(แฟ้มภาพ)

Posted: 01 Dec 2018 01:52 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-12-01 16:52


เลขาฯ ศาลยุติธรรม รับแจ้งความแกนนำค้านสร้างบ้านพัก เพื่อปกป้องสิทธิผู้พิพากษาถูกละเมิด นำภาพ-ชื่อสกุล ติดประกาศเผยแพร่ ชี้เป็นการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ขณะที่บ้านพัก ถือเป็นบ้านพักของราชการไม่ใช่บ้านพักส่วนตัวของผู้พิพากษา

1 ธ.ค. 2561 ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาฯ นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปิดการอบรมหลักสูตร 'พัฒนาสื่อมวลชนเพื่อการประชาสัมพันธ์ศาลยุติธรรมความรู้ทางกฎหมาย' นายสารวุธ ตอบคำถามสื่อถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 แห่งใหม่ พร้อมอาคารที่พักอาศัยของผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 กับข้าราชการประจำศาล ทดแทนอาคารเดิมที่จะย้ายจากพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ ป่าเชิงดอยสุเทพ ต.ดอนแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาพื้นที่การก่อสร้างกระทั่งมีการเรียกว่าบ้านป่าแหว่ง ว่า หลังคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติเห็นชอบให้ย้ายอาคารที่ทำการและอาคารที่พักอาศัยฯโดยขอใช้ที่ดินของศูนย์วิจัยพืชสวนเชียงราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ แล้ว ขณะนี้รอเพียงการแจ้งอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของกระทรวงเกษตรฯ และการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างที่ทำการและที่พักอาศัยใหม่ในพื้นที่ จ.เชียงราย

ส่วนการแจ้งความกลับแกนนำผู้คัดค้านที่ต้องการให้รื้อถอนอาคารที่พักของผู้พิพากษาใน จ.เชียงใหม่ เชิงดอยสุเทพ หรือที่เรียกกันว่า 'บ้านป่าแหว่ง' ได้นำภาพและรายชื่อของผู้พิพากษาในพื้นที่ดังกล่าวติดป้ายประกาศเผยแพร่ว่ากรณีนำชื่อผู้พิพากษาไปติดในที่สาธารณะในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เห็นว่าการกระทำดังกล่าวผิดต่อกฎหมายไม่สามารถทำได้เพราะผู้พิพากษาที่เข้าไปอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น เป็นการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ขณะที่บ้านพักถือเป็นบ้านพักของราชการไม่ใช่บ้านพักส่วนตัวของผู้พิพากษา การเข้าไปอยู่ในเขตบ้านพักสร้างโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ดังนั้นหากบุคคลใดไปคุกคาม ละเมิดสิทธิของผู้พิพากษา สำนักงานศาลยุติธรรมมีหน้าที่ต้องคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของผู้พิพากษาเหล่านี้ ขณะนี้มีผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 4,471 คน และบุคคลากรในศาลยุติธรรมทั่วประเทศ 12,974 คน โดยผู้พิพากษาเหล่านี้ต้องดูแลเพราะมีหน้าที่พิพากษาชี้ขาดคดี สำนักงานศาลยุติธรรมจึงมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัย ถ้าผู้พิพากษาอยู่ภายใต้ความหวาดกลัว กดดัน ประชาชนและสังคมก็จะได้รับผลกระทบโดยตรง หรือถ้าตัดสินคดีด้วยความกลัว ขาดอิสระ ความเป็นกลาง ที่สุดผลกระทบก็จะตกอยู่ที่ประชาชน ที่ผ่านมาสำนักงานศาลยุติธรรม ทำตามกฎหมายทุกกรณี เมื่อมีการคุกคามลักษณะเช่นนี้ เราก็จะดูแลดำเนินการอย่างเด็ดขาดไม่ว่าใครเป็นผู้กระทำก็ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานศาลยุติธรมที่จะดูแล

นายสราวุธ ย้ำว่าผู้พิพากษาอยู่กันโดยถูกต้องทุกอย่าง ถ้าจะให้ย้ายออกจะให้ไปอยู่ที่ไหนต้องจัดหาที่พักให้ ขอย้ำว่าไม่ใช่การไปเที่ยวแต่ไปทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นเป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐที่จะดูแล ทั้งเรื่องที่พักอาศัยและความปลอดภัย และว่าตำรวจสืบทราบกี่รายก็จะดำเนินการตรามกฎหมายทุกราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับข้อหาที่มีการแจ้งดำเนินคดี คือ ข้อหาหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา และกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตอร์ฯ เป็นแกนนำกลุ่มเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนที่ร่วมแสดงความเห็นทั้งนี้ มีรายงานว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีไว้ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และ สน.พหลโยธิน โดยมีการออกหมายเรียกผู้เกี่ยวข้องมาให้ปากคำแล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2561 Thai PBS รายงานว่านายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ชี้แจงหลังถูกตำรวจ สภ.เมืองเชียงใหม่ กว่า 10 นาย นำหมายค้นบุกเข้าตรวจค้นบ้านพักเมื่อช่วงก่อน 12.00 น. พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คไปตรวจสอบ โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา

นายธีระศักดิ์ ระบุว่าการเข้าตรวจค้นครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ตำรวจได้จับกุมแนวร่วมคนหนึ่งที่โพสต์รูปถ่ายป้ายรายชื่อผู้พิพากษา นำไปติดตามจุดต่างๆ ของตัวเมืองเชียงใหม่ เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีความผิดข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และพยายามโยงให้ถึงตัวเอง ทั้งที่เครือข่ายยืนยันมาโดยตลอดว่าไม่เกี่ยวข้องกับการติดป้ายดังกล่าว และพร้อมจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรมหากถูกแจ้งข้อกล่าวหา

นางคำสีดา แป้นไทย แกนนำเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่าการค้นบ้านพักครั้งนี้ถือเป็นการคุกคาม ยืนยันเครือข่ายจะยังเคลื่อนไหวเพื่อให้แก้ปัญหาด้วยการรื้อบ้านพักข้าราชการตุลาการเชียงใหม่ และนำพื้นที่กลับมาฟื้นฟูเป็นป่าสมบูรณ์ และการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมือง

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ยังระบุว่า การตรวจค้นครั้งนี้เป็นความพยายามที่จะแจ้งข้อกล่าวหาเดียวกันกับผู้ที่ถูกจับก่อนหน้านี้ คือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการเคลื่อนไหวของเครือข่ายฯ จะพิจารณาหลังการประชุมต้นเดือนธันวาคมนี้ หากนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน อาจจะต้องออกมาเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.