจคือผลกำไรแต่ต้องไม่เป็นกำไรเกินควรและต้องถูกกำกับโดยกฎหมายและจริยธรรม กรณีการนำสถานศึกษาเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นต้องมีการจำกัดสัดส่วนของกำไรที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อให้มีการนำกำไรส่วนใหญ่กลับไปลงปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น และในกรณีขายหุ้น ผู้ถือหุ้นควรต้องเสียภาษีกำไร (Capital Gains) เนื่องจากกิจการการศึกษาได้สิทธิพิเศษทางภาษีอยู่แล้ว หรือหากมีการนำสถานศึกษาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รัฐอาจต้องทบทวนยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีของสถานศึกษาดังกล่าว

ทั้งนี้การนำสถาบันการศึกษาเข้าตลาดหุ้นไม่มีข้อห้ามในกฎหมายและสามารถทำได้ หากกรณีบริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติประสบความสำเร็จดีและได้รับการตอบรับจากนักลงทุน อาจทำให้มี 'โรงเรียน' และ 'สถานศึกษา' อีกจำนวนหนึ่งเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติมในอนาคต ส่งผลบวกต่อการพัฒนาตลาดทุนและเพิ่มทางเลือกของนักลงทุนแต่ในอีกด้านหนึ่งต้องมาพิจารณาด้วยว่า จะส่งผลกระทบต่อปรัชญาพื้นฐานของจัดการการศึกษา บทบาทของรัฐและกลไกตลาดในการจัดการการศึกษาควรจะเป็นเช่นใด จะส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษาอย่างไรและต้องไม่ทำให้เกิดการค้ากำไรเกินควรในกิจการการศึกษากลายเป็นธุรกิจการศึกษา กลายเป็นเอาธุรกิจมานำคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาคนในระยะยาว ไม่เป็นผลดีต่อการสะสมทุนมนุษย์

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา เสนอแนะอีกว่ารัฐต้องส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนให้จัดการการศึกษาระดับอุดมศึกษามากขึ้น มีมาตรการช่วยเหลือสถาบันการศึกษาที่มีปัญหาโดยไม่ถูกกลุ่มทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มทุนจีนเข้ายึดครองกิจการเพราะจะส่งผลกระทบทางสังคมในระยะยาว สนับสนุนให้เกิดการควบรวมกิจการเพื่อลดปัญหาอุปทานส่วนเกิน ลดการกำกับดูแลที่ไม่จำเป็น พัฒนาระบบการเงินอุดมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ลดการชดเชย (Subsidy) ด้านอุปทานสถานศึกษาของรัฐ เพิ่มการช่วยเหลือการเงินด้านอุปสงค์ในรูปของทุนและเงินกู้เพื่อการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาการขยายตัวของสถานการศึกษาภาครัฐที่ไม่มีคุณภาพแล้วก่อให้เกิดปัญหาการเบียดลดกิจการศึกษาภาคเอกชน (Crowding Out) ด้วยการใช้คูปองการศึกษา คนที่มีฐานะไม่ดีแต่มีศักยภาพก็สามารถกู้เงินมาลงทุนการศึกษาได้หรือมีระบบการให้ทุนเพิ่มขึ้นหรือมีระบบคูปองการศึกษา ตนอยากเสนอให้เพิ่มเรื่อง สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักเรียนที่ยากจนหรือการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กในครอบครัวที่ยากจนโดยให้ 'แต้มต่อ' ให้กับเด็กยากจนด้วยมาตรการ CCT (Conditional Cash Transfer) เงินโอนที่มีเงื่อนไขให้เด็กได้เรียน ขณะนี้โอกาสเรียนระดับอุดมศึกษาของเด็กยากจนน้อยมาก น้อยกว่า 5% เปรียบเทียบกับเด็กในครัวเรือนรวย 40-50% ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 25% ผลการศึกษาวิจัยยังพบว่าการลงทุนในเด็ก Investment in Children ครัวเรือนรวยลงทุนในเด็กสูงกว่าครัวเรือนยากจนหลายเท่าตัว 5-10 เท่า

ควรศึกษาผลของระบบการให้ทุนและการให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาต่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาระดับสูงทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียง ควรศึกษาความคุ้มค่าจากการลงทุนทางการศึกษาของภาครัฐโดยพิจารณาทั้งในแง่ผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงินเทียบกับรายจ่ายของรัฐบาลเพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาให้มุ่งสู่การพัฒนากำลังคนในด้านต่างๆ กระทรวงศึกษาธิการนั้นได้รับงบประมาณสูงสุดต่อเนื่องหลายปีแต่ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาของประเทศยังมีคุณภาพไม่ดีนัก จึงต้องใช้งบประมาณมุ่งเน้นคุณภาพการศึกษา ระบบงบประมาณมุ่งสมรรถภาพ เน้นการกระจายอำนาจ มีการจัดการระบบการศึกษาแบบสหกิจศึกษา (Cooperative Education) ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างสถานการศึกษา ภาคเอกชน ภาคการผลิตมากขึ้น

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.