บีบีซีไทย - BBC Thai

เสริมความรู้ให้พ่อแม่ในการฟูมฟักบุตรหลานที่มีอาการออทิสติก มีส่วนช่วยเสริมทักษะทางสังคมของเด็ก

นักวิจัยชี้การฝึกให้พ่อแม่เรียนรู้วิธีการเลี้ยงดูลูกที่มีอาการออทิสติกสามารถพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กได้ แต่พ่อแม่ต้องยอมทุ่มเทอุทิศตนอย่างเต็มที่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ของอังกฤษ ซึ่งเผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวในวารสารการแพทย์แลนเซ็ท ได้ศึกษาเด็กที่มีอาการออทิสติกรุนแรงและไม่สามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ โดยมีครอบครัว 152 ครอบครัวเข้าร่วมในการศึกษาชิ้นนี้ซึ่งเริ่มขึ้นหลังจากเด็ก ๆ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการออทิสติกตั้งแต่อายุราว 3 ขวบ

นักวิจัยขอให้พ่อแม่ดูภาพวิดีโอขณะที่ตัวเองกำลังเล่นกับลูก รวมทั้งช่วงเวลาที่ลูกเล่นอยู่คนเดียว เพื่อจับตาดูจังหวะที่พ่อแม่อาจมองข้ามและไม่เห็นโอกาสที่จะสื่อสารกับลูก จากนั้นพ่อแม่จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งจะวิเคราะห์หาหนทางว่าจะทำอย่างไรจึงจะสื่อสารกับลูกในช่วงจังหวะสำคัญนี้ได้ และด้วยการเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เช่นนี้ ท้ายที่สุดแล้วเด็กบางคนก็สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้

หลุยซ่า แฮร์ริซัน แม่คนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการวิจัยบอกว่า การดูวิดีโอทำให้เธอเห็นว่าตัวเองมองข้ามอะไรไปบ้าง และทำให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของแฟรงค์ บุตรชายของเธออย่างชัดเจน หลุยซ่าบอกว่า แฟรงค์ชอบมองดูโคมไฟข้างถนน ที่ส่องสว่างทีละดวง ๆ และจะตื่นเต้นทุกครั้งที่แสงไฟสว่างขึ้น หลังจากตัวเธอได้เฝ้าศึกษาพฤติกรรมของลูกและเรียนรู้วิธีที่จะสื่อสารกับเขา เธอพบว่าแฟรงค์ซึ่งเคยหมกหมุ่นอยู่แต่ในความเงียบ กลับสามารถพูดคุยสื่อสารกับเธอเป็นประโยคได้ บางครั้งเขาก็พูดว่า “แม่ แม่ วันนี้เค้าเปิดไฟไม่เรียงกัน” คำพูดเช่นนี้มีความหมายต่อเธอและครอบครัวมาก

นักวิจัยบอกว่าโดยปกติแล้วอาการออทิสติกจะแย่ลงเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น แต่จากการศึกษาครอบครัวที่เข้าร่วมในโครงการวิจัยพบว่าครอบครัวที่พ่อแม่ได้รับการฝึกทักษะในการสื่อสารและสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก ทำให้จำนวนเด็กที่เคยมีอาการออทิสติกขั้นรุนแรง 55% ลดลงเหลือ 46% หลังเวลาผ่านไป 6 ปี ส่วนครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้รับการฝึกฝนกลับมีจำนวนเด็กที่มีอาการออทิสติกขั้นรุนแรงเพิ่มมากขึ้น

ด้าน ศ. โจนาธาน กรีน แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยบอกว่า แม้ผลการวิจัยจะฟังดูน่ายินดี แต่สิ่งนี้ไม่ใช่หนทางรักษาอาการออทิสติกให้หายขาด อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่พบคือพ่อแม่หลายคนยังคงจับตาดูพฤติกรรมและสื่อสารกับลูกแม้การวิจัยจะเสร็จสิ้นลงแล้วก็ตาม #Autism

ภาพจากแฟ้มภาพ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.