นักวิทยาศาสตร์คาดภูเขาไฟซากุระจิมะของญี่ปุ่นอาจปะทุครั้งใหญ่ใน 30 ปี
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลของสหราชอาณาจักร และศูนย์วิจัยภูเขาไฟซากุระจิมะของญี่ปุ่น เผยแพร่รายงานการประเมินสถานการณ์ของภูเขาไฟซากุระจิมะในเมืองคาโกชิมะ บนเกาะคิวชูของญี่ปุ่น เมื่อวานนี้ (13 ก.ย.) โดยผลวิจัยบ่งชี้ว่าภูเขาไฟซากุระจิมะมีปริมาณหินหนืดหรือแม็กมาใต้เปลือกโลกประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีในปัจจุบัน และจะมีปริมาณหินหนืดสะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภูเขาไฟปะทุครั้งใหญ่ภายในรอบ 30 ปีต่อจากนี้
ดร.เจมส์ ฮิคลีย์ หัวหน้าคณะวิจัย คาดการณ์ว่าการปะทุของภูเขาไฟซากุระจิมะในรอบ 30 ปีต่อจากนี้อาจจะมีความรุนแรงเทียบเท่าการปะทุครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2457 (1914) ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 58 คน เพราะปริมาณหินหนืดสะสมในรอบกว่าหนึ่งร้อยปีจะทำให้เกิดก๊าซและแรงดันปริมาณมหาศาลใต้เปลือกโลก
ดร.ฮารุฮิสะ นากามิชิ ศาสตราจารย์ประจำสถาบันวิจัยและป้องกันภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยเกียวโตของญี่ปุ่น เปิดเผยว่าสำนักงานปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองคาโกชิมะจะเตรียมแผนอพยพและรับมือที่ครอบคลุมในกรณีที่ภูเขาไฟซากุระจิมะอาจจะปะทุครั้งใหญ่ในช่วง 30 ปีต่อจากนี้ เพื่อลดความเสี่ยงและการสูญเสียชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ ภูเขาไฟซากุระจิมะอยู่ห่างจากเมืองเซนได ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได ประมาณ 49 กม. ที่ผ่านมาภูเขาไฟดังกล่าวเกิดปะทุพ่นควันอยู่เป็นประจำในแต่ละปี ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และสำนักงานทางธรณีวิทยาของญี่ปุ่นจัดให้ภูเขาไฟซากุระจิมะเป็นภูเขาไฟที่เสี่ยงต่อการปะทุในระดับ 3 จากทั้งหมด 5 ระดับ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.