Posted: 15 Dec 2018 01:54 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sat, 2018-12-15 16:54
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 11 ร่วมแลกเปลี่ยนนโยบายสาธารณะว่าด้วย 'การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน' ดึงนักการเมืองรุ่นใหม่เสนอแนะวิธีแก้ไข หลังมีการขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2552 แต่ไม่บรรลุผล หวังกึ๋นคนรุ่นใหม่เสนอนโยบายที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2561 การจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นโยบายสาธารณะว่าด้วย “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 แต่ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ แม้ปัจจุบัน อันตรายจากอุบัติเหตุจะลดลงจาก 36.2 ต่อแสนประชากร เป็น 34.7 ต่อแสนประชากร แตก็ยังติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก โดย น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ในฐานะแกนภาคีร่วมขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติฯ ได้นำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายที่รวบรวมจากผลการขับเคลื่อนมติฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยมีข้อเสนอ 2 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ควรจัดให้มีกลไกนำที่เข้มแข็งเพื่อดำเนินการ 5 ภารกิจหลัก ได้แก่ ประสาน/บูรณาการหน่วยงานหลัก ผลักดันกฎหมายและกลไกการบังคับใช้โดยเฉพาะ ระดมทุนและจัดสรรทรัพยากร ส่งเสริมสนับสนุน-กำกับติดตามประเมินผล และระบบสอบสวนสาเหตุอุบัติเหตุสำคัญ และในระดับพื้นที่ ให้มีกลไกขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ โดยมีงบประมาณให้ทุกอำเภอในการขับเคลื่อนงาน มีการพัฒนาบุคลากร มีการจัดการข้อมูล-แผนงาน
ไฮไลต์เวทีอยู่ที่การเปิดให้นักการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคต่างๆ ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อข้อเสนอ โดย นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ ผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางท้องถนนต้องอาศัย ปัจจัยหลักสำคัญ 3 ประการ คือ หนึ่งเจตนารมณ์ทางการเมืองที่ต้องมีความมุ่งมั่นชัดเจนในนโยบายที่จะลดปัญหาอุบัติเหตุบนถนน สองนักวิชาการที่ต้องศึกษาปัญหาอย่างรอบด้านบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเพื่อนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา และ สามการมีส่วนร่วมของชุมชน เพราะชุมชนเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหา โดยทั้งสามภาคส่วนจะต้องร่วมกันทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถ รวมถึงการออกแบบโครงสร้างของถนนที่ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ
ด้าน นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้แทนจากพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า นโยบายของพรรคเน้นเรื่องความเท่าเทียมในสังคมและเท่าทันโลก ซึ่งการเสียค่าปรับที่ใช้ในปัจจุบันนั้นไม่ได้ก่อเกิดความเท่าเทียมกันในสังคมได้ เพราะค่าปรับสูง คนจนจะไม่สามารถจ่ายได้ และอาจถูกจำคุกแทนการจ่ายค่าปรับ ขณะที่คนรวยจ่ายได้ นโยบายพรรคจึงเสนอให้ใช้ระบบบันทึกคะแนนใบขับขี่ ทุกคนจะเท่าเทียมกันหมด ใครทำผิดก็จะถูกปรับคะแนนเท่ากันหมด นอกจากนี้ยังเสนอให้เปลี่ยนค่าปรับเป็นเงินกองทุนเพื่อพัฒนาการทำงานของทุกภาคส่วนในการลดอุบัติเหตุจากท้องถนน รวมถึงปรับปรุงรถบริการสาธารณะให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีอำนาจและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่
ในขณะที่ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ผู้แทนจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเน้นนโยบายการสร้างวินัยทางการจราจร การสร้างความสะดวกปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนรวมถึงการผลักดันงบประมาณเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในช่วงท้ายเวที นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ และ นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน ยังได้ยื่นหนังสือให้กับตัวแทนพรรคการเมืองทั้งสาม เพื่อให้ผลักดันเป็นนโยบายของพรรคเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากขึ้น โดยข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย ให้มีการผลักดันการจัดตั้งหน่วยงานหลักที่ดูแลปัญหาอุบัติเหตุจากการจราจรเพื่อเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ติดตามผลการดำเนินการ และให้ภาครัฐลงทุนทางด้านเทคโนโลยีเพื่อลดอัตราการตายบนท้องถนน รวมทั้งต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะลดอัตราการตายจากอุบัติเหตุลงกี่เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ กิจกรรมในช่วงเช้ายังมีการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “รู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” โดย ศาสตราจารย์ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในสังคมยุคดิจิตัล สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับคนไทยและโลกคือความชุลมุน ความปั่นป่วนของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการไหลทะลักของข้อมูล ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลง่ายขึ้นมาก สิ่งที่ท้าทายคือความรู้ การวิเคราะห์ การเลือกที่จะเชื่อ รวมไปถึงการควบคุมมาตรฐาน การกำกับดูแล และมีระบบกลั่นกรองและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน
“ถ้าอยากจะร่วมกันช่วยเสริมสร้างสังคมสุขภาพ เราควรใช้หลักการของ TIPS คือ Trend หรือแนวโน้มสุขภาพว่าเป็นอย่างไร Information คือ ข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นอย่างไร มีความถูกต้องหรือไม่ อธิบายให้เข้าใจได้ง่ายได้อย่างไร Possibility คือ โอกาสที่จะใช้เครื่องมือสื่อสารที่มีอยู่มากมายให้ข้อมูลเข้าถึงประชาชน และ Standard คือ ต้องหาให้ได้ว่ามาตรฐานที่ใช้เป็นมาตรฐานของใคร ใครเป็นผู้กำหนด ซึ่งในระดับโลก คือ WHO ในส่วนประเทศไทย หวังว่า สช. และทุกหน่วยงานด้านสุขภาพจะช่วยสร้างให้เกิดขึ้น
ที่ประชุมยังได้รับเกียรติจากองค์ปาฐกจากต่างประเทศ คือ ดร.บาทูล วาห์ตานี นายกสมาพันธ์นักศึกษาแพทย์นานาชาติ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “พลังของคนรุ่นใหม่ สู่การบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการใช้แนวทางทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ว่า ประชากรยากจนมีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพมากที่สุด จึงจำเป็นที่ต้องให้มีการศึกษาที่มีคุณภาพเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดี และมีความเสมอภาคด้านสุขภาพมากขึ้น และบทบาทที่สำคัญในการผลักดันเรื่องดังกล่าวจะอยู่ที่คนรุ่นใหม่ โดยนักศึกษาควรได้รับการสอนให้มีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตอนนี้เรามีกำลังคนรุ่นใหม่กว่า 1.8 พันล้านคน ซึ่ง 90% อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพพื้นฐานในประเทศของตน
“ปัจจุบัน สมาพันธ์ฯ มีองค์กรเครือข่ายในพื้นที่กว่า 135 แห่ง และหนึ่งในนั้นที่เข้มแข็งที่สุด คือสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทยนั่นเอง นั่นเป็นเพียงตัวอย่างที่เยาวชนสามารถรวมตัวเป็นเสียงเดียวกันในการทำงานระดับพื้นที่ และนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระดับภูมิภาคในที่สุด”
แสดงความคิดเห็น