Posted: 15 Dec 2018 09:05 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท www.prachatai.com)
Submitted on Sun, 2018-12-16 00:05


15 ธ.ค. 2561 ที่ห้อง 103 ตึก 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวเครือข่าย We Watch พร้อมทั้งมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ว่าด้วยบทเรียนและบทบาทในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย” โดยเครือข่ายดังกล่าวได้แสดงจุดยืนมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมทางการเมืองในภาคประชาชน และสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างกฎเกณฑ์ที่ยอมรับร่วมกันในสังคม

ในงานมีการอ่านแถลงการณ์เครือข่าย We Watch โดยกลุ่มตัวแทนเครือข่าย เรื่องการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย โดยเรียกร้องเชิญชวนประชาชน ภาคประชาสังคม ร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้ง และร่วมสร้างให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิยุติธรรม มีอิสระ เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และมีผลในทางปฎิบัติ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ กกต. มีความกล้าหาญในการรักษาความเป็นอิสระของตนเอง และเรียกร้อง คสช. หยุดแทรกแซงการเลือกตั้ง


แถลงการณ์เครือข่าย We Watch เรื่อง การสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย

ประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาประชาชนมีบทเรียนราคาแพงว่า สังคมใดที่ไม่มีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ในไม่ช้าก็เร็ว การใช้ความรุนแรงก็จะกลายเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ การเปิดพื้นที่กลางสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชน และการสร้างกระบวนการรองรับกับความคิดเห็นที่แตกต่างในสังคมจึงเป็นสิ่งที่มีสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กระบวนการการเลือกตั้ง เป็นหนึ่งในกระบวนการที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับความคิดเห็นที่หลากหลาย และผลประโยชน์ที่แตกต่างกันของคนกลุ่มต่างๆในสังคม แต่ทว่าการเลือกตั้งต้องวางอยู่บนเงื่อนไขที่มีความความเป็นอิสระ (Free) ยุติธรรม (Fair) จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (Regular) และมีความหมายต่อประชาชน (Meaningful) จึงจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม

ข่าวเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ได้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจ เนื่องจาก หลังการเลือกตั้งปี 2554 สังคมไทยไม่ได้มีการเลือกตั้งมากว่า 7 ปีแล้ว (ทั้งนี้ไม่นับรวมการเลือกตั้งปี 2557 ที่ถูกประกาศให้เป็นโมฆะ) การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไม่สามารถสร้างความชอบธรรมให้กับการบริหารประเทศได้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้กลับเต็มไปด้วยคำถามและข้อสงสัยต่อความเชื่อมั่นว่าจะมีความเป็นอิสระ ยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่ เนื่องจากการเลือกตั้งเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารที่มีทั้ง “มาตรา 44” “ประกาศคณะคสช.” และ “คำสั่งของหัวหน้าคสช.” คอยกำกับ

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ได้เกิดข้อท้าทายกับประชาชนและองค์กรสังเกตการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำอย่างไรการเลือกตั้งครั้งนี้จึงจะสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง และเป็นก้าวสำคัญสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยในระยะยาว

ด้วยความท้าทายทั้ง 2 ประการ เราในนาม “We Watch” ซึ่งเป็นองค์กรสังเกตการณ์เลือกตั้งขอแถลงจุดยืนและข้อเรียกร้องต่อสาธารณะดังนี้

1. We Watch เป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่เชิดชู สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน มีบทบาทในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและยุติธรรม เป็นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้

2. เครือข่ายเรามีสมาชิกทั่วประเทศและจะขยายให้ครอบคลุมหน่วยเลือกตั้งให้มากที่สุด เพื่อทำให้เป็นเครือข่ายที่เป็นพื้นที่ของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบทางการเมืองด้านการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง

3. We Watch เป็นเครือข่ายที่เป็นกลาง อันหมายถึง มีความเป็นอิสระจากฝ่ายต่างๆ เราเชื่อว่าความเป็นอิสระจะทำให้เรามีความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็น และสามารถนำเสนอข้อมูลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งได้อย่างตรงไปตรงมา

4. เครือข่ายของเรามุ่งทำหน้าที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งในครั้งนี้ มิได้มุ่งหมายเพียงการตรวจสอบการเลือกตั้งว่ามีการทุจริต หรือเป็นไปอย่างอิสระและยุติธรรมหรือไม่เท่านั้น แต่ยังหมายถึง การสร้างบรรยากาศให้การเลือกตั้งกลายเป็นความหวังและมีผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

5. เราสนับสนุนให้พรรคการเมืองแข่งขันกันอย่างอิสระและเป็นธรรม หากพบว่าคู่แข่งขันและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งดำเนินการอย่างไม่ยุติธรรม พรรคการเมืองควรนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคมและเรียกร้องให้เกิดการแก้ไข

6. เราจะนำเสนอข้อมูลการสังเกตการณ์การเลือกตั้งทั้งสามช่วงประกอบด้วย ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงเลือกตั้ง และช่วงหลังการเลือกตั้ง สู่สาธารณะเพื่อทำให้ทุกคนสนใจ เห็นความเป็นไปของกระบวนการจัดการเลือกตั้ง และเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ และช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์รวมถึงนำเสนอข้อเสนอแนะจากมุมมองของประชาชนเพื่อทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นอิสระและเป็นธรรมมากขึ้น

7. เราขอเชิญชวนให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจต่างๆ ผู้หวงแหนในสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน เข้าร่วมการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพราะนี่เป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ประชาชนได้ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่องและจะสืบทอดต่อไปในอนาคต ทั้งนี้เพื่อทำให้สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนได้รับการรับรองและขยายสู่ประชาชนทุกคนและครอบคลุมทุกประเด็น การสังเกตการณ์ครั้งนี้เป็นการสร้างประสิทธิภาพให้การเลือกตั้งและกลไกการมีส่วนร่วมและตรวจสอบทางการเมืองของประชาชน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประชาธิปไตยและการรับประกันสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนต่อไป

8. เราขอเรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรอิสระที่มีหน้าที่และอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง ได้ทำหน้าที่โดยเป็นอิสระ และมีความกล้าหาญในการรักษาความเป็นอิสระของตน รวมถึงเร่งแก้ไขข้อบกพร่องต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้การเลือกตั้งอาจไม่มีความชอบธรรม เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นความหวังของประชาชนได้

9. ขอชื่นชมข้าราชการทุกหน่วยงานที่วางบทบาทเป็นกลาง และกล้าหาญเพียงพอในการปฏิเสธการเข้าร่วมการกระทำที่จะทำลายความเป็นอิสระและยุติธรรมของการเลือกตั้ง

10. ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หยุดการแทรกแซงการเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งปราศจากข้อครหา และหลีกเลี่ยงหนทางแห่งความรุนแรงระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังการเลือกตั้ง

15 ธันวาคม 2561
ณ ห้อง 103 ตึก 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.