Posted: 01 Dec 2018 08:21 PM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-02 11:21


อบจ.โคราช จับมือ สปสช.ตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ระดับจังหวัด พร้อมตั้ง 'ธนาคารกายอุปกรณ์' ดูแลผู้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง ยืมกายอุปกรณ์ไปใช้ที่บ้านเพื่อฟื้นฟูความพิการ เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและครอบครัว ต้นแบบใช้งบประมาณกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ คุ้มค่า ประชาชนได้ประโยชน์

2 ธ.ค. 2561 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพระดับจังหวัดนั้น เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อดูแลประชาชนผู้มีสิทธิที่มีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพให้เข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2562 ได้จัดสรรงบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์จำนวน 16.13 บาทต่อผู้มีสิทธิ สำหรับประชากรผู้มีสิทธิจำนวนกว่า 48 ล้านคน

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นบริหารจัดการในรูปแบบเหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ซึ่ง “ธนาคารกายอุปกรณ์ รพ.สีคิ้ว” เป็นรูปแบบหนึ่งในการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา โดยความร่วมมือองค์การบริการส่วนจังหวัดนครราชสีมา (อบจ.นครราชสีมา) และ สปสช.

นอกจากช่วยผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และคนพิการเข้าถึงกายอุปกรณ์อย่างครอบคลุมแล้ว งบประมาณกองทุนฯ ยังถูกใช้ลงทุนอย่างคุ้มค่าอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์ฟื้นฟูในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่ออาการดีขึ้น หรือไม่จำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์นั้น สามารถส่งต่อให้กับผู้ป่วยรายอื่นที่จำเป็นต้องใช้ได้ ลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยและครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ทั้งเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ร้อยตรีหญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน หรือ “ธนาคารกายอุปกรณ์” นั้น เนื่องด้วยจังหวัดนครราชสีมามีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีคนพิการ 87,554 คน ผู้สูงอายุ 435,023 คน และมีผู้ป่วยหลอดเลือดสมองปี 2561 มี 5,161 คน ทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีความจำเป็นต้องใช้กายอุปกรณ์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยบางส่วนมีปัญหาค่าใช้จ่าย โครงการนี้จึงเกิดขึ้นภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา โดยเริ่มปี 2560 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครราชสีมา โดยจัดตั้งศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการฯ ในโรงพยาบาลชุมชน จำนวน 32 แห่ง งบประมาณ 6,927,800 บาท

ต่อมาปีงบประมาณ 2561ได้สนับสนุนงบประมาณจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการต่อเนื่อง 23 แห่ง และสนับสนุนจัดตั้งศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ ไปยังคลินิกครอบครัวเพิ่มอีก 3 แห่ง คือ คลินิกหมอครอบครัวศีรษะละเลิง, โคกสูง และหนองพลวงมะนาว รวมงบประมาณ 4,285,500 บาท ทำให้ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ 35 แห่ง รวมงบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 11,213,300 บาท โดยดำเนินการควบคู่การจัดระบบดูแลต่อเนื่องผู้ป่วยที่บ้าน

สำหรับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการที่ให้บริการในศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ มี 11 รายการ คือ เตียงเฟาว์เลอร์แบบ 2 ไก, เตียงเฟาว์เลอร์แบบ 3 ไก, ที่นอนลมแบบลอน (ใหญ่), รถเข็นชนิดนั่ง (ปรับข้าง), เก้าอี้นั่งถ่าย, รถเข็นแบบปรับนอนได้สำหรับผู้ใหญ่, ที่ฝึกเดินแบบปรับระดับได้, เครื่องผลิตออกซิเจน, เครื่องควบคุมฉีดยาขนาดเล็ก, เครื่องดูดเสมหะ และเตียงฝึกยืนแบบมือหมุนสำหรับเด็ก ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ได้พัฒนาระบบฟื้นฟูสมรรถภาพของหน่วยบริการควบคู่ เพื่อให้มีการจัดบริการและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความจำเป็น

ด้าน พญ.อารีย์ เชื้อเดช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสีคิ้ว กล่าวว่า พื้นที่ อ.สีคิ้ว มีคนพิการที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 175 คน และผู้ป่วยติดเตียง 108 คน ต้องได้รับอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ แต่ด้วยราคาที่แพงส่วนหนึ่งจึงเข้าไม่ถึง จึงเริ่มมีการยืมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการนำไปใช้ที่บ้านในปี 2550 ใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลและกองทุนผู้ยากไร้ การบริจาคกายอุปกรณ์จากผู้ป่วยและญาติ ต่อมาปี 2560 และ 2561 ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จังหวัดนครราชศรีมา เปิดเป็นศูนย์สาธิตและยืมอุปกรณ์ฯ บูรณาการกับงานการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (HOME HEALTH CARE) ของกลุ่มงานพยาบาล

การยืมกายอุปกรณ์เพื่อช่วยความพิการฯ มีทั้งผู้ป่วยในที่แพทย์พิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหลังจากออกจากโรงพยาบาล, ผู้ป่วยนอกที่ติดต่อยืมอุปกรณ์ และผู้ป่วยที่ รพ.สต.ในพื้นที่สีคิ้วพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้ ผลที่เกิดขึ้นทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงกายอุปกรณ์เพื่อการฟื้นฟูที่ได้รับการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัว

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.