เริ่มพิจารณากรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติพม่า 14 คน ยื่นฟ้องบริษัทเบทาโกร


Posted: 30 Oct 2016 03:21 AM PDT

ศาลแรงงานเริ่มพิจารณากรณีลูกจ้างแรงงานข้ามชาติพม่า 14 คน ยื่นฟ้องบริษัทเบทาโกรฯ ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมไก่ส่งออกไทยกับพวก อ้างมีการบังคับใช้แรงงานเรียกค่าเสียหาย 44 ล้านบาท ในวันที่ 31 ต.ค. 2559 นี้ ส่วนเจ้าของฟาร์มไก่ฟ้องคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติ 14 คนเพิ่มเป็นคดีที่สอง

ในวันที่ 31 ต.ค. 2559 เวลา 9.00 น. ศาลแรงงานภาค 1 จังหวัดสระบุรีจะพิจารณาคดีแรงงานที่สำคัญ กรณีแรงงานลูกจ้างชาวพม่า 14 คน กล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานและละเมิดสิทธิลูกจ้างในฟาร์มไก่ที่มีสัญญาส่งสัตว์ปีกให้บริษัทเบทาโกรฯ บริษัทผู้ส่งออกยักษ์ใหญ่ โดยแรงงานข้ามชาติยื่นฟ้องบริษัทรายนี้ร่วมกับเจ้าของฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 ในจังหวัดลพบุรี และเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่ง เรียกค่าชดเชยจากความเสียหายตามกฎหมายแรงงาน และค่าสินไหมทดแทนที่แรงงานข้ามชาติอ้างว่าถูกละเมิดมาเป็นเวลาหลายปี รวม 44 ล้านบาท จากการทำงานในฟาร์มไก่แห่งนี้

คดีนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการรณรงค์ Walk Free ที่ทำการรวบรวมรายชื่อทางออนไลน์จากนักกิจกรรมนานาชาติกว่า 113,000 คน ให้ร่วมลงชื่อในหนังสือและทำการยื่นรายชื่อดังกล่าวต่อสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 แต่ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากสมาคม โครงการรณรงค์ของ Walk Free ได้เรียกร้องให้บริษัท เบทาโกรฯ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ให้รับประกันว่าแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คน จะได้รับค่าชดเชยที่ค้างจ่าย และเรียกร้องให้บริษัทเบทาโกรฯ ดำเนินการตรวจสอบสภาพการทำงานตลอดห่วงโซ่อุปทาน และมีกลไกการรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้มีการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ และมิให้ละเว้นความผิดจากการใช้แรงงานทาสสมัยใหม่

การฟ้องคดีของแรงงานข้ามชาติต่อศาล เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ออกคำสั่งให้นายจ้างจ่ายชดเชยค่าจ้างรวม 1.7 ล้านบาท สำหรับค่าจ้างที่ค้างจ่ายในอดีตซึ่งคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ฟาร์มธรรมเกษตร 2 จ่ายค่าชดเชยแก่แรงงานทั้ง 14 คนแต่แรงงานเห็นว่าค่าชดเชยนี้ไม่เพียงพอเนื่องจากไม่ได้เป็นการชดเชยการทำงานในสภาพที่มีการละเมิดสิทธิเป็นระยะเวลาสูงสุดถึง 5 ปีอย่างเพียงพอ

แรงงานลูกจ้าง 14 คนอ้างว่าต้องทำงานอย่างหนักเป็นเวลานานสูงสุดถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เเละถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน เเละแรงงานทั้ง 14 คน อ้างด้วยว่าถูกหักเงินค่าจ้างโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถูกขู่ว่าจะหักค่าจ้าง มีการยึดเอกสารประจำตัว แรงงานอ้างว่าแม้จะสามารถเดินทางไปตลาดได้แต่จะมีผู้ควบคุมไปด้วยและเดินทางได้อย่ามากไม่เกินสองชั่วโมงต่อสัปดาห์

ที่ผ่านมาบริษัท เบทาโกรฯ ไม่สามารถตอบสนองในเชิงบวกต่อการร้องขอให้รับประกันว่าจะให้มีการจัดที่พักฉุกเฉินและค่ายังชีพให้แรงงานหลังจากลาออกจากฟาร์มไก่และถูกร้องขอให้ดำเนินการจนมั่นใจได้ว่าแรงงานจะได้รับค่าชดเชยเพียงพอ โดยขอให้บริษัทใช้อำนาจที่มีอยู่เพื่อประกันว่าจะมีการชดเชยเยียวยาเมื่อมีการละเมิดสิทธิของแรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทอย่างเหมาะสม แต่แม้นบริษัทเบทาโกรฯ จะทราบว่ามีการซื้อสินค้าจากจากฟาร์มธรรมเกษตร 2 ก็ตาม บริษัทเบทาโกรฯ กลับไม่ปฏิบัติตามที่ถูกร้องขอโดยควรปฏิบัติตามหลักการและการชี้แนะขององค์การสหประชาชาติเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชนครบถ้วน

ในเบื้องต้นเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2559 บริษัท เบทาโกรฯ ได้โอนเงินให้เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติโดยไม่แจ้งล่วงหน้าสำหรับแรงงานข้ามชาติทั้ง 14 คนเป็นเงินจำนวน 50,000 บาทซึ่งเป็นการให้การสนับสนุนด้านมนุษยธรรม เพิ่มเติมจากที่สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยมอบเงินสนับสนุนแรงงานทั้ง 14 คนรายละ 3,000 บาทผ่านเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติในเวลาเดียวกัน โดยแม้บริษัทและสมาคมฯจะไม่ยอมตอบสนองตามข้อเรียกร้องในระยะแรกแต่สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยกลับตอบสนองทันทีในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การขึ้นทะเบียนแรงงาน และการจ้างงานแรงงานเข้าทำงาน ส่วนบริษัทเบทาโกรฯ ทำการออกแถลงการณ์ต่อสื่อมวลชน ผู้ซื้อและนักลงทุนต่างชาติปฏิเสธว่าไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงดังที่แรงงานทั้ง 14 คนกล่าวอ้าง

ก่อนหน้านั้น แรงงานพม่า 2 คนจาก 14 คนถูกนายจ้าง ฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 กล่าวหาว่า ทำการลักทรัพย์หลายกรรม ซึ่งแต่ละกรรมอาจถูกตัดสินลงโทษจำคุกสูงสุด 7 ปี หากพบว่ามีความผิดจริง โดยนายจ้างได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าบัตรลงเวลาปฏิบัติงานได้ถูกเอาไปจากการครอบครองของนายจ้าง ซึ่งบัตรลงเวลาปฏิบัติงานนั้นได้ถูกนำมาส่งมอบให้เจ้า หน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลพบุรีเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิของคนงาน ซึ่งหลังจากที่มีการแจ้งความลูกจ้างแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอออกหมายจับและเข้าทำการจับกุมแรงงานพม่าคนแรกในสถานที่ทำการของนาย จ้างและควบคุมตัวไว้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน หลังจากที่แรงงานได้รับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธต่อพนักงานสอบสวนแล้ว บริษัท เบทาโกรฯได้จ่ายเงิน 75,000 บาทให้ เพื่อเป็นหลักทรัพย์ในการประกันตัวแรงงานที่ถูกตั้งข้อกล่าว หา ต่อมาในเดือนสิงหาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาแรงงานพม่าเพิ่มอีกหนึ่งคนว่าร่วมกันลักทรัพย์ของนายจ้าง แรงงานดังกล่าวจึงเข้ามอบตัวและไม่มีการควบคุมตัวไว้ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้หลักประกัน ปัจจุบันพนักงานสอบสวน จังหวัดลพบุรียังไม่มีคำสั่งว่าจะสั่งฟ้องคดีนี้และส่งให้อัยการเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินคดี หรือไม่ แต่อย่างใด

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ทนายความของแรงงานทั้ง 14 คนไปที่ศาลแรงงานภาค 1 เพื่อขอเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีที่นายจ้างฟาร์มไก่ธรรมเกษตร 2 ฟ้องเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้นายจ้างจ่ายเงินแก่ลูกจ้าง 14 คนและในวันดังกล่าวเป็นวันนัดไกล่เกลี่ยของคู่กรณีในคดีนั้นจึงทำให้ทราบว่านายจ้างได้ยื่นฟ้องคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทต่อแรง งานทั้ง 14 คน เป็นคดีที่สอง อันสืบเนื่องมาจากการที่แรงงานพม่าทั้ง 14 คน ได้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและขอให้มีการตรวจสอบตามกฎหมาย คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องและการส่งคำฟ้องให้จำเลยทำให้แรงงานข้ามชาติ 14 คนและคณะทำงานด้านกฎหมายยังไม่ทราบเรื่องการฟ้องคดีนี้เพราะยังไม่ได้รับหมายจากศาล เร่องคดีมีปรากฏในจดหมายของฟาร์มธรรมเกษตรที่ส่งไปยังสื่อมวลชน องค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศและการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ โดยระบุว่าฟาร์มธรรมเกษตรจะฟ้องคดีต่อแรงงานและองค์กรต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างความเท็จ จนเกิดความเสียหายต่อฟาร์มฯ ในกรณีสภาพการทำงานของแรงงานในฟาร์มฯ

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ตอบสนองในทางบวกต่อแรงกดดันที่เกิดจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชนในกรณีนี้และผู้ซื้อสัตว์ปีกในต่างประเทศมีความกังวลลึก ๆ เรื่องสภาพจ้างแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยจึงได้มีการเปิดตัววิธีปฎิบัติที่ดีด้านแรงงาน (Good Labor Practice) สำหรับอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2559

ในช่วงเวลาเดียวกันอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีปัญหาของแรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คนว่า มิได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง แต่เป็นกรณีของข้อพิพาททางแรงงานระหว่างคนงานกับนาย จ้าง มิใช่เป็นกรณีของการบังคับใช้แรงงาน การค้ามนุษย์ การทำงานเกินช่วงเวลาทำงานหรือลูกจ้างถูกยึดเอกสารไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แรงงานทั้ง 14 คนเเละเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้ร้องขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่ง ชาติทบทวนรายงานเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นต้นเรื่องที่ทำให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำมากล่าวอ้างว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติส่งรายงานผลการตรวจสอบให้บริษัทเบทาโกรฯเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2559 หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่แรงงาน/ผู้ร้องจะได้รับแจ้งผลการตรวจสอบ ซึ่งจากการพิจารณารายงานฉบับนี้แรงงานข้ามชาติทั้ง14 คนด้วยความช่วยเหลือของเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติได้โต้แย้งการทำรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับนี้ทั้งเรื่องความถูกต้องของข้อเท็จจริงจากการสอบสวนและทัศนะในการตีความความหมายของการแสวงประโยชน์แรงงานตามมาตรฐานของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่ควรใช้ในกรณีนี้

กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งเพราะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง นักธุรกิจและนักลงทุนระหว่างประเทศ วงการการทูตประชาคมนานาชาติและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เนื่องจากการละเมิดสิทธิของแรงงานกลุ่มนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประชาคมโลกกำลังตรวจสอบการจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยนโยบายการคุ้มครองแรงงานเช่นเดียวกับประวัติการค้ามนุษย์ของไทย อุตสาหกรรมส่งออกสัตว์ปีกไทยอยู่ภายใต้การตรวจ สอบอย่างเข้มข้นด้านเงื่อนไขการจ้างงานที่ไม่ดีนัก ตั้งแต่ พ.ศ.2558 รายงานการวิจัยที่ตีพิมพ์โดยกลุ่มตรวจสอบความรับผิด ชอบต่อสังคม คือ ฟินน์วอทช์และสเวดวอทช์ กลุ่มสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและยังคงมีความกังวลที่รัฐบาลไทยและอุตสาหกรรมสัตว์ปีกไทยขาดความสนใจเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในฟาร์มการผลิตอาหารสัตว์และโรงงาน

บริษัทเบทาโกรฯ เป็นหนึ่งในสมาชิกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทยเช่นเดียวกับสมาชิกชั้นนำ เช่น CP, GFPT, Cargill, BRF แหลมทองสัตว์ปีก พนัสสัตว์ปีก เซนทราโก และบางกอกแร้นช์ ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสัตว์ปีกรายใหญ่ของโลกที่ส่งออกไก่เพื่อใช้ในอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปโดยส่วนใหญ่จะส่งออกไปสหภาพยุโรปและตลาดญี่ปุ่น

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.