Posted: 30 Nov 2018 07:29 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Fri, 2018-11-30 22:29


คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เตรียมร้อง ป.ป.ช. ปมกองทุนประกันสังคมจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมซ้ำซ้อน ด้าน เลขา สปส. แจงประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเพิ่มให้ รพ. อิงค่า HA เพื่อเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน

30 พ.ย.2561 จากกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยถึงการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม ว่ามีการบริหารงานด้วยการจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคมที่ซ้ำซ้อน เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินเหมาจ่ายรายหัว โดยเฉพาะกรณีการจ่ายค่าตามมาตรฐานคุณภาพสถานพยาบาล หรือค่าเอชเอ (HA) โดยจ่ายไปกว่า 8-9 พันล้านบาท จนต้องมีการฟ้องศาลปกครองถึงมีการยกเลิก แต่ประกาศใหม่กลับไม่แตกต่างมีการจ่ายในลักษณะเหมือนเดิมนั้น
รมว.แรงงาน เร่ง 'ประกันสังคม' ชี้แจง

ต่อมา 29 พ.ย.2561 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับรายงานปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งได้รับการชี้แจงจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ว่า เป็นเรื่องของการให้บริการและดูแลผู้ประกันตน เนื่องจากปี 2551 เกิดปัญหาการร้องเรียนมากว่า ไม่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาลในเครือข่าย ดังนั้น สปส.โดยคณะกรรมการการแพทย์ จึงหาแนวทางในการพัฒนาระบบการให้บริการ อย่างไรก็ตาม เจตนาจริงๆ ของสปส.คือ ต้องการให้ผู้ประกันตนได้รับการดูแลและบริการอย่างดีที่สุด แต่เมื่อมีข้อท้วงติงเข้ามา ได้เร่งมอบหมายให้ทาง สปส.หาข้อมูลและรายเอียดเพื่อชี้แจงให้รับทราบอีกครั้ง
แจงประกาศหลักเกณฑ์จ่ายเพิ่มให้ รพ. อิงค่า HA เพื่อเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐาน

อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ชี้แจงว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีตัวแทนผู้ประกันตน นายจ้าง และสถานพยาบาลเห็นด้วย และค่าบริการทางการแพทย์เดิมจะจ่ายในรูปแบบเหมาจ่าย ซึ่งไม่สะท้อนคุณภาพ การให้บริการแก่ผู้ประกันตน ดังนั้น การจ่ายค่าบริการเพิ่มเป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาล และเป็นในลักษณะเดียวกับเงินเหมาจ่าย จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการเพื่อให้ได้รับ การดูแลรักษาที่ดีขึ้น และยังเป็นการป้องกันการเกิดข้อร้องเรียนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับการรักษาไม่เหมาะสม ตามมาตรฐานทางด้านการแพทย์ อีกทั้งเป็นการจ่ายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการเข้ารับบริการ ทางการแพทย์ ซึ่งมีตัวชี้วัดความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการใช้บริการ โดยสะท้อนผลลัพธ์การให้บริการ ของสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินทุกประเภทของสำนักงานประกันสังคมมีระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง) ข้อ 12 (1) จ่ายเป็นค่าบริการ ทางการแพทย์ หรือค่ายาตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวอีกว่า สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่ การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน
ยัน เดินหน้าต่อร้อง ป.ป.ช.ปมใช้จ่ายประกันสังคม ซ้ำซ้อน

ขณะที่ วันเดียวกัน (29 พ.ย.61) ชาลี ลอยสูง รองประธาน คสรท. กล่าวถึงกรณีนี้เพิ่มเติมว่า ทางคสรท. ได้ไปยื่นหนังสือต่อเลขาธิการ สปส. เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา ว่า เรื่องนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งในเรื่องของประกาศหลักเกณฑ์ตัวเก่า และประกาศหลักเกณฑ์ตัวใหม่ แม้ในเดือนมกราคม 2561 ทางสปส.จะยกเลิกการใช้ประกาศที่กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินให้โรงพยาบาลตามสิทธิอิงตามมาตรฐานค่าเอชเอแล้วก็ตาม แต่ในความเป็นจริง เงินที่มีการใช้ไปตามหลักเกณฑ์เดิมที่ออกมาตั้งแต่ปี 2552 แต่หากนับความเสียหายจะอยู่ตั้งแต่ปี 2557 โดยรวมประมาณ 9 พันล้านบาท ตรงนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบในการนำเงินมาคืนแก่กองทุน

“เพราะหลักเกณฑ์เก่าก็ชัดเจนแล้วว่า ทำไม่ได้ ทำไมเราต้องจ่ายเงินค่ามาตรฐานเอชเอให้แก่โรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานอยู่แล้ว แบบนี้จะบอกว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ รพ.ปรับปรุงมาตรฐานการบริการให้มากขึ้น ซึ่งผมว่าไม่เกี่ยวกัน ที่สำคัญเรื่องนี้เราเคยฟ้องศาลปกครองกลาง สุดท้ายสปส.ยกเลิกประกาศนี้ และออกประกาศหลักเกณฑ์ใหม่ แสดงว่าตัวเองยอมรับว่า หลักเกณฑ์เก่าที่จ่ายเพิ่มว่า รพ.ไหนผ่านเกณฑ์มาตรฐานเอชเอ จะได้เงินเพิ่ม 80 บาทนั้น มีปัญหาจึงต้องเปลี่ยนใช่หรือไม่” ชาลี กล่าว

รองประธาน คสรท. กล่าวอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ทาง คสรท. จะเดินหน้าทวงความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกันตนทุกคนด้วยการจะยื่นร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 4 หน่วยงาน คือ 1.คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่พิจารณาตัดสิน 2.คณะกรรมการการแพทย์ ซึ่งเสนอเรื่องต่อบอร์ดสปส.ให้อนุมัติ และจะฟ้องอีก 2 หน่วยงาน คือ สปส. และกระทรวงแรงงาน ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่มาตรา 157 เนื่องจากอย่างสปส. เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน ในฐานะเลขานุการบอร์ดฯ และกระทรวงแรงงาน ซึ่งหน่วยงานในกำกับทำผิดก็ควรต้องทราบ โดยจะร้องให้มีการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบ เพื่อนำเงินคืนเข้าสู่กองทุนประกันสังคม

“ส่วนกรณีการออกหลักเกณฑ์ใหม่เป็นการเลี่ยงบาลี เนื่องจากมีการตัดคำว่าเอชเอออกจริง แต่กลับระบุเป็นค่าบริการทางการแพทย์ โดยระบุว่า สถานพยาบาลที่การให้บริการมีคุณภาพ และผลลัพธ์คุณภาพตรงตามตัวชี้วัดที่กำหนดจะได้เพิ่มในอัตราไม่เกิน 60 บาทต่อคนต่อปี ตรงนี้ถามว่าต่างจากการให้เพิ่มกรณีเอชเอ อย่างไร เพราะการระบุตรงนี้อยู่ในส่วนของการจ่ายตามค่าเหมาจ่ายรายหัวของผู้ประกันตนที่ทาง สปส.จ่ายให้รพ.ในเครือข่ายอยู่แล้วจำนวน 1,500 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น ถือว่าซ้ำซ้อนเหมือนเดิม ขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเช่นกัน ซึ่งกำลังรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมส่งให้ทางศาลปกครองภายในเดือนธันวาคมนี้” ชาลี กล่าว



ที่มา : มติชนออนไลน์ เดลินิวส์ ข่าวสดออนไลน์ และผู้จัดการออนไลน์

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.