ยุติการก่อความไม่สงบด้วยโอกาสทางการศึกษา

Posted: 30 Oct 2016 08:46 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในเดือนสิงหาคม 2559 มีการวางระเบิดที่หัวหินและในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ อีกหลายแห่ง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตห้าคน และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนมาก ทางการเชื่อว่าผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นการก่อวินาศกรรมที่มาจากเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้

ในเดือนกันยายน 2559 องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก มอบรางวัลเนื่องในวันรู้หนังสือโลกให้แก่ ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ จากผลงานการวิจัยเรื่องการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาไทย-มลายู

สองเรื่องนี้อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกันมากและไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันต่อกันเลย แต่ความจริงแล้วสองเรื่องนี้เชื่อมถึงกันผ่านปัญหาที่สำคัญที่สุดปัญหาหนึ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน นั่นคือสถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อมานานหลายทศวรรษ เหตุการณ์แรกเป็นผลลบที่สังคมต้องเผชิญ เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศจากการที่ปัญหาความไม่สงบยังไม่สามารถถูกจัดการได้ ในขณะที่เหตุการณ์ที่สองเป็นความหวัง เป็นหนึ่งในหนทางที่เป็นไปได้ว่าจะสร้างทางออกให้กับปัญหานี้

สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างจนทำให้ผู้คนในพื้นที่ต้องเปลี่ยนแปลงทั้งวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ครูและข้าราชการจำนวนมากถูกฆ่า โรงเรียนกลายเป็นเหมือนค่ายทหาร เสียงระเบิดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ความไม่สงบส่งผลรุนแรงและยืดเยื้อมาได้นานขนาดนี้ก็เพราะผู้ก่อความไม่สงบยังคงสามารถหาคนรุ่นใหม่ๆ มาสนับสนุนความรุนแรงได้อยู่เรื่อยๆ

ทำไมจึงยังมีคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกับผู้ก่อความไม่สงบ? และการจัดการเรียนการสอนแบบทวิภาษาจะเป็นทางออกให้กับปัญหานี้ได้อย่างไร? ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไลเคยให้ความเห็นไว้ดังนี้ “ชุมชนเหล่านี้เป็นชุมชนมุสลิมในประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ พวกเขาใช้ภาษามลายูในท้องถิ่น การที่คนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ก็หมายความว่าพวกเขาไม่สามารถเรียนได้ดีในระบบการศึกษาที่ใช้ภาษาไทยเพียงภาษาเดียว และก็ไม่มีโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงมีปัญหาในการหางาน และนั่นทำให้เยาวชนถูกดึงเข้าไปในความขัดแย้งและความรุนแรงได้ง่ายขึ้น”

ความรุนแรงในชุมชนนั้นมีผลมากขนาดที่ทำให้เด็กเล็กๆ กลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้ และความล้มเหลวในการศึกษาก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ผลักดันให้กลุ่มชนซึ่งถูกกีดกันและไม่ได้รับโอกาสเลือกที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มหัวรุนแรง เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่น่าประหลาดใจ แต่เป็นข้อสรุปที่นักวิจัยเกี่ยวกับความขัดแย้งทั่วโลกล้วนเห็นตรงกัน ด้วยเหตุนี้การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาจากแบบภาษาเดียวไปสู่แบบทวิภาษาที่ให้ความสำคัญกับภาษาแม่ของผู้เรียนก่อนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะการเริ่มต้นด้วยภาษาแม่จะทำให้ผู้เรียนเริ่มกระบวนการศึกษาได้ง่าย ไม่รู้สึกแปลกแยก และมีโอกาสในการค่อยๆ ใช้เวลาในการปรับตัวไปใช้ภาษาหลักของประเทศ ตลอดไปจนถึงภาษาอื่นๆ นี่เป็นแนวทางที่ตรงกับผลจากงานวิจัยระดับนานาชาติจำนวนมากที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการศึกษาในช่วงต้นนั้นต้องให้ความสำคัญกับภาษาแม่ของผู้เรียนมากกว่าที่จะให้ผู้เรียนเริ่มเรียนในภาษาที่ไม่คุ้นเคย

ตลอดช่วงเวลาเก้าปีที่ผ่านมา โครงการทวิภาษาไทย-มลายูของมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งริเริ่มโดย ศ.เกียรติคุณ ดร.สุวิไลได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวทางแบบทวิภาษานี้ส่งผลดีต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก ความสำเร็จของนักเรียนในโครงการนี้สูงกว่านักเรียนในชุมชนลักษณะเดียวกันที่ไม่ได้อยู่ในโครงการ อัตราการออกจากการศึกษาลดต่ำลง นักเรียนมีความมั่นใจมากขึ้นและมีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ทักษะภาษาไทยของนักเรียนดีขึ้น มีโอกาสเข้าสู่การศึกษาขั้นสูงมากยิ่งขึ้น มีทักษะต่างๆ ดีขึ้น และสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้

กลุ่มชนที่พูดภาษามลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และในอีกสี่อำเภอในจังหวัดสงขลานั้นแม้จะเป็นชนกลุ่มน้อยในภาพรวมของประเทศไทย แต่ก็เป็นชนกลุ่มใหญ่ในพื้นที่และยังมีจำนวนรวมกันมากถึงหนึ่งล้านห้าแสนคน การจะทำให้ชนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยอย่างแท้จริงไม่สามารถทำได้ด้วยการบีบบังคับให้พวกเขาต้องรับกับระบบการศึกษาและวัฒนธรรมที่พวกเขาไม่คุ้นเคย แต่อยู่ที่การให้ความยอมรับและความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้โอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิต และให้ความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวเข้าสู่สังคมส่วนใหญ่ได้

แก่นของการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในระยะยาวนั้นไม่ได้อยู่ที่การแบ่งแยกและกีดกัน แต่อยู่ที่การให้ความเคารพ การให้ความยอมรับ การสร้างความมั่นใจ และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ทว่าแม้ว่าแนวทางการศึกษาแบบทวิภาษาของมหาวิทยาลัยมหิดลจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าประสบผลสำเร็จและสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้จริงจนถูกขยายไปสู่โรงเรียนทั้งหมดสิบห้าแห่ง แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายเพราะจวบจนถึงปัจจุบันแนวทางนี้ก็ยังไม่ได้ถูกรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาของรัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การนำแนวทางการศึกษานี้ไปใช้อย่างจริงจังในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสร้างประโยชน์ให้ยิ่งยวดกับสังคม และไม่เพียงแค่นั้น แนวทางนี้ยังมีประโยชน์ในวงกว้างระดับทั่วประเทศ เพราะแม้ปัญหาการขาดโอกาสทางการศึกษาของชนกลุ่มน้อยจะเด่นชัดที่สุดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ปัญหานี้ก็ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในพื้นที่เดียว ยังมีชนกลุ่มน้อยอีกจำนวนมากในประเทศไทยที่ประสบปัญหาเดียวกัน นั่นย่อมหมายความว่าชนกลุ่มน้อยๆ อื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์จากแนวทางการศึกษาแบบทวิภาษาด้วย แนวทางนี้จึงควรถูกนำไปปรับใช้อย่างทั่วถึงในทุกๆ พื้นที่

ความล่าช้าในการนำแนวทางนี้ไปใช้นั้นไม่เพียงแต่ทำให้ชุมชนชนกลุ่มน้อยเหล่านั้นขาดโอกาส แต่ยังทำให้เกิดความสูญเสียกับสังคมโดยรวมอีกด้วย เพราะโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มชนจะทำให้สังคมไม่เป็นปึกแผ่น และการขาดโอกาสในการศึกษาก็จะทำให้ประชากรในประเทศไม่มีผลิตภาพ มิหนำซ้ำยังสร้างความเสี่ยงที่ผู้คนจะถูกชักนำไปสู่ความรุนแรง แนวทางนี้จึงเป็นทางออกที่สำคัญซึ่งประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอ็นจีโอ และรัฐบาลไทยควรนำไปใช้อย่างเร่งด่วน

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.