ว่าด้วยชาวนากับราคาข้าว: จะเอายังไงดี (2) เกาะกระแส สีข้าวขายเอง

Posted: 30 Oct 2016 09:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เริ่มต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี กระแสข่าวราคาข้าวเปลือกถูก แต่ข้าวสารยังแพง กำลังอยู่ในความสนใจของคนในสังคม ซึ่งมันก็ตกจริงๆ ตกจนน่าใจหาย ตกจนโมโหให้บรรพบุรุษ ว่าทำไมพากันมาจากที่ราบสูงข้ามเทือกเขาดงพญาไฟ มาตั้งไกลทำไม น่าจะพากันแวะเข้ากรุงเทพ ไปหาที่ทางแถวๆ กรุงเทพสักไร่สองไร่ทำมาหากินกันนะ ถ้าตกกว่านี้ก็คงรู้สึกว่ามันน่าจะถึงเวลาขนไปขายดาวอังคารได้แล้วล่ะ แต่ท่ามกลางกระแสข้าวราคาตกนี้ ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ ในโลกโซเชียล ชาวนา/ลูกชาวนา/อาจารย์มหาลัย ชวนกันมา สีข้าว/ขายข้าว เป็นผู้ประกอบการชาวนากันอย่างคึกคัก อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

น่าดีใจว่าสังคมไทยเรานี้เป็นสังคมที่ให้ความรักฮักหอมกับชาวนามากจริงๆ และนั่นเป็นความฝันอันเหลือเชื่อของชาวนาเลยทีเดียวถ้าสามารถฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ จนสามารถเป็นผู้ประกอบการชาวนาได้อย่างเต็มภาคภูมิ แม้ว่ามองในภาพใหญ่ก็ยังไม่แน่ใจว่ากระแสความตื่นตัวนี้จะดึงเอาข้าวออกไปจากตลาดได้มากน้อยเพียงใด เพราะน่าจะทำได้ในระดับสเกลที่ไม่ใหญ่มาก เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องจัดการเยอะเหมือนกัน แต่ก็มีผลในทางจิตวิทยาอย่างแน่นอน และเชื่อว่าสามารถสร้างผู้ประกอบการชาวนาหน้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีกไม่มากก็น้อย

ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องดูว่าทั่นผู้นำที่เราไว้ใจและศรัทธา จะมีมาตรการอย่างไรออกมาหลังจากนี้ เพราะ ช่วงวันที่ 20 พ.ย. ไปจนถึงปลายเดือน พ.ย.จะเป็นช่วงที่ข้าวหอมมะลิ 105 มีการเก็บเกี่ยว ในขณะที่ข้าวนาปรังเริ่มทยอยเก็บเกี่ยวกันแล้วตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม และก็เห็นแล้วว่าราคาตกลงกว่าปีก่อน ปัจจัยหนึ่งที่ช่วงเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีและนาปรังออกมาไล่เลี่ยกันมาก เพราะปัญหาภัยแล้งที่ผ่านมา การปล่อยน้ำชลประทานมาล่าช้ากว่าทุกปี เมื่อชาวนาหว่านข้าวนาปรังไปแล้ว อายุการเก็บเกี่ยวที่ 100-120 วัน ก็จะใกล้เคียงกันกับช่วงข้าวนาปีออกพอดี

สำหรับการทำข้าวถุง ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ฮักแพงกับพี่น้องชาวนา แม้ประสบการณ์ในด้านนี้จะยังไม่มาก แต่ก็อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวนาท่านอื่นๆ ที่สนใจในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ช่วยกันดูว่ามีจุดตรงไหนบ้างที่เราต้องให้ความสนใจ และใส่ใจกันเป็นพิเศษ เพื่อลดความเสี่ยงของการขายข้าวให้ได้มากที่สุด

เรื่องแรกที่คิดออกคือ เมื่อเราพูดถึงการทำข้าวถุง เพื่อไว้บริโภค เราต้องนึกถึงพันธุ์ข้าวว่า ข้าวอะไรที่มันกินอร่อย กินดีซึ่งเรื่องนี้สำหรับชาวนาที่ทำนาปี (พูดในกรณีข้าวเจ้า) ปกติจะรู้จักกันทั่วไปคือข้าวหอมมะลิ 105 แต่โอกาสของชาวนาปีนั้นมีมาก เพราะยังมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกมากมายหลายชนิดที่ กินดี กินอร่อย และตลาดอาจจะสนใจ (ประเทศไทยเรามีฐานข้อมูลเชื้อพันธุ์ข้าวเป็นร้อยๆ สายพันธุ์เก็บไว้ที่ธนาคารพันธุกรรมข้าว) ข้าวเหล่านี้อาจจะเคยเป็นข้าวขึ้นชื่อในอดีต หรือมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น กินแล้วเตะปี๊บดังสามวันเจ็ดวัน อะไรอย่างนี้ (อันนี้ก็เขียนเล่นๆ) แต่ที่เคยทราบก็จะมีข้าวพื้นบ้านบางพันธุ์ที่เขานิยมเอามาเลี้ยงไก่ชน เพราะไก่กินแล้วเขาว่ามันคึก มันตีเก่ง หรือข้าวมะลิแดง เหมาะสำหรับป้องกันเบาหวาน อะไรทำนองนั้น ยังมีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกว่า มีข้าวพื้นบ้านพันธุ์นึง จำไม่ได้ว่าพันธุ์อะไร พอนึ่งทีไร กลิ่นข้าวหอมฟุ้ง ไปทั่วบ้าน หอมจนหมายังมาตะกายเสาเรือน ฟังแล้วยังอยากกิน 555

ข้อมูลแบบนี้ ถ้าสนใจก็ต้องมีการสืบค้นข้อมูลแล้วไปเสาะหาพันธุ์มาปลูก พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ที่เป็นที่รู้จักกันแล้ว เช่น ข้าวมะลิแดง ข้าวเจ้าดำ ข้าวสังข์หยด ข้าวลืมผัว เป็นต้น แต่การปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ มาลงตลาด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าที่คนกินจะรู้สึกคุ้นเคย เช่น จะหุงยังไงถึงจะไม่ดิบไม่แฉะ เพราะคนเคยชินกับการหุงข้าวหอมมะลิ มากกว่า รวมทั้งข้าวบางพันธุ์ที่ชื่อ ติดต่างประเทศมา ทั้งๆ ที่เป็นข้าวพันธุ์พื้นบ้าน เช่น หอมพม่า หอมอินเดีย ฟังชื่อแล้ว อาจจะรู้สึกว่า ทำไมถึงเอาข้าวแขกข้าวพม่ามาให้กินล่ะเนี่ย อะไรทำนองนี้ คือ ต้องหาจุดขายให้ได้ด้วย

คำแนะนำหนึ่งก็คือ ชาวนาอาจจะรวมกลุ่มกันแล้วไปขอเมล็ดพันธ์ข้าวที่ตนเองสนใจจากหน่วยงานธนาคารพันธุ์ข้าวของราชการ ซึ่งก็ไม่ค่อยง่ายนัก แต่ก็มีคนไปขอมาได้ หรือไปตามเครือข่ายปราชญ์ชาวนาทั้งหลาย (อันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของปราชญ์ชาวนาทั้งหลาย ชมเขาหน่อย) แต่ก็ไม่ทราบว่าจะมีอยู่มากน้อยอย่างไร แต่ปกติก็จะได้มาอย่างละนิดหน่อย ต้องเอามาปลูกเอามาขยายเอง อาจจะใช้เวลานาน แต่ก็น่าลองทำดู เสนอไว้เผื่อมีท่านใดสนใจทางเลือกในการทำตลาดข้าวพันธุ์อื่นๆ นอกจากข้าวหอมมะลิ

สำหรับชาวนาปรัง ที่ตามปกติจะปลูกข้าวไม่ไวแสง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวแข็ง เหมาะสำหรับทำแป้ง แปรรูป กลุ่มนี้จะมีตัวเลือกหลักๆ ไม่มากนัก คือมี ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมนิล และข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทั้งสามพันธุ์นี้เป็นข้าวที่ปรับปรุงพันธุ์ให้ออกฤดูนาปรังได้ และมีคุณภาพการหุงต้มดี กินอร่อย

ข้าวหอมปทุมนั้นเป็นข้าวนาปรังที่ให้ผลผลิตสูง 80-100 ถังต่อไร่ ได้สบายๆ เรื่องราคา เท่าที่รู้โรงสีบางแห่งจะซื้อในราคาเดียวกันกับข้าวพันธุ์อื่น บางแห่งก็ให้ราคาสูงกว่าข้าวนาปรังทั่วไป แต่ข้าวหอมปทุมเป็นข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยว 120 วัน และต้นค่อนข้างสูง ล้มง่าย ถ้าปลูกแล้วมาออกรวงใส่น้ำนมในช่วงลมโยกก็จะล้มได้ง่าย

ข้าวหอมนิลและข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวทั้งสองพันธุ์นี้ถูกนำเสนอในลักษณะของข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวที่มีธาตุอาหารสูง อะไรทำนองนี้ จากประสบการณ์ที่เคยปลูก ข้าวทั้งสองพันธุ์มีความต่างกันในลักษณะพันธุ์ชัดเจน แม้ว่าข้าวสารจะมีเมล็ดสีม่วงเข้มเหมือนกัน และอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120-130 วัน ข้าวหอมนิลนั้นต้นจะสีเขียว และค่อนข้างสูงคล้ายๆ กับมะลิ ผลผลิตถ้าปลูกและดูแลดีๆ อาจจะได้ 70-80 ถังต่อไร่ได้ (อันนี้หมายถึงชาวนาทั่วไปปลูก ไม่ใช่ชาวนาขั้นเทพ อะไรทำนองนั้น) ข้าวไรซ์เบอรี่นั้นผลผลิตจะต่ำกว่ากันอยู่บ้าง อาจจะเนื่องมาจากลำต้นมีสีม่วงแซมด้วย ทำให้การสังเคราะห์แสงนั้นประสิทธิภาพน้อยกว่าข้าวหอมนิลต้นเขียว แต่ข้าวไรซ์เบอรี่จะชอบอากาศเย็น ตอบสนองต่อช่วงแสงในหน้าหนาวได้ดี

คำแนะนำอีกอย่าง ถ้าหากทำได้ ข้าวถุงจะมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น คือ ถ้าปรับปรุงบำรุงดินด้วยเทคนิคการทำนาอินทรีย์ ข้าวที่ได้จะมีความนุ่ม ความหอม กว่าข้าวที่ปลูกแบบนาเคมี (อันนี้ต้องให้เครดิตนาอินทรีย์เขาหน่อย เดี๋ยวเขาจะว่าเราคอยแต่ติติงเขาอยู่เรื่อย)

หลังจากปลูกและดูแลจนได้เก็บเกี่ยวกันแล้ว ขั้นตอนสำคัญก็คือการตากและสีข้าวใส่ถุงขาย จากประสบการณ์ขั้นตอนนี้ใช้แรงงานและมีรายละเอียดที่ต้องจัดการกันพอสมควรทีเดียว เริ่มจากการตากข้าว งานตากข้าวเป็นงานหนักพอสมควร (ในกรณีที่ใช้แรงงานคนตาก) ถ้าต้องการเก็บข้าวไว้สีแค่ตันสองตันอาจจะไม่หนักมาก แต่ถ้าคิดว่าจะสต็อกข้าวสัก 10 ตัน อะไรแบบนี้ ต้องคิดแล้วว่าจะตากกันยังไง ถ้าตามปกติข้าวเยอะขนาดนี้ก็จะไปจ้างลานตากแล้วเสียค่าตากให้เขา แต่มานึกถึงกรณีข้าวแบบสองสามตัน แล้วจะตากเอง สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งและมักจะบอกทุกคนที่รู้จักและทำข้าวใส่ถุงขายก็คือ ต้องระมัดระวังเรื่องกรวดหินให้มากที่สุด เพราะ คงไม่มีใครอยากอุดหนุนชาวนาแต่กินข้าวแล้วฟันกร่อนหมดแน่ๆ จึงต้องใส่ใจให้มาก

ควรจะหาลานตากที่ไม่มีกรวดหิน หรือใช้ผ้ามุ้งตาข่ายมาตัดทำลานตากของตัวเอง และระมัดระวังทุกขั้นตอนในการตากการบรรจุลงกระสอบ เคยมีบางคนที่สีข้าวสารมาแล้วต้องมาจ้างคนเลือกกรวดหินออกอีกกิโลละหลายบาท ไม่งั้นก็ขายไม่ได้ สำหรับโรงสีขนาดใหญ่จะมีระบบคัดสิ่งเจือปนออก เคยเห็นโรงสีส่งออกข้าวอินทรีย์บางแห่งจะจ้างคนคัดสิ่งเจือปนออกอีกทีนึง เพราะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป

การตากต้องให้เหลือความชื้นที่ประมาณ 14-15% เพราะข้าวที่ตากไม่แห้งถ้าเก็บไว้แล้วมาสีจะมีกลิ่นสาบ กินไม่อร่อย สิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญของการตากข้าวคือ ฝน นั่นเอง ถ้าต้องเกี่ยวข้าวและต้องตากในช่วงฤดูฝน จะเป็นงานที่หนักเพิ่มอีกเท่าตัวเลยก็ว่าได้ ลุ้นแล้วลุ้นอีกทีเดียว ดังนั้นโรงสีขนาดใหญ่จึงต้องมีเครื่องอบข้าวเปลือกด้วย

หลังจากตากแล้ว ก็ถึงขั้นตอนการสี สำหรับข้าวที่คิดว่าจะสีเป็นข้าวถุงขาย ควรจะสีเครื่องสีที่มาตรฐาน เพื่อที่จะได้เมล็ดข้าวสารสวยเสมอกัน (ยกเว้นเรามีกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่แคร์ว่าข้าวจะเม็ดสวยไม่สวยอะไรแบบไหน แต่จริงๆ ก็อดเปรียบเทียบกับข้าวถุงไม่ได้อยู่ดีน่ะแหละ) ปกติเครื่องสีขนาดเล็กที่เราใช้กันทั่วไปจะให้ข้าวต้นที่เป็นข้าวสาร ประมาณ 50-55% โรงสีทั่วไปขนาดกลางแบบชาวบ้านอาจจะข้าวต้นประมาณ 60-65% ถ้าเป็นโรงสีขนาดใหญ่อาจจะได้ ถึง 65-70% เรื่องของเครื่องสีนี้เป็นเหมือนเคล็ดลับของโรงสีเลยก็ว่าได้ โรงสีที่สามารถได้ข้าวต้นถึง 70% นั่นคือกำไรที่เพิ่มขึ้นของเขา ชาวนาคนไหนที่สามารถติดต่อโรงสีใหญ่ให้รับสีข้าวได้ถือว่าช่วยลดปัญหาต่างๆ ไปได้เยอะเลยทีเดียว

หัวใจสำคัญของเครื่องสีคือลูกหินขัด ถ้าใช้บริการโรงสีทั่วไปของชาวบ้านมักจะเจอปัญหาเศษหินขัดร่วงปนมากับข้าวประจำ ต้องมานั่งเลือกออกอีกทีเวลาจะหุงข้าว ซึ่งสำหรับคนเมืองคงไม่มีเวลาขนาดนั้น ถ้าเจ้าของเครื่องสีคนไหนดูแลลูกหินประจำ คุณภาพข้าวที่สีก็จะดีกว่า เครื่องสีที่ดีก็ควรให้ข้าวต้นสูงๆ ให้ข้าวปลายน้อยๆ คนเขียนบ้านอยู่ใกล้โรงสีขนาดใหญ่ จะได้ยินเสียงเขากลึงลูกหินโรงสีประจำ ก็จะรู้ว่าเขามีการสีข้าวอีกแล้ว นอกจากข้าวต้นที่ได้ ข้าวปลาย รำ และ แกลบ ก็สามารถขายได้อีกด้วย หรืออาจจะนำรำไปบีบน้ำมันรำข้าว ขายได้อีกต่อหนึ่ง

ที่เล่ามาข้างต้น คือในกรณีสีข้าวขาว แต่ถ้าสีเป็นข้าวกล้อง ก็จะสีเครื่องสีข้าวกล้อง ซึ่งตามปกติมักจะได้ข้าวต้นประมาณ 70% เพราะไม่ได้มีการขัดสี เหมือนข้าวขาว ข้าวหอมนิล และข้าวไรซ์เบอรี่ มักจะนิยมกินแบบข้าวกล้อง เพราะถ้าขัดสีม่วงของข้าวกล้องจะถูกขัดออกไปเกือบหมด

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่เคยทำมาบ้าง อะไรที่พอจะคิดออก ก็เอามาเขียน จริงๆ ถ้ามีใครที่ทำงานในแวดวงโรงสีมาช่วยกันให้ข้อมูลหรือให้คำแนะนำว่าที่ผู้ประกอบการชาวนาทั้งหลายก็จะดีมาก

แต่ยังไงก็ตาม เหมือนที่บอกไว้ข้างต้นว่า ถึงเราจะช่วยกันซื้อ ช่วยกันกินข้าวจากชาวนาทุกวัน กินกันจนอ้วนยังไง ปริมาณข้าวที่เรามีก็อาจจะไม่ได้ลดลงมากนัก เรามีสัดส่วนข้าวที่ใช้ในประเทศทั้งบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ คร่าวๆ ประมาณ 10 ล้านตัน ที่เหลืออีก 10 กว่าล้านตันเราต้องหาที่ระบายให้ได้เพราะเกินความต้องการในประเทศ (ชาวนาไทย ขยันและปลูกข้าวเก่งจริงๆ) ดังนั้นปัญหาราคาข้าวก็จะยังคงเป็นปัญหาอยู่อย่างนี้ ยิ่งเราอยู่ในยุคที่เสียงจากชาวนาแทบไม่มีความหมาย ปัญหาเหล่านี้เหมือนแผลที่ค่อยๆ ปริออกๆ ก็ได้แต่รอดูว่าสุดท้ายแล้วเราจะไปถึงจุดไหนกัน

ด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ฮักแพงพี่น้องชาวนาจากใจจริง
ชาวนาไก่ กา

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.