เปิดตัวเครือข่ายสังเกตการณ์ประชามติ

องค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้ง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี รวมถึงสื่อทางเลือก รวมตัวกันเฉพาะกิจในฐานะ “เครือข่ายสังเกตการณ์ประชามติ” เพื่อทำหน้าที่สอดส่องและเก็บข้อมูลการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ซึ่งจะจัดขึ้นทั่วประเทศในวันที่ 7 ส.ค.นี้ โดยองค์กรที่เข้าร่วม ได้แก่ เครือข่าย We Watch, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), สำนักข่าวไทยพับลิก้า, ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ), และสำนักข่าวประชาไท

นายเอกพันธุ์ ปิณฑวณิช ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในองค์กรเครือข่าย ระบุว่าการลงประชามติครั้งนี้แตกต่างจากลงประชามติและการเลือกตั้งในอดีต เพราะไม่เห็นความพยายามที่จะทำให้เกิดการสอดส่องและติดตามกระบวนการลงประชามติครั้งนี้ ทั้งที่ปกติควรจะต้องมีองค์กรติดตาม ทั้งในช่วงก่อนลงประชามติ วันลงประชามติ และหลังประชามติ เพื่อให้เห็นว่าการประชามติมีความโปร่งใสและตรวจสอบได้

ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายจะร่วมมือกับอาสาสมัครภาคประชาชนที่จะช่วยสังเกตการณ์บรรยากาศการออกเสียงประชามติ รวมถึงเก็บรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จริง โดยมีเครือข่ายเป็นศูนย์กลางในการรายงาน ส่วนองค์กรด้านกฎหมายจะมุ่งเน้นประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยว่านับตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นมา มีการสั่งห้ามจัดกิจกรรมแสดงความคิดเห็นอย่างน้อย 25 งาน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 20 คน จาก พ.ร.บ.ประชามติ และอาจจะมีผู้ถูกคุมตัวหรือถูกนำตัวไปปรับทัศนคติอย่างเงียบๆ ซึ่งต้องขอให้ประชาชนช่วยกันจับตาและแจ้งข้อมูลกันเข้ามา

อีกประเด็นที่ต้องติดตามคือการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่จริงหรือคิดไปเอง รวมถึงการจงใจเลือกพูดหรือไม่พูดบางประเด็นที่เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งหากมีผู้แจ้งข้อมูลเข้ามา ทางไอลอว์ก็จะเปรียบเทียบข้อมูลที่ถูกเผยแพร่กับข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม เพื่อตรวจสอบว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงสถานะของเครือข่ายที่ไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะทำให้อาสาสมัครที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับผลกระทบหรือเป็นอันตรายหรือไม่ ทางเครือข่ายระบุว่าสาเหตุที่ไม่ได้รับการรับรองสถานะ เป็นเพราะกฎหมายไม่ได้ระบุเรื่ององค์กรสังเกตการณ์การลงประชามติในครั้งนี้ แต่เครือข่าย We Watch หรือกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ได้ติดต่อกับ กกต.มาตั้งแต่ต้น และ กกต.รับทราบถึงการดำเนินกิจกรรมของเครือข่ายโดยไม่ได้ขัดขวางแต่อย่างใด

ส่วนรูปแบบการเก็บข้อมูลจะเป็นการสังเกตการณ์ในฐานะบุคคลภายนอก ไม่ได้ประจำอยู่ในคูหาลงคะแนนตลอดกระบวนการเหมือนผู้สังเกตการณ์ที่ได้รับการรับรอง แต่ถือว่าสอดคล้องกับการทำหน้าที่ของอาสาสมัคร ซึ่งอาจจะเป็นผู้มาใช้สิทธิ์ลงประชามติ และทำหน้าที่สังเกตการณ์ไปด้วย ขณะที่เครือข่ายจะจัดทำคู่มือสังเกตการณ์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของอาสาสมัครเป็นหลัก

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.