ชี้ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอาไส้ติ่งและต่อมทอนซิลออก มีแนวโน้มตั้งครรภ์ง่ายขึ้น
ผลการวิจัยเป็นเวลา 15 ปี จากมหาวิทยาลัยดันดี ในสกอตแลนด์ บ่งชี้ว่า สตรีในวัยเจริญพันธุ์ที่ผ่าตัดเอาไส้ติ่งและต่อมทอนซิลออกไป มีแนวโน้มจะมีภาวะการเจริญพันธุ์ที่ดีและสามารถตั้งท้องได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า แม้จะเป็นผลการศึกษาที่น่าสนใจ แต่ไม่แนะนำให้ผ่าตัดเอาไส้ติ่งและต่อมทอนซิลออกเพื่อกระตุ้นการเจริญพันธุ์โดยเฉพาะ
ผลการวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility โดยทีมนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลของผู้หญิงอังกฤษกว่า 500,000 คน และพบว่าการผ่าตัดเอาอวัยวะที่เกิดการอักเสบได้ง่ายออกไปนั้น จะช่วยให้ผู้หญิงมีแนวโน้มตั้งครรภ์ได้ง่ายขึ้น โดยนักวิจัยคาดว่าอาจเป็นเพราะอวัยวะทั้งสองทำให้ระดับการอักเสบในร่างกายเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อรังไข่และมดลูก
ส่วนข้อสันนิษฐานอีกประการอาจมาจากพฤติกรรมของผู้หญิงเอง เช่น ผู้หญิงที่ชอบมีกิจกรรมทางเพศอย่างเสรี หรือมีคู่นอนหลายคน มักมีแนวโน้มสูงขึ้นที่จะตั้งครรภ์ หรือเกิดภาวะอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะนำไปสู่การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกไปนั่นเอง
ดร.ซามี ชิมี หนึ่งในทีมนักวิจัยบอกว่า การค้นพบครั้งนี้หักล้างความเชื่อของแพทย์ส่วนใหญ่ที่คิดว่า การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกจะส่งผลเสียต่อภาวะเจริญพันธุ์ของสตรี ขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่หญิงสาวทั้งหลายว่า การผ่าตัดไส้ติ่งจะไม่ทำให้พวกเธอมีลูกยาก อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้กันต่อไป
ด้าน ศ.อัลลัน เพซีย์ จากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ ในอังกฤษ บอกกับบีบีซีว่า ผลงานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจและจะนำไปสู่การพัฒนายาและการรักษาเพื่อเสริมสร้างภาวะเจริญพันธุ์ของสตรีต่อไป อย่างไรก็ตาม เขาไม่แนะนำให้ผู้หญิงผ่าตัดเอาไส้ติ่งและต่อมทอนซิลออกเพื่อกระตุ้นการเจริญพันธุ์โดยเฉพาะ
แสดงความคิดเห็น