จากกรณีมีเพจนักฎหมายบางแห่งได้เขียนข้อกฎหมายให้ความรู้เกี่ยวกับการขายของบนเฟซบุ๊ก หรือโลกออนไลน์ ซึ่งระบุว่า “ขายข้าวสารผ่านเฟซบุ๊ก ระวังโดนจับนะ” เนื่องจาก พ.ร.บ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี การโพสต์ขายสินค้าออนไลน์นั้น ต้องยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อ สคบ.ก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊ก ระบุถึง เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 โดยมีข้อความระบุว่า
#เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕
ตามเจตนารมณ์พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ เนื่องมาจากการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีการชักชวนและจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น…
ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูคำนิยามตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งให้คำนิยามต่างๆ แล้วการขายข้าวของเกษตรกรที่สีข้าวและขายเอง จึงไม่เข้าข่ายตามกฏหมายขายตรง ครับ
“ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น
“ผู้จำหน่ายอิสระ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
“ตัวแทนขายตรง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
กล่าวสรุปโดยรวม”เกษตรกรสีข้าวและขายข้าวเอง” จึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้จำหน่ายอิสระ เนื่องจากไม่เป็นตัวแทนขายตรง เพราะไม่มีการผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ไม่ใช่การตลาดแบบตรง และไม่เป็นการขายตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ แน่นอนครับ
อนึ่ง ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรรัฐบาลก็จะมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ นายธวัชชัยยังได้ระบุข้อความเพิ่มเติม ว่า #การเร่ขายข้าว___ไม่ใช่การขายตรง
#ชาวนาขายข้าวทาง_FACEBOOK
#ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ผมขออธิบายการ #จดทะเบียนพาณิชย์ ในกรณีที่ ชาวนามาทำการขายข้าวผ่านระบบ Facebook ว่าทำไมถึงไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
เหตุเพราะการขายข้าวออนไลน์ ไม่ใช่อาชีพปกติของชาวนา อาชีพของชาวนาคือการทำนา และการขายข้าวของชาวนา ก็ไม่ได้ต้องการแสวงหากำไรในเชิงพาณิชย์อย่างธุรกิจ แต่เป็นการขายเองเพื่อลดปัญหาการเป็นหนี้และสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้และเป็นการขายตามฤดูกาลในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
จึงไม่อยู่ในความหมายของคำว่า “ผู้ประกอบพาณิชยกิจ” ตามมาตรา 5(4) ของพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499
จึง #ไม่ต้องไปจดทะเบียนพาณิชย์ แต่หากเป็นกรณี รับข้าวสารจากชาวบ้านมาขายเพื่อเอากำไร แบบนี้เรียกว่า ประกอบพาณิชยกิจ หรือกรณีขายแทนชาวนาและขอแบ่งกำไรจากชาวนาแบบนี้เรียกประกอบพาณิชยกิจ เช่น ตัวแทนขาย หรือ โรงสี
Cr. LegalCounsel Svangmek

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.