ผลวิจัยชี้ ศาลอาจวินิจฉัยเจตนาของอาชญากรผิดพลาด หากดูหลักฐานจากภาพวิดีโอแบบสโลว์โมชัน
นักวิจัยด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโกของสหรัฐฯ เผยผลการวิจัยล่าสุดในวารสาร PNAS ซึ่งระบุว่า ผู้พิพากษาหรือคณะลูกขุนมีแนวโน้มจะวินิจฉัยคดีผิดพลาด หากได้ดูหลักฐานที่เป็นภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดซึ่งนำมาเล่นซ้ำช้า ๆ แบบสโลว์โมชัน โดยการเล่นวิดีโอแบบนี้มักทำให้ผู้ชมเห็นว่า อาชญากรมีเจตนาในการกระทำความผิดมากและรุนแรงเกินกว่าความเป็นจริง
คณะนักวิจัยระบุว่า ปัจจุบันภาพวิดีโอจากกล้องวงจรปิดหรือภาพเหตุการณ์จริงที่บันทึกไว้ด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ เข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่อย่างมาก และการนำภาพเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและสับสนมาเล่นซ้ำช้า ๆ แบบสโลว์โมชัน เพื่อประกอบการพิจารณาคดีได้อย่างชัดเจนนั้น นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน การฉายวิดีโอแบบสโลว์โมชันนั้นมีผลทางจิตวิทยา ทำให้ผู้ชมเกิดการรับรู้ที่บิดเบือนว่า อาชญากรมีเวลาในการไตร่ตรองและลงมือกระทำความผิดมากกว่าความเป็นจริง ทำให้ดูเหมือนว่าอาชญากรมีเจตนารุนแรง และส่งผลให้ศาลตัดสินความผิดด้วยโทษที่รุนแรงเกินจริงได้
มีการทดลองให้อาสาสมัครสวมบทบาทเป็นคณะลูกขุน แล้วให้ชมภาพวิดีโอเหตุการณ์ปล้นร้านค้า ซึ่งภายหลังลูกจ้างของร้านถูกยิงเสียชีวิต โดยแยกอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้ชมภาพความเร็วปกติ กลุ่มที่ได้ชมภาพสโลว์โมชัน และกลุ่มที่ได้ชมทั้งสองแบบ พบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้ชมภาพสโลว์โมชัน มีแนวโน้มจะตัดสินว่าอาชญากรลงมือฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มากกว่ากลุ่มที่ชมภาพความเร็วปกติถึง 3.42 เท่า ในขณะที่กลุ่มที่ได้ชมภาพทั้งสองแบบ มีแนวโน้มจะตัดสินว่าอาชญากรลงมือฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อนมากกว่ากลุ่มที่ชมภาพความเร็วปกติ 1.55 เท่า
ผลการวิจัยดังกล่าว ทำให้มีผู้เสนอให้ขึ้นตัวเลขแสดงเวลาในวิดีโอประกอบไปด้วย ขณะที่มีการเล่นวิดีโอบันทึกเหตุการณ์ซ้ำแบบสโลว์โมชันในศาล เพื่อเตือนให้ผู้พิพากษาและคณะลูกขุนที่ชมวิดีโออยู่รู้สึกถึงช่วงเวลาของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งคณะนักวิจัยคาดว่าอาจช่วยแก้ไขปรากฏการณ์ทางจิตวิทยานี้ได้บ้าง แต่คงจะไม่ใช่ทั้งหมด
แสดงความคิดเห็น