“พร็อกซิมา บี” ดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงใหม่ จะสามารถเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอนาคตได้หรือไม่ ?
ทีมนักดาราศาสตร์จากควีน แมรี ยูนิเวอร์ซิตี ออฟ ลอนดอน เผยแพร่ข้อมูลการค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ “พร็อกซิมา บี” ลงในวารสารเนเจอร์ โดยระบุว่าดาวดวงนี้มีสภาพแวดล้อมคล้ายโลกมากที่สุด ซึ่งมนุษย์ในอนาคตอาจย้ายไปตั้งถิ่นฐานบนดาวดังกล่าวได้ เนื่องจากอยู่ไม่ไกลจากระบบสุริยะมากนัก
ดาวเคราะห์ “พร็อกซิมา บี” เป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์ “พร็อกซิมา เซ็นทอรี” โดยดาวเคราะห์นี้มีขนาดใกล้เคียงกับโลก และอยู่ในระยะโคจรห่างจากดาวฤกษ์พอเหมาะต่อการมีน้ำบนพื้นผิวดาวด้วย ซึ่งยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ในการที่มนุษย์จะสามารถดำรงชีวิตบนดาวเคราะห์ดังกล่าว
ทั้งนี้ “พร็อกซิมา บี” มีมวลมากกว่าโลก 1.3 เท่า โคจรห่างจากดาวฤกษ์ 7.5 ล้านกิโลเมตร ทำให้ต้องใช้เวลาราว 11.2 วันในการโคจรครบ 1 รอบ และแม้ “พร็อกซิมา บี” จะอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของตนมากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ แต่พลังงานที่ได้รับจากดาวฤกษ์รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ นับว่าใกล้เคียงกับโลก เนื่องจากดาวฤกษ์ “พร็อกซิมา เซ็นทอรี” นั้นเป็นดาวแคระแดง ซึ่งมีอายุอยู่ในระยะที่ความร้อนลดน้อยลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม การที่จะชี้ชัดลงไปว่า ดาว “พร็อกซิมา บี” สามารถเป็นที่ตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ของมนุษย์ได้หรือไม่นั้น ยังต้องศึกษาถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในอีกหลายประเด็น เช่นสภาพบรรยากาศของดาว ซึ่งยังไม่สามารถศึกษาได้ด้วยการใช้ยานสำรวจโดยตรง แต่อาจใช้วิธีการสังเกตปรากฏการณ์ที่ “พร็อกซิมา บี” เคลื่อนผ่านหน้าดาวฤกษ์ เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของบรรยากาศดาวแทนได้
นอกจากนี้ แม้ “พร็อกซิมา บี” จะอยู่ใกล้กับระบบสุริยะมาก แต่ก็คิดเป็นระยะทางถึง 40 ล้านล้านกิโลเมตรจากโลก ซึ่งหากเดินทางด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องใช้เวลาหลายพันปีจึงจะเดินทางไปถึงดาวดวงนี้
แสดงความคิดเห็น