Posted: 16 Dec 2018 12:47 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-16 15:47


วงเสวนาปิดท้ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ห่วงคนไทยไม่ทันโลกดิจิทัล ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตวันละ 8 ชม. ขึ้นไป แต่กลับไม่มีภูมิคุ้มกันให้เท่าทันโลกออนไลน์ ยังมีพฤติกรรมเสี่ยงให้ถูกเจาะข้อมูลได้ง่ายๆ ขณะที่หลักสูตรการศึกษาปรับตัวไม่ทัน แม้มีกลไกและกฎหมายควบคุมเพียบ แต่ทำอย่างไรให้คน “คิด” ก่อนโพสต์และแชร์

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 วันสุดท้ายของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ปิดงานด้วยเวทีสาธารณะ เรื่อง “เรียนรู้ อยู่เป็น ได้เช่นไร ในยุคดิจิทัล?” ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา เสนอผลการศึกษาของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. หรือ ETDA) ในปี 2561 พบประชากรไทยทุกรุ่นมีชั่วโมงการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 8 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน โดยใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียมากที่สุด ยูทูปได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาคือไลน์และเฟสบุ๊ก

สิ่งที่ยังน่าห่วงคือ “ความปลอดภัยในข้อมูลส่วนบุคคล” เพราะทุกช่วงวัยยังมีพฤติกรรมเสี่ยงในโลกออนไลน์ ทั้งการไม่เปลี่ยนรหัสผ่านทุก 3 เดือน การระบุวันเดือนปีเกิดในโลกออนไลน์ การทำธุรกรรมในเว็บธนาคารโดยไม่สังเกต URL การคลิ๊กลิงก์ที่ไม่รู้จัก แชร์โลเคชั่นพิกัดของตนเอง ไม่ลบรหัสผ่านหลังใช้อินเทอร์เน็ตสาธารณะ ไม่ตั้งคำสั่งล็อคหน้าจออัตโนมัติหลังเลิกใช้งาน อัพโหลดบอร์ดดิ้งพาสในโซเชียลมีเดีย ฯลฯ โดยพบว่า Gen Z ที่อายุไม่เกิน 22 ปีเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ส่งต่อข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองมากที่สุด ขณะที่ทุกช่วงวัยมีความตระหนักรู้อันตรายของพฤติกรรมเหล่านี้ต่ำมาก เช่น กรณีการอัพโหลดบอร์ดดิงพาสก่อนขึ้นเครื่อง มีคนรู้ว่าไม่ปลอดภัยเพียงร้อยละ 12

เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า “การใช้โซเชียลมีเดียจำเป็นต้อง ‘คิด’ ให้ดีก่อนจะ รับ-แชร์-โพสต์ ว่าสิ่งนั้นเป็นความจริงไหม มีประโยชน์ต่อตัวเองและผู้อื่นหรือไม่ สำคัญ จำเป็น สร้างแรงบันดาลใจ หรือเป็นอันตรายกับใครหรือไม่ สิ่งที่อยากฝากถึงภาครัฐและหน่วยงานวิชาการต่างๆ คือจะทำ Big Data ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ได้แค่ไหน และอยากเสนอให้สื่อมวลชนนำหลักฐานต่างๆ มาประกอบการเสนอข้อมูล เพื่อลดการใช้ความคิดเห็นลงด้วย”

ด้าน นายธีรวุฒิ ธงภักดิ์ ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) กล่าวว่า ในยุคนี้ ทุกคนคือพลเมืองดิจิตัล ปัจจุบันมีคนในประเทศกว่า 51 ล้านคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้ว ซึ่งประเทศไทยมีการปรับตัวรองรับเรื่องนี้พอสมควร โดยมีแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกลไกของคณะกรรมการขับเคลื่อนระดับชาติ มีหน่วยงานรับผิดชอบคือกระทรวง DE มีงบกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีกฎหมายกำกับดูแลหลายฉบับ และภายในปี 2562 จะมีการขยายโครงข่ายความเร็วสูงผ่านเคเบิลใยแก้วนำแสงในทุกหมู่บ้าน

ธีรวุฒิ กล่าวถึง “หลัก 4 ประการของการอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างเป็นสุข คือ 1.พึงระวังการละเมิดสิทธิของคนอื่น โดยต้องคิดว่า ‘สิทธิโลกเป็นจริงเป็นเช่นไร สิทธิในโลกเสมือนก็เป็นเช่นนั้น’ 2.ต้องมีสติ คิด วิเคราะห์ ประมวลผลก่อนกระทำการทุกอย่าง 3.ระมัดระวังผลกระทบด้านสุขภาพอันเป็นผลจากการใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตมากเกินไป และ 4.เปิดอกรับเทคโนโลยีและปรับตัวตามโลก”

นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่าปัญหาสำคัญในการปกป้องสิทธิผู้บริโภคคือ ทุกวันนี้มีกฎหมายอย่างน้อย 60 ฉบับที่คุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องต่างๆ มีอย่างน้อย 11 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นเมื่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขยับจะทำอะไรก็มักจะติดว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่นๆ กระบวนการจัดการปัญหาจึงมีความสลับซับซ้อนและไม่ทันท่วงที ขณะเดียวกันประชาชนกลับคาดหวังกับ สคบ. ในทุกเรื่อง “สคบ. จึงได้เริ่มขับเคลื่อนการคุ้มครองผู้บริโภคแบบบูรณาการ โดยได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 1 พ.ศ.2561-2564 โดยจะดำเนินการรวบรวมข้อมูลเป็น Big Data เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งสถานการณ์เรื่องร้องเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาของผู้ร้องเรียน ปัญหาของผู้ประกอบการ สถานะทางคดี และองค์ความรู้ทางวิชาการในประเด็นต่างๆเพื่อทุกฝ่ายใช้ประโยชน์ได้”

ผู้แทนเยาวชนบนเวทีเสวนา นายเมธชนนท์ ประจวบลาภ หัวหน้าสำนักการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและสิทธิมนุษยชน สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำคือทำให้เยาวชนเท่าทันโลกดิจิทัลซึ่งจะส่งผลให้คนในครอบครัวได้ประโยชน์ไปด้วย เพราะปัจจุบันเยาวชนคือผู้ที่แนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับผู้ใหญ่ในครอบครัว นอกจากนี้ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ลองผิดลองถูกเพื่อการเรียนรู้ด้วยเช่นกัน เช่น ตนเองก็เคยผิดพลาดแชร์ข่าวปลอมไปครั้งหนึ่ง เมื่อโดนทักท้วงก็ทำให้ระมัดระวังอย่างมากในปัจจุบัน”

นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ พิธีกรชื่อดังในรายการไอที กล่าวถึง ปัญหาสำคัญหนึ่งคือที่หลักสูตรของเยาวชนทุกวันนี้ยังเป็นความเข้าใจในโลกเดิม ขณะที่เยาวชนยุคนี้ก้าวไปไกลแล้ว “สมัยนี้แทนที่จะเน้นให้ท่องจำแบบเดิมควรหันมากระตุ้นความสนใจของเด็กให้ได้เรียนรู้โลกดิจิทัลอย่างเท่าทัน สำหรับผู้ใหญ่ โลกดิจิทัลอาจดูน่าหวาดหวั่นเพราะกำลังทำให้รู้สึกว่าพาเราหลุดจากพื้นที่ปลอดภัยหรือ Safe Zone ที่เคยคุ้นชิน อย่างไรก็ตาม โลกอนาคตนั้น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), Big Data, IoT (internet of things) จะทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ก่อนปิดการประชุม นางสุวรีย์ ใจหาญ ที่ปรึกษาวิชาการพัฒนาสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “รู้เท่าทันสุขภาพ: มุมมองจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” ว่า พม. ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติทุกปีมาตั้งแต่ปี 2551 และได้นำมติสมัชชาสุขภาพฯหลายเรื่องไปขับเคลื่อนร่วมกับภาคีต่างๆ ซึ่งประเด็น Health Literacy หรือความรู้เท่าทันสุขภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของงานในปีนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ครอบคลุมถึงความสามารถของประชาชนในการค้นหา เข้าถึง เข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลสุขภาพได้เพื่อการตัดสินใจด้านสุขภาพอย่างชาญฉลาดด้วย

ส่วนระเบียบวาระที่มีการพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีนี้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พม. ถึง 3 ประเด็น คือ 1.การร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมืองเพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง พม. ให้ความสำคัญกับการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐให้สามารถอำนวยความสะดวกและรองรับคนทุกกลุ่ม ตามแนบคิด Universal Design และยังร่วมกับหน่วยงานอื่นในการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย 2.ความรับผิดชอบร่วมทางสังคมเกี่ยวกับอีสปอร์ตต่อสุขภาวะเด็ก คำถามหลักคือสังคมจะช่วยให้เด็กอยู่กับอีสปอร์ตอย่างไรให้ปลอดภัย เหมาะสม และตระหนักรู้ถึงสถานการณ์อย่างรอบด้าน รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาวะเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีที่ต้องได้รับการคุ้มครอง 3.การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม ซึ่งปัจจุบันคนไทยจำนวนมากเข้าไม่ถึงระบบทันตกรรมที่มีคุณภาพและปลอดภัย เนื่องจากมีราคาแพง รอคิวนาน ฯลฯ ทำให้หันไปใช้ทันตกรรมเถื่อน จึงต้องทำให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงอันตรายในเรื่องเหล่านี้ ซึ่ง พม.จะได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเหล่านี้ต่อไป

ในช่วงท้าย ซึ่งเป็นพิธีปิดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 นพ.กิจจา เรืองไทย ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2561-2562 เป็นผู้ปิดการประชุม พร้อมกล่าวขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมทำงานมาตลอดทั้งปีและร่วมการประชุมในครั้งนี้

[right-side]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.