บีบีซีไทย - BBC Thai
สัตว์ป่าทั่วโลกลดลงกว่า 58% ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
สมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เผยรายงานการประเมินสถานการณ์สัตว์ป่าโลก Living Planet Report ประจำปี 2559 เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) พบว่าสัตว์ป่าทั่วโลกลดลงกว่า 58% ในระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา โดยสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบ แม่น้ำ หรือพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นกลุ่มที่มีจำนวนลดลงมากที่สุด เพราะได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งภาวะโลกร้อนและโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของมนุษย์ส่งผลทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
ดร.ไมค์ แบร์เร็ต หัวหน้าฝ่ายนโยบายและวิทยาศาสตร์ของ WWF เผยว่ารายงานสถานการณ์สัตว์ป่าโลกในปีนี้ประเมินจากการรวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลสัตว์ต่างๆ กว่า 3,700 สายพันธุ์ทั่วโลก ทั้งนก ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2513 เป็นต้นมา โดยผลสำรวจพบว่าสัตว์น้ำจืดทั่วโลกเป็นกลุ่มที่มีจำนวนลดลงมากที่สุดถึง 81% เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อ 46 ปีก่อน เนื่องจากที่อยู่อาศัยของสัตว์กลุ่มนี้ถูกทำลายมากที่สุด ขณะที่สัตว์บางประเภทลดจำนวนลงเพราะถูกมนุษย์ล่าอย่างหนัก เช่น ช้างป่าแอฟริกาและฉลาม
ด้าน ดร.โรบิน ฟรีแมน ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตววิทยาจาก ZSL เตือนว่าถ้าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ อาจส่งผลให้สัตว์ป่าทั่วโลกลดลงถึง 67% ภายใน พ.ศ.2563
อย่างไรก็ตาม นายสจ๊วร์ต พิมม์ ศาสตราจารย์ด้านการอนุรักษ์และนิเวศวิทยาของมหาวิทยาลัยดุคในสหรัฐฯ โต้แย้งว่าข้อมูลในรายงานประเมินสถานการณ์สัตว์ป่าทั่วโลกของ ZSL และ WWF มีความคลุมเครือในบางจุด เพราะรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจนส่วนใหญ่เป็นสัตว์ในประเทศซีกโลกตะวันตก แต่ข้อมูลของสัตว์ป่าในภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลออกไป เช่น ทวีปแอฟริกา กลับไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน อาจทำให้รายงานฉบับนี้มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลเกิดขึ้น
แสดงความคิดเห็น