Posted: 17 Dec 2018 07:07 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Mon, 2018-12-17 22:07


อิทธิเดช พระเพ็ชร

การจับกุมปัญญาชน นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และนักการเมืองเมื่อคราวการปฏิวัติ 2501
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามนิกร 22 ตุลาคม พ.ศ. 2501


เป็นที่ทราบดีว่าเมื่อครั้งจอมพลสฤษดิ์ทำการยึดอำนาจครั้งที่ 2 ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (ตามคำอธิบายของจอมพลสฤษดิ์เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “การปฏิวัติ”) ได้มีการจับกุมนักการเมือง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และกรรมกรเป็นจำนวนมากด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ มีการปิดร้านหนังสือและยึดค้นหนังสือที่มีเนื้อหาแนวสังคมนิยม-มาร์กซิสต์เป็นจำนวนมาก ซึ่งงานศึกษาเกี่ยวกับแนวความคิดทางการเมืองของไทยนิยมให้ความสนใจต่อเหตุการณ์นี้ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยช่วงทศวรรษ 2500 มีความพยายามจะปิดกั้นและทำลายแนวความคิดแบบสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ในสังคม อันเป็นแนวคิดที่สร้างความเข้าใจและโลกทัศน์ทางการเมืองที่ “โต้แย้ง” กับแนวคิดทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยมมาตลอดในช่วงทศวรรษ 2490[1]

ในงานศึกษาของประจักษ์ ก้องกีรติ วิเคราะห์ว่าการจับกุมปัญญาชนทั้งนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมืองในสมัยจอมพลสฤษดิ์ คือกระบวนการที่รัฐบาลเผด็จการจอมพลสฤษดิ์ (ควรกล่าวว่าจอมพลสฤษดิ์ปฏิเสธเสมอว่าทั้งตนเองและรัฐบาลไม่ใช่เผด็จการ) พยายามทำลายความทรงจำและแนวคิดสังคมนิยม-มาร์กซิสต์ให้ออกไปจากพื้นที่สาธารณะ[2] ซึ่งในแง่หนึ่งก็น่าจะส่งผลให้ยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์สามารถผูกขาดและผลิตสร้างแนวความคิดแบบพ่อปกครองลูกได้อย่างทรงประสิทธิภาพ[3]

อย่างไรก็ตาม ข้อคิดเห็นข้างต้นนี้เป็นการวิเคราะห์ทางวิชาการเป็นสำคัญ สิ่งที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าในบทความนี้คือ สำหรับความคิดเห็นของนักหนังสือพิมพ์บางคนในสมัยนั้นที่ถูกจับกุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง จากความทรงจำของพวกเขาที่นำมาบันทึกเล่าในภายหลัง มักกล่าวอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้นที่มีนโยบายสกัดกั้นอิทธิพลของคอมมิวนิสต์

ทั้งนี้ ควรกล่าวว่าข้อหาในการจับกุมผู้มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิวต์ใรสมัยนั้นถูกตีความกว้างมาก กล่าวคือมิใช่เป็นเพียงเรื่องของอุดมการณ์หรือองค์กรสถาบัน แต่รวมความถึงการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ การกล่าวร้ายป้ายสีประเทศชาติ การกล่าวร้ายหรือเหยียดหยามรัฐบาล การว่ากล่าวถึงความเสื่อมโทรมในรัฐบาล การสร้างความตกใจหรือวิตกกังวลต่อความสงบเรียนร้อยแม้กระทั่งการทำนายโชคชะตาบ้านเมืองไปในทางที่ไม่ดี ก็ล้วนถูกจับในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ได้ทั้งสิ้น

ภาพปัญญาชนจำนวนหนึ่งในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว สำหรับนี้ภาพประกอบไปด้วย นายอดุลย์ ภมรนนท์ (นักบาสเกตบอล) นายสุธีร์ คุปตารักษ์ นายสุวิทย์ เผดิมชิต และนายจิตร ภูมิศักดิ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามนิกร 26 ตุลาคม พ.ศ. 2501


เมื่อดูรายชื่อปัญญาชนที่ถูกจับส่วนใหญ่จะสังเกตเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นปัญญาชนที่แสดงบทบาทและแสดงความคิดเห็นในเชิงต่อต้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลและต่อต้านสหรัฐอเมริกา แม้ว่าในตอนนั้นมีการจับปัญญาชนบางคนที่สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย “ถูกตัว” จริง แต่ก็มีอีกหลายคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หากแต่แสดงบทบาทและความคิดเห็นที่เป็นปรปักษ์กับรัฐบาลโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ สำหรับความรู้สึกนึกคิดหรือความเข้าใจทางการเมืองสำหรับนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งแล้ว พวกเขาเห็นว่าการจับกุมปัญญาชนของจอมพลสฤษดิ์โดยแท้จริงแล้วเป็นการเล่นละครปราบคอมมิวนิสต์เพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาของจอมพลสฤษดิ์

ในงานของถาวร สุวรรณ ซึ่งเป็นอดีตนักหนังสือพิพม์ของเดลิเมล์และเป็นนักข่าวที่ไม่ถูกจับกุมในวันปฏิวัติเล่าย้อนความหลังว่า การจับกุมนักหนังสือพิมพ์ของคณะปฏิวัติไม่ใช่วิธีการเหวี่ยงแห แต่เพราะตำรวจสันติบาลมีรายชื่อนักหนังสือพิมพ์หรือที่เรียกว่า “บัญชีดำ” อยู่ก่อนหน้านั้น

“ด้วยเหตุนี้ การนำเสนอบทความก็ดี คอลัมน์ประจำก็ดี หรือนักข่าวสายการเมือง และที่ถือว่าสำคัญคือบรรณาธิการ-หัวหน้ากองบรรณาธิการ ในลักษณะที่ต่อต้านนโนบายของรัฐบาล เฉพาะอย่างยิ่งเป็นนโยบายต่างประเทศที่ผูกพันกับสหรัฐอเมริกาอย่างเหนียวแน่นด้วยแล้ว ชื่อของบุคคลนั้นจะถูกบรรจุในบัญชีอย่างแน่นอน...ฉะนั้นทันทีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำปฏิวัติ หรือจะเรียกอะไรก็ตาม “บัญชีมืด” จะถูกกางออกมาแล้วจัดกำลังเจ้าหน้าที่กันออกไปคว้าเอาตัวมา”[4]

ถาวรยังเล่าถึงการจับกุมหนังสือพิมพ์ด้วยการอ้างคำบอกเล่าของเสริมศรี เอกชัย ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ในขณะนั้นและเป็นภรรยาของสนิท เอกชัย บรรณาธิการหนังสือพิมเดลิเมล์ที่มีความสนิทสนมกับจอมพลสฤษดิ์แต่ก็ถูกจับในวันปฏิวัติว่า “มันเป็นเรื่องการเมืองที่จะต้องเอาใจอเมริกาผู้กำลังปราบคอมมิวนิสต์อย่างบ้าคลั่งในขณะนั้นเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือมากกว่า 2 พันล้านบาท” และเสริมศรียังเล่าถึงการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ซึ่งรวมถึงสนิท เอกชัยด้วยว่า

“เรื่องของการเมืองที่ต้องเอาใจอเมริกาผู้กำลังปราบคอมมิวนิสต์อย่างบ้าคลั่งขณะนั้นเพื่อแลกกับเงินช่วยเหลือจากอเมริกากว่าสองพันล้านบาท ชีวิตของคนอีกหลายร้อยคนต้องสังเวยในครั้งนี้ ท่านจอมพลก็ไม่สบายใจนักกรณีคุณสนิท ได้สั่งเสีย พล.ต.ต.เกษียร ศรุตานนท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาลให้คอยดูแล ให้ความสะดวกแก่คุณสนิทขณะถูกกักขังอยู่ใต้ถุนกองปราบฯ ปทุมวัน คุณเกษียรคอยปลอบโยนเสมอไม่ว่าจะเป็นกับดิฉันหรือกับคุณสนิท เป็นผู้ต้องขังพิเศษที่สามารถเอาโทรทัศน์เข้าไปดูในห้องขังเดี่ยวได้ มีพิมพ์ดีดได้ มีหนังสืออ่านได้ รอคอยว่าที่จอมพลสฤษดิ์สั่งมาว่าช่วยไม่ทันเพราะจับตามคำสั่งของจอมพลถนอมต้องใช้เวลาแก้ไขบ้าง แต่โดยความจริงแล้วทราบกันดีว่า ท่านจอมพลถนอมมิได้รู้เห็นหรือยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้เลย”[5]

ขณะที่ กรุณา กุศลาสัย หัวหน้าแผนกข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์เสถียรภาพและเป็นหนึ่งในทูตใต้ดินของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เดินทางไปประเทศจีน ซึ่งต่อมาถูกจับเข้าคุกในสมัยจอมพลสฤษดิ์ เล่าบันทึกย้อนหลังว่า

“ในฐานะที่ต้องพึ่งสหรัฐฯ อยู่หลายประการ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สงบลง ประเทศไทยจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษมิให้สหรัฐฯ เกิดความกินแหนงแคลงใจขึ้นมาได้ มิฉะนั้นจะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ พูดกันตามความเป็นจริงแล้ว สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกโค่นอำนาจ (พ.ศ. 2500) นั้น ก็เพราะสหรัฐฯ ไม่ไว้ใจจอมพล ป. เกรงว่าจอมพล ป. จะหันไปคบกับประเทศจีน...อันที่จริงแล้ว หากไม่มีการปฏิวัติรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ. 2500 และ 2501 และหากไม่มีการ “เล่นละครปราบคอมมิวนิสต์” เพื่อเรียกร้องความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แล้วไซร้ ตัวพ่อตลอดจนคนไทยอื่นๆ จำนวนพันก็คงไม่ถูกจับขัง “แช่เย็น”เป็นเวลานานตั้ง 7-8 ปี”[6]

ทัศนะความเห็นเรื่องจอมพลสฤษดิ์เล่นละครปราบคอมมิวนิสต์เพื่อเอาใจสหรัฐอเมริกา ยังเห็นได้จากคำบอกเล่าเรื่องราวภายในคุกลาดยาวจากบันทึกของทองใบ ทองเปาด์ ที่แสดงให้เห็นว่านักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่งที่แม้จะถูกจอมพลสฤษดิ์จับเข้าคุก แต่ก็ยังเชื่อว่า


“ศัตรูที่แท้จริงของเราคือ จักรพรรดินิยมอเมริกา ส่วนกลุ่มสฤษดิ์นั้นอาจกลับตัวได้ อาจไม่เข้าข้างอเมริกา จึงไม่ควรไปโจมตี อันเป็นการเสียงภัยเปล่าๆ”[7]

ไม่ว่าการจับกุมนักหนังสือพิมพ์ในสมัยปฏิวัติโดยแท้จริงแล้วจะเกิดขึ้นจากเหตุผลกลใดก็ตาม เหตุการณ์เช่นนี้ได้ส่งผลต่อยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์อย่างน้อย 4 ประการคือ ประการแรก กลุ่มนักหนังสือพิมพ์มิได้ทำหน้าที่เป็นปรปักษ์หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างที่เคยกระทำมา ประการที่สอง นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ไม่สามารถแสดงความคิดเห็นภายใต้กรอบแนวคิดแบบสังคมนิยม-มาร์กซิสต์หรือแม้กระทั่งเสรีประชาธิปไตยก็มิอาจทำได้ เพราะสามารถถูกตีความได้ว่าเป็นพวกเอียงซ้ายหรือมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จึงเหลือเพียงการใช้แนวคิดและชุดความรู้แบบอนุรักษ์นิยมเป็นสำคัญในการอธิบายสภาพสังคมการเมืองไทย และประการสาม การขจัดนักหนังสือพิมพ์ส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อใจและการให้ความช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาต่อไทยและเป็นการสลายพลังต่อต้านภายในประเทศไทย ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถเข้ามาขยายตลาดการลงทุนและระบายสินค้าได้เป็นจำนวนมากผ่านการใช้กลวิธีเรื่องความช่วยเหลือในการปราบปรามคอมมิวนิสต์[8] และประการสุดท้าย การจับกุมปัญญาชนของคณะปฏิวัติ ส่งผลให้ต่อมาในภายหลัง ปัญญาชนจำนวนหนึ่ง (ทั้งที่ถูกจับกุมและไม่ถูกจับกุม) ตัดสินใจเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อต่อสู้กับรัฐไทยอย่างจริงจัง ดังเห็นได้จากกรณีของ “นายผี” อัศนี พลจันทร และ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นต้น



เชิงอรรถ


[1] ดู โสภา ชานะมูล, “ชาติไทย” ในทัศนะปัญญาชนหัวก้าวหน้า, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550).


[2] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ, พิมพ์ครั้งที่ 2, (นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน, 2556), 335-380.


[3] ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, พิมพ์ครั้งที่ 3, (กรุงเทพ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2552)


[4] ถาวร สุวรรณ, ฝ่าทะลน้ำหมึก, (กรุงเทพฯ: มติชน, 2550), 397-398.


[5] เพิ่งอ้าง, 383; 423


[6] กรุณา กุศลาสัย, ชีวิตที่เลือกไม่ได้: อัตชีวประวัติของผู้ที่เกิดในแผ่นดินไทยคนหนึ่ง, พิมพ์ครั้งที่ 9, (กรุงเทพฯ: แม่คำผาง, 2549), 250-251.


[7] ทองใบ ทองเปาด์, คอมมิวนิสต์ลาดยาว, พิมพ์ครั้งที่ 2, (กรุงเทพฯ: ข้าวฟ่าง, 2534), 310-314.


[8] ดู อุกฤษฎ์ ปัมมานันท์, สหรัฐอเมริกากับนโยบายเศรษฐกิจไทย, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2526

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.