Posted: 11 Dec 2018 06:24 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Tue, 2018-12-11 21:24
กันต์ นาเมืองรักษ์
จากกระแสข่าวล่าสุดที่มีผู้นำข้อมูลจากรายงานความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งของ Credit Suisse (ซึ่งเท่าที่ผู้เขียนเห็นก็คงไม่ใช่ใครนอกจากคุณบรรยง พงษ์พาณิช[1]) มาเปิดเผยและได้พบว่าความเหลื่อมล้ำด้านนี้ของไทยน่าจะกล่าวได้ว่าเป็นที่ 1 ในโลกแล้ว ถึงจุดนี้ผู้เขียนเองก็มองว่าก็อาจจะเป็นแชมป์จริงๆได้เหมือนกัน เพราะก็รู้สึกไปในทิศทางเดียวกับคุณบรรยงว่าโอกาสที่ตัวเลขความมั่งคั่งที่ตกหล่นไปพอสมควรนี้ส่วนมากจะเป็นของกลุ่มผู้ครองความมั่งคั่งที่ไม่ใช่สูงสุด 10% บนนี้ดูช่างร่อแร่เสียเหลือเกิน
จากโพสต์สาธารณะของปัจเจกในเฟสบุ๊ค กระแสข่าวเรื่องนี้ก็ไปยังสื่อต่างๆ ทั้งทีวี สื่อออนไลน์ แล้วย้อนกลับมายังเพจมีมในเฟสบุ๊คอย่างคาราโอเกะชั้นใต้ดินที่เอาเพลง We are The Champions ของยอดวงแห่งอังกฤษอย่าง Queen มาใส่ประกอบ[2] และด้วยความที่ผู้เขียนสนใจว่าเสียงสะท้อนของผู้คนต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร เลยได้ก็เข้าไปเช็คดูเสียหน่อย (ในขณะนั้นจำนวนโพสต์สาธารณะของประเด็นนี้ยังไม่ค่อยมากและไม่ปรากฏในวอลล์ของผู้เขียนเท่าใดนัก จึงดูเท่าที่มีให้ดูไปก่อน) ก็เห็นว่ามีคนแย้งอยู่บ้าง จึงตามเข้าไปอ่าน
พอได้เข้าไปอ่านทั้งในต้นทาง[3] ที่แย้งกับคนที่แชร์มาแย้งตามโซเชียลมีเดียผู้เขียนก็รู้สึกตลกกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะหลายๆคนก็แซะว่าคนส่วนใหญ่คงฟินกับข่าวและมีมที่ตอกย้ำภาพลักษณ์รัฐบาลนี้กันแล้วคงไม่ไปอ่านข้อมูลเชิงลึกเพื่อหา “ความจริง” อะไรกันเพิ่มหรอก (ผู้เขียนเองก็คิดนะว่าแล้วที่พวกเขาออกมาแซะแบบคูลๆแบบนี้ไม่ใช่เพราะอยากฟินกับ “ความไม่โง่” ของตัวเองเหมือนกันหรอกเหรอครับ) และหลายคนยังไม่วายกล่าวว่าต้นทางอย่างคุณบรรยงบิดเบือน ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้ไปตามอ่านว่าแวดวงคุณบรรยงในโพสต์ต้นทางเขาตอบรับข้อเท็จจริงอย่างไรและถกไปถึงไหนกันแล้ว ในขณะที่พวกเขาหลายๆคนจะยังแยกไม่ออกนะครับว่า “ความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง” (หรือที่ทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์”) กับ “ความเหลื่อมล้ำทางรายได้” ที่เอามาแย้งน่ะมันมีนัยยะต่างกันอย่างไรด้วยซ้ำ
แม้จากข้อมูลของธนาคารโลกการกระจายรายได้ของไทยจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็ไม่ควรเอาความเหลื่อมล้ำทางรายได้มาปนกับความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ไปด้วยกันเสมอไป อย่างกลุ่มคนผู้ถือครองสินทรัพย์ที่น้อยที่สุดในสวีเดนแม้จะมีดัชนีสินทรัพย์เป็นลบ แต่ด้วยการกระจายรายได้จากระบบรัฐสวัสดิการจึงสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ และสำหรับผู้เขียนนั้นความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์เป็นดัชนีที่ดีกว่าในการบ่งบอกถึงความเป็นจริงทางเศรษฐกิจของชีวิตคนไทยส่วนมากที่ไม่ได้มีระบบรัฐสวัสดิการที่ดีพอในการช่วยให้อยู่รอดและเติบโตทางเศรษฐกิจได้ตลอดรอดฝั่ง แถมในปัจจัยต่างๆที่ไม่ช่วยให้คนไทยมีศักยภาพสร้างรายได้แก่ตัวเองและครัวเรือนได้มากกว่านี้ (เช่น ระบบการศึกษาที่ล้าหลัง ระบบสาธารณูปโภคที่ไม่พัฒนา กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อผู้ทำกิจการรายย่อย ฯลฯ) การกระจายรายได้ที่ไม่ไปพร้อมการลดความเหลื่อมล้ำทางสินทรัพย์สำหรับผู้เขียนแล้วก็ช่างไม่น่าไว้ใจเท่าไรนัก ดูจะพังเมื่อไรก็ได้
ถึงจุดนี้ผู้เขียนไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่ากระบวนการทางตัวเลขของ Credit Suisse ไม่มีปัญหา มันย่อมมีอยู่แล้ว เพราะปัญหาของการวัดมูลค่าของสินทรัพย์สำหรับผู้เขียนแล้วไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องวิธีวิทยาภายในเศรษฐศาสตร์ที่ว่าจะแปลงสินทรัพย์ที่แปรรูปได้หลายรูปแบบเป็นตัวเลขอย่างไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงประเด็นเรื่องตัวภาวะของสิ่งที่เรียกว่าสินทรัพย์อีกด้วย (หรือถ้าพูดในภาษาปรัชญาคือภววิทยา) โดยเฉพาะสินทรัพย์ทางธรรมชาติที่การถือครองดูคลุมเครือเอามากๆ เช่น แม่น้ำโขงที่ทั้งไทย จีน ลาว และกัมพูชาต่างก็ใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในประเทศตนเองเหมือนกัน และยังถกเถียงต่อรองกันว่าใครมีสิทธิ์ใช้มากกว่า ซึ่งทำให้เราเห็นได้ว่าภววิทยากับการเมืองนั้นเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันได้ยาก
นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาการเข้าถึงข้อมูลสินทรัพย์ที่เหล่าผู้ถือจะยอมเปิดเผยมาแค่ไหนอีกนะครับ ปัญหานี้ก็ถือได้ว่าเป็นปัญหาทางการเมืองในอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน แถมในไทยก็ร้ายแรงมากด้วย ไม่เช่นนั้นตัวเลขการสำรวจของ Credit Suisse ก็คงอัพเดทกว่านี้ไปแล้ว และแม้ตัวเลขที่ตั้งต้นเอามาทำดัชนีจะเป็นสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นดัชนีของตอนนั้นได้นะครับ เพราะทางรายงานเขาก็บอกว่าตัวเลขเหล่านี้ผ่านการดัดแปลงมาแล้ว (เพราะฉะนั้นถ้าอยากเห็นดัชนีปีนั้นก็ไปดูรายงานปีนั้นๆดีกว่านะครับ) ผู้เขียนเองอยากจะให้เหล่าผู้มีสติปัญญาที่ออกมาโต้การจัดอันดับนี้ในโซเชียลมีเดียทั้งหลายออกมาถามหาการสำรวจที่แม่นยำและโปร่งใสกว่านี้จากหน่วยงานรัฐเหมือนกัน ก็ไม่รู้ว่าจะกล้าไปถามหากันรึเปล่า แถมล่าสุดทางภาครัฐก็ออกมาแถลงโดยใช้ตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่ดูดีกว่ามาตีขลุมแล้วนะครับ สำหรับผมแล้วดูไม่จริงใจอย่างไรก็ไม่รู้สิ
แต่ประเด็นของข้อเขียนนี้คงไม่ใช่เรื่องความสำคัญของกระบวนการทางตัวเลขนามธรรมอันสูงส่งเหล่านี้ เพราะสุดท้ายกระบวนการพวกนี้ก็มีประโยชน์โดยตรงเฉพาะกับคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้น สำหรับผู้เขียนแล้วคนทั่วไปไม่จำเป็นต้องรู้พวกนี้ก็ได้ (แต่สนใจได้ ไม่ห้าม) แค่เข้าใจว่ามันทำงานอย่างไรคร่าวๆก็ถือว่าดีพอแล้ว และในตอนนี้เอาแค่ความจริงที่ว่ารัฐบาลทหารนี้ก็เป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ผลักดันให้ประเทศเราเหลื่อมล้ำมาจนถึงจุดที่คนบางคนกล่าวกลายๆได้ว่าอาจจะเป็นแชมป์ได้ (ถึงจะดูไม่สนิทใจอยู่บ้าง) ถึงแม้จะไม่เป็นแชมป์จริงๆก็ตาม แต่อย่างน้อยผมว่าก็ไม่ได้ดีขึ้น ไม่เช่นนั้นกระแสข่าวและมีมก็คงไม่สามารถมาตอกย้ำกับอารมณ์ของคนทั่วไปจำนวนมากที่ต้องเผชิญสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอันลำบากจนทำให้พวกเขาแสดงความคับแค้นใจออกมาขนาดนี้ได้แน่ๆ
อ้างอิง
[1] https://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/1001185230084776
[2] https://www.facebook.com/basementkaraoke/posts/931086887085129
[3] ได้แก่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=1338577982951156&id=1233859410089681 และ https://www.facebook.com/kittitouch.chaiprasith/posts/2096297590434389
แสดงความคิดเห็น