เล่นสมคิดหน่อยสิครับ มีอย่างที่ไหน ปิดปากคนวิจารณ์เศรษฐกิจว่าประเทศอยู่ในช่วงเศร้าโศกอ่อนไหว ไม่ควรพูด ไม่รู้กาลเทศะ คงจะเบรกพิชัยนั่นละ แต่ก่อนหน้านี้ ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็พูดเหมือนกันไม่ใช่หรือ พูดในช่วงอ่อนไหวกว่าด้วยซ้ำ
ที่น่าสนใจคือทั้งพิชัย ศุภชัย มองว่าการอีดฉีดของสมคิดไม่ได้ผล ผมเพิ่มให้ว่า "ประชารัฐ" นี่ ทั้งไม่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่าปากท้องดีขึ้น และไม่มีอะไรโดนใจ "ประชารัฐ" คืออะไร ไม่รู้สิ จับต้องไม่ได้ ไม่เหมือนกองทุนหมู่บ้าน 30 บาท หรือเรียนฟรี ไม่ได้ผลชัดเจนทั้งทางเศรษฐกิจและคะแนนนิยมทางการเมือง นอกจากได้ใจระบบราชการ (ตำบลละ 5 ล้าน อะไรพวกนี้ กลไกมหาดไทยจัดการเรียบ)
เศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ไปถึงปลายปี น่าจับตานะครับ ปัจจัยในประเทศเรื่องการลงทุนเอกชนก็ไม่ดีขึ้น คนชั้นกลางไว้อาลัยไม่มีกะจิตกะใจท่องเที่ยวใช้จ่าย (เอ๊ะหรือว่ามี วัดใจไม่ถูกเหมือนกัน) ต่างประเทศช่วงธันวาก็จะชี้ว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้น คงไม่ถึงวิกฤติหรอก แต่ก็จะซึมๆ แบบเดียวกับการเมืองแย่ๆ เหงาๆ แต่มีชนวนอยู่เต็มไปหมด สถานการณ์คงค่อยๆ กลับมาใหม่แล้วไปเข้าไคลอีกทีหลังปีใหม่ ถึงตอนนั้นน่าจะเห็นอะไรชัดเจนขึ้นเยอะ

000000

ใบตองแห้ง 
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โกรธเกรี้ยวผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะทรุดและแย่แล้ว โดยบอกว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเศร้าโศกและอ่อนไหว ไม่ควรใช้จังหวะนี้ออกมาพูด เหมือนคนไม่รู้กาลเทศะ ยืนยันว่าศักยภาพไทยยังเข้มแข็ง เศรษฐกิจยังโตได้ 3.5% แม้เดือนแรกของไตรมาส 4 เศรษฐกิจชะลอตัวบ้างแต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่ หลังจากนี้จะมีข่าวดีทั้งตัวเลขส่งออกเดือนกันยายนที่ดีขึ้น การเงิน การลงทุน ที่จะทยอยออกมาต่อเนื่อง
สมคิดคงหมายถึง พิชัย นริพทะพันธ์ “ขาประจำ” ที่เตือนว่าเศรษฐกิจปลายปีจะทรุดหนัก เพราะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทำท่าจะดับทุกเครื่อง การบริโภคภายในประเทศลดต่ำ รายได้ประชาชนลดลง ราคาข้าวตกต่ำมาก การส่งออกทั้งปียังคงติดลบ การลงทุนภาคเอกชนต่ำมาก นักท่องเที่ยวก็ลดลง การใช้จ่ายภาครัฐก็ชะงักงัน
แต่ก่อนหน้านี้ ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ก็พูดเช่นกันว่า รัฐบาลดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมาสุดทางแล้ว หากยังทำต่อจะมีผลกระทบภาวะหนี้ครัวเรือน ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลจะทิ้งการส่งออก หันมาพึ่งการกระตุ้นในประเทศอย่างเดียว ทางที่ดีควรสร้างความสมดุล กระตุ้นการเติบโต การค้า การส่งออกคู่ขนานกันไป
ทั้งคู่พูดคล้ายกันด้วยว่า การกระตุ้นระยะสั้นอัดฉีดเงินเข้าไปมากมาย กลับไม่เห็นผล เศรษฐกิจไม่ขยับเท่าที่ควร
ไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูก เพราะเป็นธรรมดาที่รัฐบาลต้องยืนยันว่าเศรษฐกิจเข้มแข็ง ผู้วิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ก็มักจะบอกว่าแย่แล้วๆ แต่ครั้งนี้ที่ไม่ธรรมดาคือรองนายกฯ อ้างกาลเทศะ อ้างช่วงเวลาโศกเศร้า มา “ครอบกบาล” คนวิจารณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่อ้างมาปิดปากกัน แต่ยังเหวี่ยงข้อหา “ไม่สมควร” ด้วยซ้ำ
ถ้าอย่างนั้นช่วงนี้ต้องปล่อยให้รัฐบาลพูดข้างเดียว ผู้วิจารณ์ไม่สามารถพูดได้เลยหรือครับ
ทุกคนยอมรับว่านี่เป็นช่วงเศร้าโศกและอ่อนไหว แต่เมื่อรัฐบาลบอกให้ชีวิตและเศรษฐกิจดำเนินต่อไป ทุกฝ่ายก็ต้องประเมินสภาพตามความเป็นจริง ไม่ใช่แค่ฝ่ายการเมืองหรอก นักวิเคราะห์อย่าง วิน  อุดมรัชตวนิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บล.เคทีบี ก็ชี้ว่าไตรมาสสุดท้ายมีปัจจัยภายในต้องติดตาม 3 เรื่อง คือ หนึ่ง การเมือง สอง เศรษฐกิจ  เนื่องจากอยู่ในช่วงไว้อาลัยถวายฯ  ทำให้การลงทุน การบริโภค อาจชะลอตัวลงไปบ้าง สาม การลงทุนภาครัฐ  ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่ การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรป ญี่ปุ่น ราคาน้ำมัน และ Brexit ซึ่งมีผลต่อกระแสเงินลงทุนในเอเชีย ส่งผลให้การลงทุนในไตรมาส 4 ผันผวนต่อเนื่อง
พูดในสายตาชาวบ้านทั่วไป แม้ไม่ถึงกับเชื่อตามพิชัย แต่ก็คงไม่มั่นใจเต็มร้อยกับสมคิด ค่อนไปทางเชื่อว่าเศรษฐกิจจะซึมยาวเสียมากกว่า แม้ไม่ถึงขั้นวิบัติ แต่ก็ลำบากแน่ในภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน กับปัญหาภายใน ที่ภาคเอกชนก็ยังไม่ลงทุน ผู้บริโภคก็ยังไม่ค่อยเชื่อมั่น การกระตุ้นอัดฉีดของรัฐบาล (นี่จะทำอีกแล้ว) ในความรู้สึกชาวบ้าน ก็ไม่ส่งผลทั้งด้านเศรษฐกิจและการช่วงชิงคะแนนนิยมทางการเมือง
รัฐบาลมีเวลา 1-3 เดือน ในช่วงที่คนไทยยังโศกเศร้าอาลัย ร่วมจิตร่วมใจภายใต้การจัดพระราชพิธีฯโดยรัฐบาล ว่าที่จริงช่วงนี้การเมืองก็เริ่มขับเคลื่อนจากฝ่ายรัฐเองหลายประเด็น แต่ยังอยู่ในระยะ 30 วัน หลังจากนั้นความขัดแย้งจะค่อยๆ ร้อนแรงขึ้น เอาไว้หลังพ้นเดือนธันวาฯ เข้าปีใหม่ ทั้งเศรษฐกิจการเมืองก็จะเข้าไคลอีกรอบ ภายใต้อนาคตที่ไม่แน่นอน

source : FB Atukkit Sawangsuk &  http://www.kaohoon.com/online/content/view/49754

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.