Posted: 17 Dec 2018 06:31 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-17 21:31


สุรพศ ทวีศักดิ์

ในงานชื่อ “แก่นสารของคริสต์ศาสนา” (The Essence of Christianity) ลุดวิก ฟอยเออร์บาค มองว่าศาสนาสร้าง God ขึ้นมา ด้วยวิธีการยกคุณสมบัติของมนุษย์ เช่นภูมิปัญญา ความรัก ความเมตตาปรานีและความดีงามอื่นๆ อันเป็นธรรมชาติของเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปไว้ที่ God แล้วศาสนาก็นำเสนอ God ออกมาในฐานะ “ความจริงสูงสุด” ที่อยู่นอกตัวมนุษย์ หรือแปลกแยกจากมนุษย์ ทำให้มนุษย์แปลกแยกจากตัวเอง เพราะยิ่งมนุษย์ถูกสอนให้เชื่อว่า God ครอบครองความสมบูรณ์แห่งภูมิปัญญา ความรัก ความเมตตาปรานีและความดีงามทั้งปวง เขาก็ยิ่งรู้สึกถึง “ความขาดแคลน” คุณสมบัติต่างๆ ดังกล่าวในตัวเอง

ในต้นฉบับเรื่อง “แรงงานแปลกแยก” (Alienated Labour) คาร์ล มาร์กซ์ อธิบายความแปลกแยกของแรงงานในระบบทุนนิยมเทียบเคียงกับความแปลกแยกที่สร้างขึ้นโดยศาสนาตามคำอธิบายของฟอยเออร์บาคว่า “กรณีศาสนาก็เช่นเดียวกัน ยิ่งมนุษย์ยกคุณสมบัติต่างๆ ให้พระเจ้ามากเท่าใด เขาก็เหลือเก็บไว้ในตนเองน้อยลงเท่านั้น กรรมกรเอาชีวิตของตนเองใส่ไว้ในวัตถุ แล้วมันก็ไม่เป็นของเขาอีกต่อไป หากตกเป็นของวัตถุนั้น...” (ดูเพิ่มเติมใน “มาร์กซ: ความรู้ฉบับพกพา” เกษียร เตชะพีระ แปล)

ในความเห็นของมาร์กซ์นายทุนและกรรมกรต่างเป็น “ตัวแทนความแปลกแยกจากตัวเองของมนุษย์” เช่นกัน ต่างแต่ว่านายทุนรู้สึกพึงพอใจกับความแปลกแยกในแบบของพวกเขามากกว่า เพราะความแปลกแยกนั้นมันคืออำนาจ ความได้เปรียบ ความสะดวกสบายของพวกเขา ขณะที่ความแปลกแยกของกรรมกรคือความรู้สึกถึงความพังพินาศ เสียเปรียบ ถูกกดขี่ ไร้อำนาจต่อรอง และการมองเห็นความไร้สมรรถภาพของตนเอง

อย่างไรก็ตาม ความแปลกแยกจากตัวเองของมนุษย์อาจมองได้จากหลายแง่มุม ในทัศนะของฌอง ปอล ซาร์ตร์ ความแปลกแยกจากตัวเอง ย่อมหมายถึงความแปลกแยกจาก “เสรีภาพ” และ “ความรับผิดชอบ” เพราะมนุษย์มักปฏิเสธเสรีภาพในการเลือกและความรับผิดชอบต่อผลการเลือกของตนเอง จึงมักโยนความผิดให้คนอื่น สิ่งอื่นๆ หรือโชคชะตา และยิ่งฝากชีวิตไว้กับศาสนา ประเพณี อิทธิพลภายนอกอื่นๆ มนุษย์ยิ่งห่างเหินจากตัวเอง ยิ่งแปลกแยกจากตัวเองมากขึ้น

ในมุมมองแบบเสรีนิยม (Liberalism) ความเป็นมนุษย์โดยพื้นฐานที่สุดคือ การที่เรามีอิสระที่จะคิดจะพูดในสิ่งที่เราเห็นว่าจริงหรือถูกต้อง ปราศจากเสรีภาพที่จะคิดต่าง และแสดงความเห็นที่แตกต่างมันคือความแปลกแยกจากตัวเองของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ของมนุษย์จึงเป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อที่จะมีเสรีภาพ

แต่เสรีภาพตามกรอบคิดเสรีนิยม อาจหมายถึงเสรีภาพในการใช้ชีวิตตามรสนิยม อุปนิสัย ความเชื่อ อุดมคติของตนเอง เสรีภาพในการพูด การแสดงออก การอภิปรายสาธารณะ การรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ การแข่งขันในเรื่องต่างๆ ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม และการกระทำอื่นใดที่ไม่ละเมิดเสรีภาพและก่ออันตรายแก่คนอื่น

ขณะที่เสรีภาพแบบมาร์กซิสต์ เน้นไปที่เสรีภาพที่แยกไม่ออกจากความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและทางสังคม เป็นเสรีภาพจากการกดขี่ของระบบชนชั้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบชนชั้นนายทาสกับทาส ระบบชนชั้นศักดินา ทุนนิยม หรือแบบอื่นใดที่ทำให้มนุษย์แปลกแยกจากตัวเองและจากกันและกัน เมื่อมนุษย์มีเสรีภาพจากระบบกดขี่ดังกล่าว เขาย่อมมีอิสระที่จะใช้แรงงานของตนเองอย่างสร้างสรรค์ เช่นกระทำหรือผลิตสร้างสิ่งต่างๆ ที่ตนเองรักและได้ชื่นชมกับผลงานที่ตนสร้างขึ้น ไม่ใช่ตกอยู่ในสภาพถูกบังคับให้ไม่มีทางเลือก ต้องทำงานแบบเครื่องจักรสร้างผลผลิตเพื่อกำไรของชนชั้นผู้กดขี่ โดยที่ตัวเองตกอยู่ในสภาพแปลกแยกจากงานที่ทำและผลผลิตที่ก่อกำไรให้กับฝ่ายผู้กดขี่เอาเปรียบตลอดไป

เผด็จการไทยๆ คือ “รากฐานของความแปลกแยก” ในยุคศักดินาศาสนาพุทธ พราหมณ์สร้างแนวคิด “ธรรมคืออำนาจ” ด้วยการการสถาปนา “สถานะทางศาสนา” ของชนชั้นปกครองให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพราะถูกกำหนดมาแล้วโดยพระพรหมผู้สร้างโลก ควบคู่กับ “ธรรม” หรือสิ่งดีงามสมบูรณ์แบบอันเป็นธรรมจรรยาของชนชั้นปกครอง ทำให้ชนชั้นปกครองแปลกแยกจากมนุษย์ทั่วไป กลายเป็น “มนุษย์เหนือมนุษย์” หรือ “อภิมนุษย์” ที่เป็นเทพผู้ทรงธรรม และทำให้ผู้ถูกปกครองแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เพราะทำให้เชื่อว่าพวกเขาไม่มีคุณสมบัติที่ดีงามต่างๆ เช่นภูมิปัญญา ความสามารถ และอำนาจในการปกครองตนเองได้ เป็นได้เพียงไพร่ ทาส ที่ต้องคอยพึ่งอำนาจและบุญบารมีของเจ้านายหรือชนชั้นปกครองเท่านั้น

ในระบบศักดินาไทยภายใต้อำนาจสถาปนาของศาสนา ชนชั้นปกครองย่อมเป็นผู้ครอบครองปัจจัยทางเศรษฐกิจแทบทั้งหมด เช่นปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะที่ดิน อำนาจผูกขาดทางการค้าทั้งภายในราชอาณาจักรและการค้ากับต่างชาติ ดังนั้นพวกเขาจึงเสวยสุขบน “ความแปลกแยกแบบศาสนาสถาปนา” ได้มากกว่า ขณะที่บรรดาไพร่ ทาสคือฝ่ายที่ต้องทนทุกข์ หรือก้มหน้ายอมรับความแปลกแยกนั้นเสมือนเป็น “ชะตากรรม” ที่ถูกลิขิตมาจากเบื้องบน

ในยุคปัจจุบัน เผด็จการไทยๆ ยังคงสร้างความแปลกแยกที่ซับซ้อน ทั้งโดยการอ้างความทรงจำทางประวัติศาสตร์อันเป็นมรดกตกทอดจากยุคเก่า(และที่ถูกปรับแต่งขึ้นใหม่) ขณะเดียวกันก็แสวงหาคะแนนนิยมให้กับพวกตัวเอง ด้วยการสร้างนโยบาย “ประชานิยม” ในลักษณะต่างๆ มาก่อนนักการเมืองเสียอีก เช่นการยึดสื่อมวลชนเพื่อสื่อสารทางเดียวกับประชาชน การใช้กิจกรรมทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรมธรรม เช่นเพลง ดนตรี ภาพถ่าย ภาพวาด ภาพเขียน หนังสือและอื่นๆ ปัจจุบันการจัดงานอีเวนท์และอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองพวกเขาก็เก่ง รวมทั้งยึดอำนาจแล้วทำนโยบายลดแลก แจกแถมแบบนักการเมืองพวกเขาก็ทำกันเต็มที่ ต่างแต่ว่านักการเมืองอาจใช้ทุนของตัวเองด้วย ขณะที่เผด็จการใช้ภาษีประชาชนและทรัพยากรของรัฐล้วนๆ ตั้งแต่การเข้าสู่อำนาจ การรักษาอำนาจ และการสร้างคะแนนนิยมแข่งนักการเมือง

ทว่าทั้งหมดนั้นคือการสร้าง “ความแปลกแยก” เพราะเผด็จการไม่สามารถกำหนดตำแหน่งแห่งที่ที่เหมาะสมหรือ “ชอบธรรม” ให้กับตัวเองได้ เช่นพยายามแสดงออกว่าผู้นำประเทศตะวันตกยอมรับตัวเอง แต่กลับปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตะวันตก ประกาศว่าตนเองเป็น “นักการเมืองเต็มตัว” แต่ไม่ยกเลิก ม.44 และลากออกเป็นรัฐบาลรักษาการแบบที่นักการเมืองต้องทำ เป็นต้น

ความแปลกแยกดังกล่าว ทำให้เกิดสิ่งที่เดวิด สเตร็กฟัสเรียกว่า “การเมืองที่ผิดเพี้ยน” (Absurd Politics) คือการเมืองที่ไม่มี “เส้นแบ่ง” ชัดเจนระหว่างอำนาจตามอำเภอใจของบุคคลกับอำนาจสาธารณะ เช่นรัฐธรรมนูญถูกนำเสนอในนามอำนาจสาธารณะ แต่ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากอำนาจตามอำเภอใจของกลุ่มอำนาจที่ทำรัฐประหาร ขณะเดียวกันตัวรัฐธรรมนูญนั้นเองก็ดูเหมือนจะเป็นอำนาจสาธารณะที่ขัดกับ ม.44 อันสะท้อนอำนาจตามอำเภอใจของบุคคล

ยิ่งกว่านั้นเส้นแบ่งระหว่างถูก ผิด ยุติธรรม อยุติธรรมก็แทบจะมองไม่เห็น แม้แต่อะไรคือพูดโกหกกับพูดความจริงก็ถูกทำให้สับสน เพราะการโกหกไปเรื่อยๆ มีอำนาจทำให้ประชาชนต้องยอมรับมากกว่า ขณะที่อำนาจเสนอความจริงโต้แย้งของประชาชนถูกทำให้ไร้ความหมายไป

นอกจากนี้ เผด็จการยังทำให้ประชาชน “แปลกแยกจากความเป็นมนุษย์ของตัวเอง” เพราะประชาชนไม่มีเสรีภาพที่จะพูด แสดงออกในสิ่งที่ตนคิด ไม่มีเสรีภาพจะพูด “ความจริง” ที่เผด็จการไม่อยากฟัง คนที่ยืนยันความเป็นคนที่ต้องมีเสรีภาพดังกล่าวถูกจับไปขังคุกและหนีออกนอกประเทศ ส่วนคนที่ตระหนักถึงคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นคนก็ไม่อาจเอื้อนเอ่ยว่า “มีความสุข” และย่อมมีประชาชนอีกหลายฝ่ายที่พยายามต่อสู้สร้างระบอบประชาธิปไตยเพื่อคืนความเป็นคนให้กับตัวเอง

การครองอำนาจบนความแปลกแยกดังกล่าวของเผด็จการนำมาสู่การสร้างกระบวนการของ “การเลือกตั้งที่แปลกแยก” จากกติกาที่เสรีและเป็นธรรมตามหลักสากล ยิ่งพวกเขาอ้าง “ความแตกแยก” เพื่อรักษาและสืบทอดอำนาจของฝ่ายตน ก็ยิ่งสร้างความแปลกแยกจากระบอบประชาธิปไตย และจะกลายเป็นเงื่อนไขของ “ความขัดแย้ง” ที่ทอดยาวไปในอนาคต

แท้จริงแล้ว หนทางลดความแปลกแยก ความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจและอื่นๆ ในโลกปัจจุบัน จำเป็นต้องสร้างระบบการแข่งขันทางความคิดเห็น นโยบาย และอื่นๆ ที่เสรีและเป็นธรรมตามระบอบประชาธิปไตยเป็นฐานที่มั่นเริ่มต้น สังคมไทยจำเป็นต้องปลดปล่อยตัวเองจากอำนาจใดๆ ที่กดทับและสร้างความแปลกแยก

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.