ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต 

Posted: 16 Dec 2018 12:28 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-16 15:28


คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมีความอ่อนไหวมากขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จึงยังไม่จำเป็นปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน เฝ้าระวัง 10 ธุรกิจที่มีความเสี่ยงเลิกจ้างเพิ่มเติมในปีหน้า

16 ธ.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าหนี้เฉลี่ยครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากการสำรวจของหอการค้าโดยมูลค่าหนี้อยู่ที่ 3.16 แสนบาทต่อครัวเรือน นั้นจะมีอ่อนไหวในเรื่องความสามารถในการผ่อนชำระมากยิ่งขึ้นจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น การก่อหนี้เพื่อซื้อสินทรัพยถาวร (บ้าน รถยนต์) จะชะลอตัวลง การลงทุนเพื่อประกอบกิจการก็อาจชะลอตัวลงด้วยจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ยอดหนี้ครัวเรือนโดยรวมอยู่ที่มากกว่า 12 ล้านล้านบาทอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในอนาคตได้ การทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อลดการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันจะเป็นแก้ปัญหาความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงิน สำหรับประชาชนในระดับฐานรากนั้น ผู้ใช้แรงงานควรได้รับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม นอกจากนี้ควรมีมาตรการพยุงราคาสินค้าเกษตรเพิ่มเติม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงนี้เพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคตและป้องกันปัญหาฟองสบู่น่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่เร็วเกินไป และ อาจซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะลดลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 77% จากระดับ 80% เมื่อ 3-4 ปีก่อน

ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าวอีกว่าแม้นเงินเฟ้อไตรมาสแรกปีหน้าปรับตัวสูงขึ้นอันเป็นผลจากการปรับเพิ่มค่าโดยสารสาธารณะ ราคาพลังงานและกิจกรรมการเลือกตั้งแต่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันหรือปัญหาทางด้านเสถียรภาพ จึงยังคงยืนยันความเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินรอบนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เศรษฐกิจในระดับฐานรากชะลอตัวลงอีก เงินบาทแข็งค่ากระทบต่อภาคส่งออก

ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงปัญหาการเลิกจ้างว่าขณะนี้กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่เพิ่มอัตราชดเชยกรณีถูกเลิกจ้างและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ใช้แรงงาน ช่วยบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจของผู้ถูกเลิกจ้างได้ระดับหนึ่ง ขณะที่ กรณีย้ายสถานประกอบการไปที่อื่น หากลูกจ้างไม่ประสงค์ย้ายตามไป ก็สามารถบอกเลิกสัญญาจ้างและได้สิทธิชดเชยตามอัตราใหม่ เช่น ลูกจ้างทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินชดเชย 400 วัน ปีหน้าจะมีธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตต่ำมาก มีความเสี่ยงสูงและจะมีการเลิกจ้างพนักงานเพิ่มเติมจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้แก่ 1.ธุรกิจอุตสาหกรรมทีวี ทีวีดิจิทัล เคเบิลทีวี สื่อสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ต่างๆ 2.ธุรกิจผลิตและจำหน่ายหรือการให้เช่า CD DVD 3.ธุรกิจอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน 4.สถานศึกษาเอกชน 5.ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิม 6.ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและธุรกิจร้านอินเทอร์เน็ต 7.ธุรกิจหัตถกรรมและเฟอร์นิเจอร์ไม้ 8.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องหนัง 9.เครือข่ายสาขาสถาบันการเงิน และ 10.เครือข่ายห้างสรรพสินค้า

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.