ซากฟันในฟอสซิลมูลฉลามชี้ ฉลามโบราณกินลูกตัวเอง
นักศึกษาด้านบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยบริสทอลของอังกฤษ พบฟอสซิลมูลของฉลามโบราณสายพันธุ์ Orthacanthus ซึ่งเก่าแก่ราว 300 ล้านปี ที่รัฐนิวบรันสวิกของแคนาดา โดยฟอสซิลนี้มีลักษณะพิเศษตรงที่มีซากฟันขนาดเล็กของลูกฉลามสายพันธุ์เดียวกันปนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ฉลามโบราณสายพันธุ์นี้มีพฤติกรรมกินลูกตัวเอง
นักบรรพชีวินวิทยาสามารถทราบได้ว่าฟอสซิลที่พบเป็นมูลของฉลามสายพันธุ์นี้ เนื่องจากซากมูลมีลักษณะเป็นเกลียวตามรูปร่างของลำไส้ที่มีลักษณะเฉพาะ ส่วนฟันของลูกฉลามที่พบก็มีลักษณะเช่นเดียวกับฉลามพันธุ์นี้ โดยมีฟันแหลมงอกเป็นเหมือนเขาสัตว์สองเขาบนฐานฟันซี่เดียวกัน
ฉลามโบราณชนิดนี้สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดภายในแผ่นดิน โดยกินสัตว์เลื้อยคลานและฉลามชนิดอื่นบางชนิดเป็นอาหารด้วย นักบรรพชีวินวิทยาสันนิษฐานว่า ฉลามชนิดนี้กินลูกของมันเองเมื่อประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก ขณะที่พวกมันเร่งขยายอาณาเขตเข้าไปยังแหล่งน้ำจืดที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินมากขึ้น เนื่องจากในยุค 300 ล้านปีก่อนนั้น มีการขยายตัวของพืชมากกว่าสัตว์ที่อาจเป็นอาหารของมันได้
ทั้งนี้ พฤติกรรมกินลูกตัวเองยังพบได้ในฉลามยุคปัจจุบัน เช่นในฉลามหัวบาตร (Bull shark) ซึ่งพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นเมื่อฉลามขาดแคลนอาหารหรือมีความจำเป็นอย่างถึงที่สุดเท่านั้น


แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.