ข้าวดิ่งต่ำสุดรอบ 10 ปี พาณิชย์จ่อชงประยุทธ์นั่งหัวโต๊ะนบข.เคาะจำนำยุ้งฉางอีก 2 ล้านตัน

Posted: 29 Oct 2016 01:12 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ราคาล่วงหน้าธ.ค.ทุบสถิติต่ำสุดมากกว่า 10 ปี ด้านชาวนาพิจิตรว่า 200 ร้อง รบ.เร่งแก้ราคาข้าวตกต่ำ-ถูกพ่อค้า-โรงสีกดราคา ชาวนาโคราชช้ำโรงสีกดราคาหนัก ข้าวเปลือกเหลือแค่กก.5บาท


รายงานจาก กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่ง หมายเหตุ ไว้ด้วยว่า 1. ข้าวเปลือกสืบราคาจากตลาดกลาง/โรงสีในพื้นที่ 2.ข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้า เป็นราคา ณ ความชื้นไม่เกิน 15% 3. ข้าวสารเป็นราคาขายส่งตลาด กทม. 4. ข้าวสารบรรจุถุงสืบราคาจากห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ 5.ข้าวสารตวง สืบราคาจากร้านโชห่วย

29 ต.ค. 2559 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขราคาข้าวเปลือกและข้าวสารประจำวันที่27 ต.ค. ที่ผ่านมา ข้าวเปลือกหอมมะลิ ปี 2558/2559 จ.สุรินทร์ อยู่ที่ 10,100-10,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปรัง ปี 2559 จ.นครสวรรค์ 8,000-8,200 บาท/ตัน ขณะที่ ข้าวขาว 100%ชั้น 2 (ใหม่) 1,200-1,210 บาท/100 กก. ข้าวขาว 5%(ใหม่) 1,130-1,140 บาท/100 กก. ส่วน ข้าวสารบรรจุถุง (บาท/5 กก.)นั้น ข้าวหอมมะลิ 100% ตราหงษ์ทอง ถุงสีแดง (เก่า) 199-239 บาท ข้าวขาว 100% ตรามาบุญครอง ถุงสีฟ้า 143-149 บาท
ราคาล่วงหน้าธ.ค.ทุบสถิติต่ำสุดมากกว่า 10 ปี

วานนี้ (28 ต.ค.59) ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า หลังจากข่าวสถานการณ์ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิปีการผลิต 2559 / 2560 ปรับตัวลดลงอย่างมากโดยล่าสุดราคาล่วงหน้าธ.ค.ทุบสถิติต่ำสุดมากกว่า 10 ปี ข้าวเปลือก(ความชื้น 15%)เหลือ 8,000 กว่าบาท/ตัน หรือเป็นข้าวสาร 15,800 บาท/ตัน จากการที่มีผู้ส่งออกไปการตั้งราคาส่งออก เหลือ 590 เหรียญสหรัฐ/ตันไปยังตลาดจีนนั้น

วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) วันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทาง กระทรวงพาณิชย์จะเสนอราคารับฝากข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางเกษตรกร (จำนำยุ้งฉาง) ตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก เบื้องต้นกำหนดราคารับฝากข้าวหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกรออกมาแล้วว่าจะกำหนดราคา 90% ของราคาตลาด รวมค่าฝากเก็บอีกตันละ 1,500 บาท เป็นราคารับฝากข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาล 2559/60 ในยุ้งฉางของเกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายมีข้าวเปลือกเข้าโครงการ 2 ล้านตัน
"ราคา 90% ของราคาตลาดจะใช้คำนวณออกมาแล้วมารวมกับค่าฝากเก็บอีกตันละ 1,500 บาท ซึ่งจะเสนอให้นบข.อนุมัติ นอกจากนี้จะพิจารณาให้กลุ่มสหกรณ์ที่ต้องการเก็บสต๊อกข้าวในยุ้งฉางแต่ไม่มีพื้นที่ สามารถเช่าคลังหรือโกดังของโรงสีมาเข้าร่วมโครงการเก็บสต๊อกข้าวในยุ้งฉางได้ แต่ต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะเป็นอีกช่องทางที่จะช่วยดูดซับปริมาณข้าวมาเก็บสต๊อกไว้ก่อนในช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมาพร้อมกัน เพื่อดึงราคาไม่ให้ตกต่ำ" วิบูลย์ลักษณ์ กล่าว

อภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะให้สินเชื่อแก่เกษตรกร สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายข้าวเปลือกหอมมะลิเก็บในยุ้งฉางนั้น จะกำหนดราคารับฝากเก็บไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/ตัน (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) ซึ่งเกษตรกรจะได้รับค่าเตรียมข้าวเปลือกขึ้นยุ้งและค่าฝากเก็บเพิ่มจากเงินสินเชื่ออีก 1,500 บาท/ตัน โดยจะจ่ายให้พร้อมสินเชื่อ 1,000 บาท/ตัน และจ่ายเมื่อไถ่ถอนข้าวหรือระบายข้าวแล้ว 500 บาท/ตัน รวมวงเงินที่เกษตรกรจะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการรับฝากข้าวเปลือกในยุ้งฉาง 1.15 หมื่นบาท/ตัน มีเป้าหมายการเก็บสต๊อกประมาณ 2 ล้านตัน

นอกจากนี้ แนวทางช่วยเหลือในระยะสั้นยังมีโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันสถาบันเกษตรกรโดย ธ.ก.ส. จะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร เพื่อนำไปซื้อข้าวจากสมาชิกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งสถาบันเกษตรกรจะรับภาระดอกเบี้ยในอัตรา 1% เป้าหมาย 2.5 ล้านตัน โครงการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก เพื่อให้กลไกลตลาดการรับซื้อข้าวเปลือกของเกษตรกรมีการแข่งขัน เกษตรกรมีช่องทางเลือกและมีอำนาจต่อรองการขายข้าวเปลือก พาณิชย์จังหวัดได้กำหนดแผนการจัดตลาดนัดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในพื้นที่แล้วจำนวน 42 จังหวัด 102 ครั้ง


ชาวนาพิจิตรว่า 200 ร้อง รบ.เร่งแก้ราคาข้าวตกต่ำ-ถูกพ่อค้า-โรงสีกดราคา
วานนี้ ขาวสดออนไลน์และมติชนออนไลน์ รายงานตรงกันว่า มานะ วุฒิยากร นายกอบต.วังกรด และนายมานะ อินทโชติ นายกอบต.วังสำโรง พร้อมกลุ่มเกษตรกรทำนาปี อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร และเกษตรกรชาวนา ต.ดงตะขบ อ.ตะพานหิน กว่า 200 คน เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดพิจิตร เพื่อยื่นหนังสือกับนายวีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร โดยมีนายพัฒนา ล้อมวงษ์โสภณ ผองกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพิจิตร ได้รับเรื่องร้องทุกข์ของกลุ่มเกษตรกรชาวนา 2 อำเภอ

มานะ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรทำนาปี อ.บางมูลนาก กล่าวว่า ในนามของกลุ่มเกษตรกรทำนาปี อ.บางมูลนาก อยากให้รัฐบาลแก้ไขผลผลิตข้าวที่ตกต่ำในเวลานี้ เพราะตอนนี้กลุ่มชาวนาที่ปลูกข้าวนาปี โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ 105 ทราบข่าวมาว่าพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งสมาคมโรงสีข้าวจะรับซื้อข้าวหอมมะลิ 105 เกวียนละไม่เกิน 7,000 บาท ซึ่งตรงนี้ชาวนาอยู่ไม่ได้แน่นอน

มานะ กล่าวอีกว่า ต้นทุนการผลิตข้าว 1 ไร่ ได้ 500 กก./ไร่ หากเกวียนละ 7,000 บาท เกษตรกรชาวนาจะได้เงิน 3,500/ไร่ ลองนึกเอาค่าเช่านา 1 ไร่/1,500 บาท ไหนจะค่าปุ๋ย ค่ายาและค่ารถเกี่ยวข้าวอีก ตรงนี้ชาวนาอยู่ไม่ได้แน่นอน ที่เรามาในวันนี้อยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาให้ได้ในราคาเกวียนละ 1 หมื่น หากไม่ได้ พวกเราก็จะมากันใหม่

มานะ กล่าวอีกว่า อยากให้ผู้ว่าฯและรัฐบาล หามาตรการแก้ไขก่อนเก็บเกี่ยวข้าว เพราะเดือนหน้าจะเก็บเกี่ยวกันแล้ว ตอนนี้กลุ่มพ่อค้าข้าวกดราคาข้าวกันแล้ว ผู้ว่าฯและรัฐบาลน่าจะหามาตรการในการแก้ไข และช่วยเหลือเกษตรกรชาวนา ที่ผ่านมารัฐบาลชอบอิงราคาตามตลาดโลก เอาราคาในอาเซียนมาคุยกัน

ช้ำโรงสีกดราคาหนัก ข้าวเปลือกเหลือแค่กก.5บาท
27 ต.ค. ที่ผ่านมา เดลินิวส์ ออนไลน์ รายงานผลกระทบจากราคาข้าวตกต่ำ โดย สัมภาษณ์ สุริยา เพชรวิเศษ อายุ 50 ปี ชาวนาปลูกข้าวนาปี รายหนึ่ง ใน ต.ชีวาน อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เขา กล่าวว่า ปีนี้ถือว่า เป็นปีที่ชาวนาได้รับเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากราคาข้าวตกต่ำอย่างมาก ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าวกลับสูงขึ้น แล้วยังจะต้องจ่ายค่ารถเกี่ยวอีกไร่ละ 500 บาท ค่าจ้างชาวบ้านให้ออกมาช่วยขนข้าวอีกในวันเก็บเกี่ยวอีกวันละ 300 บาท ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายหมดทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น แต่ราคาข้าวกลับถูกที่สุดในรอบหลายปี ทั้งนี้เกษตรกรบางรายได้นำข้าวไปขายให้โรงสีก่อน ซึ่งขายได้เพียงราคากิโลกรัมละ 6 บาทเศษ จากในปีที่ผ่านมาราคา 9-12 บาทถือว่าเป็นราคาที่ต่ำสุดในรอบหลายปี ขณะที่โรงสีบางแห่งรับซื้อต่ำสุดเพียงกิโลกรัมละ5 บาทเศษ ถือว่าเป็นปีที่ชาวนาได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มขึ้นแต่ราคาข้าวกลับลดลง จึงวอนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเพื่อหาทางให้ราคาข้าวสูงขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เพจ 'ออนซอนอีสาน' ไม่ง้อรัฐพ่อค้า เสนอชาวนารวมกันสี-ขายเอง แก้ปัญหาข้าวราคาตก คนแชร์กว่า 4 หมื่น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.