iLaw

ข้อหา’ยุยงปลุกปั่น’ ตามกฎหมายอาญามาตรา 116 กลับมาอีกครั้ง หลังมีกระแสจดหมายปริศนาไร้ชื่อผู้ส่งและผู้รับถูกกระจายหลายพันฉบับในพื้นที่ภาคเหนือ เนื้อในบรรจุข้อความความคิดเห็น ต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ท้ายที่สุด เหตุดังกล่าวมีคนถูกจับกุมและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ และผิดตามมาตรา 116

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2559 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตรวจพบการส่งจดหมาย “บิดเบือน” เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมากกว่า 7,000 ฉบับ ไปตามที่ต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือ 27 กรกฎาคม 2559 ทหารจากค่ายกาวิละนำกำลังเข้าควบคุมตัวบุคคลรวมเจ็ดคนไปที่ค่ายกาวิละเพื่อสอบถามและเตรียมดำเนินคดี

วันเดียวกันที่กรุงเทพมหานคร ทหารควบคุมตัวทัศนีย์ อดีต ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างรอเข้าพบ ผบ.ตร. เพื่อแสดงความบริสุทธิกรณีที่ถูกเชื่อมโยงว่าเกี่ยวข้องกับการส่งจดหมายบิดเบือนข้างต้น พ.อ.บุรินทร์แจ้งว่า การควบคุมตัวครั้งนี้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 โดยทัศนีย์ถูกนำตัวไปควบคุมที่ มทบ. 11 ร่วมกับผู้ที่ถุกควบคุมตัวก่อนหน้านี้

ทั้งหมดถูกสงสัยว่ามีความเชื่อมโยงกับการเผยแพร่จดหมายบิดเบือนเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเนื้อความในจดหมายดังกล่าวระบุว่า “ตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ผู้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลฟรีคือ ‘ผู้ยากไร้’เท่านั้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ก็จะต้องเป็น ‘บุคคลยากไร้’ เท่านั้น ขณะที่คำว่า ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ก็ไม่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สำหรับสิทธิการศึกษา ก็มีการตัดสิทธิเรียนฟรีช่วงมัธยมปลายออกไป”

2 สิงหาคม 2559 ทหารคุมตัวทั้ง 11 ไปที่กองบังคับการปราบปราม เพื่อตรวจร่างกายและรับทราบข้อกล่าวหารวม 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 , ร่วมกันเป็นซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และร่วมกันเผยแพร่ข้อความที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือกล่าวหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญตาม พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง

คดีนี้เป็นอีกครั้งที่น่าสนใจว่า เนื้อความในเอกสารที่เป็นเหตุแห่งการจับกุม บิดเบือนหรือไม่ อย่างไร เพราะหากวิเคราะห์และเทียบตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม

– มาตรา 47 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ” ซึ่งก็ไม่มีบัญญัติว่า ‘เฉพาะ’ ผู้ยากไร้แต่อย่างใด แต่ก็ไม่มีบัญญัติรวมถึงบุคคล ‘สถานะอื่นๆ’ เช่นกัน และยังไม่ชัดเจนว่านิยามของคำว่า ‘บุคคลผู้ยากไร้’ เป็นอย่างไร

– มาตรา 48 วรรคสอง บัญญัติไว้ว่า “บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีและไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ และบุคคลผู้ยากไร้ ย่อมมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐตามที่กฎหมายกำหนด” เช่นกันกับมาตรา 47 ไม่มีบัญญัติว่า ‘เฉพาะ’ ผู้ยากไร้แต่อย่างใด แต่ก็ไม่มีบัญญัติรวมถึงบุคคล ‘สถานะอื่นๆ’ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีบัญญัติถึง ”เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ” แต่อย่างใด

– มาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย” ซึ่งก็หมายความว่า สิทธิในการเรียนฟรีในระดับม.4-ม.6 ก็จะไม่มีตามที่เอกสารระบุไว้จริง และหากจะออกกฎหมายเพิ่มเติมภายหลังให้สิทธิเรียนฟรีก็คงทำได้ยาก เนื่องจากจะขัดกับมาตรา 54 ข้างต้น

อีกประเด็นที่สังเกตได้คือการแจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนักในอดีต เพราะมีเหตุให้ใช้ไม่บ่อย แต่หลังรัฐประหารในปี 2557 ข้อหานี้ถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ก่อนหน้าที่คนถูกดำเนินคดีนี้อย่างน้อย 47 คน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในทิศทางตรงข้ามกับรัฐบาล คสช. จนเข้าลักษณะเป็นการตั้งข้อหาเพื่อหวังผลทางการเมือง

การตั้งข้อหาด้วยมาตรา 116 และดำเนินคดีต่อศาล อาจไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นภัยต่อสังคมโดยตรง แต่หลายกรณี รวมถึงกรณีนี้ พอเห็นได้ว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการตั้งข้อหาและดำเนินคดีตามมาตรา 116 อยู่ด้วย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน มีข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ ต้องการให้คดีนี้ขึ้นศาลทหาร ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีในประมวลกฎหมายอาญาหมวด “ความมั่นคง” และคดีฐานฝ่าฝืนประกาศและคำสั่ง คสช. ที่พลเรือนตกเป็นผู้ต้องหาต้องพิจารณาที่ศาลทหาร

เมื่อใช้วิธีตั้งข้อหา ‘116’ เข้าไปด้วยก็ทำให้คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหารได้ทันที แม้ว่าการกระทำยังคลุมเครือว่าเข้าองค์ประกอบความผิดของมาตรา 116 หรือไม่ และด้วยโทษที่สูง มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ทำให้หลักทรัพย์ที่จะใช้ในการประกันตัวก็สูงขึ้นไปด้วย ตัวอย่างจากคดีของ ชัชวาลย์ นักข่าวอิสระจากจังหวัดลำพูน ที่รายงานข่าวการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารผิดวัน และถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 116 ซึ่งต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัวสูงถึง 400,000 บาท ก่อนท้ายที่สุดคดีนั้นศาลทหารเชียงใหม่จะยกฟ้อง

ทั้งนี้จากที่ต้องไปพิจารณาคดีที่ศาลทหาร และอัตราโทษที่สูง นอกจากจะเป็นลักษณะ ขู่ผู้ต้องหาให้เกรงและเป็นกังวลกับผลคดีของตัวเองแล้วอัตราโทษหนัก ยังสามารถ ‘ปราม’ ให้คนอื่นในสังคมรู้สึกเกรงและไม่กล้ากระทำในลักษณะเดียวกันได้อีกด้วย อาจถือได้ว่า วิธีนี้เป็นอีกหนึ่ง ‘ยาแรง’ ที่ใช้ ‘ปิดปาก’ ฝ่ายที่มีความคิดเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐ โดยเฉพาะบรรยากาศสุกดิบก่อนออกเสียงประชามติในขณะนี้



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.