แสดงของกลุ่ม Non-Binary

Posted: 30 Nov 2018 08:22 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-30 23:22


กาญจนพงค์ รินสินธุ์ รายงาน

แกนนำกลุ่มเยาวชนขึ้นเวทีเรียกร้องความเท่าเทียมแก่กลุ่มความหลากหลายทางเพศ ย้ำการออกกฎหมายต้องผ่านกระบวนการที่เปิดให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและเป็นประชาธิปไตย ยันการเลือกปฏิบัติและการรังแกกลุ่มความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริงในสังคม เสนอให้มองกันที่ความสามารถ พร้อมแถลงการณ์เรียกร้องรัฐให้สนับสนุนการสมรสและการสร้างครอบครัวอย่างหลากหลายและเท่าเทียมต่อทุกอัตลักษณ์ทางเพศ

30 พ.ย.2561 ในงาน 10 ปี วันความหลากหลายทางเพศ : สิทธิและความเสมอภาคในการตั้งครอบครัวกิจกรรม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในช่วงบ่ายได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกต่อประเด็นความหลากหลายทางเพศ ทั้งกิจกรรมการแสดง และเวทีเยาวชนแสดงความเห็น โดยย้ำถึงความเท่าเทียมที่สมควรมีแก่ทุกคนไม่ว่าจะมีอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม

Non-Binary : อัตลักษณ์ของคนไม่จำเป็นต้องอยู่ในระบบสองเพศ

เริ่มด้วยการแสดงของกลุ่ม Non-Binary โดยเป็นการแสดงเพื่อสื่อสารว่าอัตลักษณ์แบบ None-Binary นั้นถูกกดทับด้วยระบบที่มีเพศแค่สองเพศ ซึ่งตัวอย่างสำคัญที่สะท้อนการกดทับแบบนี้คือ พ.ร.บ. คู่ชีวิต โดยทางตัวแทนกลุ่ม Non-Binary ก็อธิบายเพิ่มเติมว่าในพ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีเนื้อหาแค่เพศกำเนิดและการรักเพศเดียวกัน ไม่ได้พูดถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่เป็นอื่น ซึ่งถ้าพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน ก็จะมีผลกระทบต่อกลุ่มคนที่ไม่ได้นิยามว่าตัวเองเป็นชายหรือหญิงแน่นอน

สำหรับความหมายของคำว่า Non-Binary ทางตัวแทนของกลุ่มอธิบายอย่างคร่าวๆ ว่าเป็นคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสองเพศ ซึ่งตัวแทนของกลุ่มก็กล่าวต่อมา การจะทำความเข้าใจกลุ่ม Non-Binary จำเป็นต้องลบฐานความคิดเดิมที่ยึดกับเพศโดยกำเนิดหรือเพศทางชีววิทยา และเข้าใจความหมายใหม่ๆ “Movement ในต่างประเทศ เค้าให้ค่าในการกำหนดตัวตนและอัตลักษณ์ของตัวเอง” ส่วนใครที่อยากรู้จักกลุ่ม Non-Binary เพิ่มเติมก็สามารถเข้าไปที่แฟนเพจเฟซบุ๊คนอกกล่องเพศได้

กลุ่ม LGBT ย้ำ ‘พ.ร.บ.คู่ชีวิต’ ต้องบรรจุสิทธิรับสวัสดิการสังคม-รับบุตรบุญธรรม
รำลึก 10 ปี วันสิทธิหลากหลายทางเพศ ยื่น 8 ข้อเสนอ ชูสิทธิและความเสมอภาคตั้งครอบครัว
เยาวชนแถลงการณ์กฎหมายต้องเท่าเทียมและมาจากการมีส่วนร่วม

กิจกรรมถัดมาคือ การยื่นหนังสือต่อตัวแทนจากพรรคการเมืองพร้อมทั้งแถลงการณ์โดยมีใจความสำคัญว่า สนับสนุนการแก้กฎหมายเพื่อการสมรสและสร้างครอบครัวอย่างเท่าเทียมแก่ทุกคน และเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเพศ ไม่ยอมรับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับล่าสุด และหากรัฐยังต้องการผลักดันกฎหมายด้านนี้จะต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิมนุษยชน และตัวกฎหมายเองต้องคำนึงถึงผู้ที่จะได้เสียผลประโยชน์รวมถึงหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับกระบวนการผลักดันกฎหมาย จะต้องให้มีกลุ่มความหลากหลายทางเพศเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นจนจบผ่านกระบวนการประชาธิปไตยโดยระบบรัฐสภา การผลักดันกฎหมายจะต้องไม่ขัดกับกฎหมายสิทธิขั้นพื้นฐานของครอบครัว ด้านรัฐต้องให้ความรู้เกี่ยวกับรูปแบบครอบใหม่ๆ และความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนการแต่งงานที่หลากหลาย ในแง่ของกฎหมาย คำที่ใช้จะต้องเป็นกลางทางเพศ
เยาวชนเปล่งเสียงยามเมื่อสังคมมีความไม่เท่าเทียม

เวทีเยาวชนเพศหลากหลาย Youth Talk For Change ซึ่งเป็นเวทีเรียกร้องสิทธิด้วยเสียงจากเยาวชนเองซึ่งมีวิทยากร 6 คน ได้แก่ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นักกิจกรรมสิทธิเยาวชนและความเสมอภาคทางเพศ, นุรฮายาตี ยูโซ๊ะ ผู้ประสานงานห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชนจากจังหวัดปัตตานี, ปัถวี เทพไกรวัล หรือ Ammadiva ผู้เข้าแข่งขันรายการ Drag Race Thailand, ชิษณุพงศ์ นิธิวนา ผู้ก่อตั้ง Pride CMU, พิมพิศา เชี่ยววารีสัจจะ บรรณาธิการนิตยสาร Overdog และเวที จรัญ คงมั่น นักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ


ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี, นักกิจกรรมสิทธิเยาวชนและความเสมอภาคทางเพศ

ทัตเทพ กล่าวว่า ในไทยยังมีปัญหาผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศยังตกเป็นชนชั้นที่สองในสังคม สิทธิบางอย่างในทางกฎหมายยังไม่มาถึงพวกเขา ทัตเทพไม่เห็นด้วยกับการยอมรับพ.ร.บ. คู่ชีวิตไปก่อนเพราะนั่นหมายถึงการยอมรับสภาพพลเมืองชั้นสองไปก่อน ในตอนท้าย เขาเสนอว่าการจะแก้ปัญหานี้ได้จะต้องมีสถาบันทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนซึ่งข้อดีคือประชาชนคาดหวังกับตัวแทนเหล่านี้ได้มากกว่า

นุรฮายาตี เล่าถึงกิจกรรมทางกลุ่มของเธอจัดขึ้นว่า เป็นการจัดตั้งทีมฟุตบอลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งก็เป็นการเสริมสร้างพลังของความหลากหลายทางเพศให้เข้มแข็งในชุมชน ซึ่งในชุมชนก็มักมีการกลั่นแกล้งผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ทีมฟุตบอลที่ตั้งขึ้นจะเป็นที่พักพิงให้กับผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งเหล่านี้ ทางผู้สื่อข่าวประชาไทได้สัมภาษณ์เธอเพิ่มเติมในภายหลังและได้ทราบว่า ในการเล่นนั้นจะไม่แบ่งเพศกัน ทุกเพศจะเล่นด้วยกัน ส่งลูกให้กัน ซึ่งเป็นการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน โดยอายุของสมาชิกทีมฟุตบอลนี้อยู่ระหว่าง 12-22 ปี “เราปกป้องสิทธิของทุกคน เราให้เกียรติทุกคน” นี่เป็นคำตอบของเธอเมื่อถูกถามว่าทำไมทำงานกลับกลุ่มความหลากหลายทางเพศซึ่งเป็นกลุ่มที่ขัดกับหลักศาสนา
เด็กก็ควรมีสิทธิในตัวเอง

ส่วน พิมพิศา พูดถึงประเด็นด้านสิทธิเด็กกับ พ.ร.บ. สุขภาพจิต โดยเธอเล่าสิ่งที่เธอเจอมากับตัวเองว่า เธอถูกพ่อแม่จับตัวส่งโรงพยาบาลจิตเวชโดยที่ไม่ได้ถามถึงความสมัครใจของเธอแม้แต่น้อย และในโรงพยาบาลดังกล่าวเธอถูกละเมิดสิทธิและปฏิบัติอย่างไม่เป็นมนุษย์ เธอกล่าวว่าไม่มีอะไรปกป้องเธอจากความต้องการของพ่อแม่ได้เลย พอเธอหนีพ่อแม่ไปที่มูลนิธิเด็กก็ถูกตำหนิว่าอกตัญญู เธอกล่าวถึงประเด็นสิทธิว่ามันไม่มีอะไรที่จะปกป้องเด็กจากการละเมิดได้เลย พ.ร.บ. จะไม่ให้ผู้ป่วยตัดสินใจรับการรักษาเลยไม่ว่าอาการจะเบาหรือรุนแรง “ผู้ป่วยไม่ได้ไปละเมิดใคร แต่การจับเค้าไปส่งโรงพยาบาลบ้ามันละเมิดกันอย่างชัดเจน” เธอได้กล่าวเพิ่มว่าเด็กควรจะสามารถบรรลุนิติภาวะเร็วขึ้นเพื่อที่จะได้มีสิทธิในการจัดการตัวเอง
การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง

Ammadiva พูดถึงการที่ในพื้นที่การแสดงไม่ค่อยเห็นความสามารถของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ “ปัญหาอย่างหนึ่งเวลาเราเป็นตุ๊ด เค้าจะไม่เอาเราไปเล่น” โดยเธอกล่าวว่าไม่ค่อยมีใครเชื่อมั่นว่า “ตุ๊ด” จะสามารถแสดงบทที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งอย่างบทผู้ชายได้ เธอไม่ได้มองว่าการที่ในละครมีบทกลุ่มความหลากหลายทางเพศน้อยว่าเป็นปัญหา แต่ปัญหาคือบทมีไม่เพียงพอต่อนักแสดงที่เป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศในชีวิตจริง เธอมองว่าทั้งๆ ที่เธอสามารถแสดงได้โดยไม่จำเป็นที่บทนั้นจะต้องแต่งหญิงแต่ปัญหาคือคงไม่มีใครจ้างในบทแบบนี้ แต่ถ้าทุกคนมองเธอว่าเป็นคนคนหนึ่ง เธอก็จะเล่นละครในบทที่หลากหลายได้

“เรากำลังสร้างคำมากมาย เพื่อที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว เราไม่ต้องมีคำอะไรเลยนอกจากคำว่า ชั้นเป็นคนคนนึง” Ammadiva กล่าว


ปัถวี เทพไกรวัล หรือ Ammadiva ผู้เข้าแข่งขันรายการ Drag Race Thailand

ชิษณุพงศ์ เล่าว่าครั้งหนึ่งในสมัยมัธยมศึกษา เธอเคยถูกอาจารย์ตำหนิว่าอัตลักษณ์LGBT ของเธอไม่เหมาะกับวัฒนธรรมไทย ซึ่งทำให้เธอตั้งคำถามต่อคำนิยาม “ความไม่เหมาะสม” เมื่อเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย เธอก็ถูกอาจารย์บอกว่า ท่าทางของเธอดูไม่เหมาะกับงานวิชาการ และเมื่อเธอเรียนจบ เธอก็ได้รู้ว่าเพื่อนของเธอไม่ผ่านการสมัครงานเพียงเพราะเป็น LGBT ซึ่งถูกมองว่าไม่เหมาะสม ไม่มีใครอยากติดต่อด้วย สิ่งที่เธอต้องการคืออยากให้มีการรับรองอัตลักษณ์ของ LGBT ในทางกฎหมายและในด้านการยอมรับที่จะมองว่า LGBT ก็มีความสามารถ “การเปลี่ยนมันจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเราไม่เริ่มในวันนี้” เธอกล่าวในตอนท้าย

สำหรับ จรัญ เขาพูดถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศมีอยู่จริง ผู้ที่ถูกปฏิเสธการจ้างงานเพราะอัตลักษณ์ทางเพศมีอยู่จริง คนที่มีปัญหาด้านการดำเนินงานเอกสารเพราะอัตลักษณ์ทางเพศมีอยู่จริง คนที่โดนรังแกหรือถูกทำร้ายเพราะอัตลักษณ์ทางเพศมีอยู่จริง นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงทางโครงสร้างอย่างเช่นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจรัญกล่าวว่าเขาอยากเห็นประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาพูด ถูกยกมาเป็นวาระทางการเมือง

“ถึงเวลารึยังที่สังคมนี้ จะเป็นของคนทุกๆ คน” จรัล กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับ กาญจนพงค์ รินสินธุ์ ผู้รายงานฉบับนี้ ปัจจุบันฝึกงานกับประชาไท เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.