รายงาน: เมื่อ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เปลี่ยนเสรีภาพไซเบอร์ เป็นพื้นที่คดีความ

Posted: 28 Oct 2016 11:37 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ด้วยความที่เป็นอินเทอร์เน็ต [พ.ร.บ.คอมฯ]มันเอาไปฟ้องที่ไหนก็ได้ อาจจะไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุเสมอไป อย่างในกรณีนี้ของพิจิตร คนที่เป็นนักกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ถูกฟ้องที่ศาลพิจิตร ส่วนแกนนำชาวบ้านที่พิจิตร ถูกฟ้องคดีที่กรุงเทพฯ ซึ่งมันก็สร้างความยากลำบากให้คนที่ตกเป็นจำเลยมากขึ้น เพราะว่าต้องเสียค่าเดินทาง ต้องหาทนาย เตรียมตัวในการมาศาล มาฟังการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ 5 องค์กรสิทธิฯ ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ สนช.ไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่กำลังมีการแก้ไขกันอยู่ ด้วยเหตุว่ายังไม่ตอบสนองข้อกังวลเรื่องสิทธิมนุษยชน ใน 4 ประเด็นด้วยกัน คือ

1) การกำหนดโทษอาญาต่อผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เนื่องจากการแสดงออกที่ควรได้รับการคุ้มครอง
2) ความรับผิดของผู้ให้บริการ
3) สิทธิความเป็นส่วนตัวถูกละเมิด และ
4) การเซ็นเซอร์ทำได้สะดวกขึ้น

เฉพาะข้อกังวลแรก สุธารี วรรณศิริ นักวิจัยด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรฟอติฟายไรท์ (Fortify Rights) หนึ่งในองค์กรสิทธิที่ร่วมออกแถลงการณ์ ชี้ว่า แนวโน้มการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฟ้องร้องคนที่ทำงานด้านสิทธิฯ เพิ่มมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีนี้ เท่าที่นับคดีได้เป็นหลักสิบ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เห็นคดีมากขนาดนี้

"ที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ.คอมฯ จะถูกใช้กับสื่อและนักการเมือง แต่ตอนนี้มันถูกเอามาใช้เล่นงานกลุ่มที่ทำงานเรื่องสิทธิ แล้วเผยแพร่รายงานเรื่องสิทธิ หรือข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นแนวโน้มที่อันตราย" สุธารีกล่าว

สุธารี ให้ข้อมูลว่า กรณีล่าสุดคือ กรณีของนักต่อสู้เรื่องที่ดินที่ขอนแก่นสองคน คือ ศรายุทธ ฤทธิพิณ และ เจด็จ แก้วสิงห์ สมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ที่ถูกฟ้องร้องด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์และกฎหมายหมิ่นประมาท โดย หน่วยทหารในพื้นที่ ซึ่งกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข่าวในเว็บไซต์ทำให้ทหารเสื่อมเสียชื่อเสียง

ก่อนหน้านี้ประมาณต้นเดือนที่ผ่านมา ก็มีสามคดีที่เกี่ยวเนื่องกับนักต่อสู้เรื่องเหมืองทองคำที่พิจิตร โดยบริษัท อัครา รีซอร์สเสสฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กับนักต่อสู้ค้านเหมืองที่เป็นแกนนำชาวบ้าน นักวิชาการ และนักกิจกรรม

"แต่วิธีที่น่าสนใจของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ถูกใช้ในลักษณะนี้มาก่อนแล้วก็คือ ด้วยความที่เป็นอินเทอร์เน็ต มันเอาไปฟ้องที่ไหนก็ได้ อาจจะไม่ใช่พื้นที่เกิดเหตุเสมอไป อย่างในกรณีนี้ของพิจิตร คนที่เป็นนักกิจกรรมที่กรุงเทพฯ ถูกฟ้องที่ศาลพิจิตร ส่วนแกนนำชาวบ้านที่พิจิตร ถูกฟ้องคดีที่กรุงเทพฯ ซึ่งมันก็สร้างความยากลำบากให้คนที่ตกเป็นจำเลยมากขึ้น เพราะว่าต้องเสียค่าเดินทาง ต้องหาทนาย เตรียมตัวในการมาศาล มาฟังการพิจารณาคดีแต่ละครั้ง ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่เห็นมาก่อนหน้านี้แล้วจากเหมืองทองที่ จ.เลย ซึ่งใช้ พ.ร.บ.คอมฯ และหมิ่นประมาท ในลักษณะเดียวกัน ฟ้องชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเฉพาะคดีหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมฯ รวมกันแล้วประมาณหกคดี โดยฟ้องชาวบ้าน จ.เลย ที่ศาลจังหวัดแม่สอดและศาลจังหวัดภูเก็ต ซึ่งไม่ใช่ภูมิลำเนาของผู้ที่เป็นจำเลยเลย สร้างความยากลำบากและผลักภาระในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้กับชาวบ้านมากยิ่งขึ้น"

นอกจากสามกรณีนี้ ยังมีอีกกรณีที่สกลนคร เป็นชาวบ้านซึ่งคัดค้านการทำเหมืองแร่โปแตซที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนครและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโครงการเหมืองแร่ผ่านเฟซบุ๊ก ก็ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมฯ ในลักษณะเดียวกัน

ภาพจาก bluesbby (CC BY 2.0)


ทั้งนี้ มาตราที่มักถูกทำมาใช้คือ มาตรา 14(1) ที่ระบุว่า “ผู้ใด .... (1) นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าท้ังหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

แม้ว่าก่อนหน้านี้ พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเคยเล่าในงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า การแก้ไขมาตรา 14 ยังไม่ตกผลึก แต่พยายามแก้ไขให้ตรงวัตถุประสงค์หลักของมาตรา คืออุดช่องว่างเรื่องปลอมแปลงเอกสารและฉ้อโกง พร้อมชี้ว่า เดิมก็มีมาตรา 16 ที่มีเนื้อหาคล้ายกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้มาตรา 14(1) ที่เป็นเรื่องปลอมแปลง ฉ้อโกง และยังยอมความกันได้ด้วย

แต่จากการติดตามการแก้ไขร่างกฎหมายนี้อย่างใกล้ชิด โดย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย หนึ่งในองค์กรร่วมออกแถลงการณ์ พบว่า ร่างกฎหมายอาจจะกลับไปในลักษณะที่มาตรา 14 ใช้ในลักษณะเดิม ไม่มีการนิยามให้แคบลง คงนิยามที่กว้างเอาไว้ว่า "ข้อมูลอันเป็นเท็จ" ทำให้อาจถูกเอาไปใช้ในแบบที่ผิดวัตถุประสงค์

"แทนที่อินเทอร์เน็ตจะถูกใช้เป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และเป็นพื้นที่ที่ใช้ในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการต่างๆ ของรัฐ มันกลับเป็นพื้นที่อันตรายของนักปกป้องสิทธิที่ทำงานในการพยายามเปิดโปงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิ หรือแม้แต่นักข่าว รวมถึงบุคคลทั่วไปที่อาจจะตั้งคำถามกับโครงการต่างๆ ของรัฐ อินเทอร์เน็ตก็กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยแล้ว" สุธารี กล่าว

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการเอาผิดกับ ISP ผู้ให้บริการ มาตรา 15 และ 20 ที่มีข้อความที่ยังกว้างและกำกวม และมีการกำหนดโทษทางอาญากับผู้ให้บริการด้วย ซึ่งมันจะส่งผลทางอ้อมให้ผู้ให้บริการเหล่านี้เซ็นเซอร์ตัวเองมากขึ้น ด้วยความที่กังวลว่า ข้อความที่ปล่อยให้โพสต์ในเว็บหรือเซิร์ฟเวอร์ตัวเองอาจถูกตีความว่าเป็นข้อความที่ผิดกฎหมาย จึงเซ็นเซอร์ตัวเองก่อนปล่อยให้ข้อความออกไป มันก็ยิ่งทำให้พื้นที่ในการแสดงออกและแสดงความคิดเห็นหดแคบลง

"ไม่กี่วันมานี้ ดีแทคกับทรูได้ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ telecomasia.net ว่าเนื้อหาที่เสนอแก้ไขเพิ่มเติมมีปัญหาในการพิสูจน์ความผิด เพราะแทนที่ผู้ที่ฟ้องร้องหรือโจทก์ต้องพิสูจน์ความผิดว่าผู้ให้บริการไม่ได้ปฏิบัติตามคำร้องหรือปล่อยให้มีข้อความที่ผิดกฎหมายถูกโพสต์ออนไลน์ กลายเป็นผลักภาระของการพิสูจน์ให้ผู้ให้บริการ ซึ่งค่อนข้างอันตรายเพราะกลับด้านหลักกฎหมาย กลายเป็นผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วผู้ที่กล่าวหาคนอื่นต้องพิสูจน์ให้ได้อย่างกระจ่างแจ้งชัดว่าคนที่เรากล่าวหามีความผิดจริง" สุธารีกล่าวและว่า ที่สำคัญ การใช้เสรีภาพในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นไม่ควรที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา โดยเฉพาะโทษจำคุก

"นี่เป็นจุดยืนสำคัญที่องค์กรพูดมาตลอดว่า โทษจำคุกเป็นโทษที่ไม่เหมาะสมต่อความผิดเรื่องการหมิ่นประมาทหรือทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง มันไม่ควรจะเป็นโทษทางอาญาด้วยซ้ำ มันอาจจะฟ้องร้องกันได้ถ้ารู้สึกว่าถูกทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงหรือละเมิดชื่อเสียงในทางแพ่ง"




ข้อมูลจากสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งมอบให้กับองค์กรฟอร์ติฟายไรท์ ระบุว่า จำนวนข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่เข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล มีดังนี้

ปี 2554 -> 6 ข้อหา
ปี 2555 -> 13 ข้อหา
ปี 2556 -> 46 ข้อหา
ปี 2557 -> 71 ข้อหา
ปี 2558 -> 321 ข้อหา
ปี 2559 -> 399 ข้อหา (ม.ค.-ส.ค.59)




ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ตั้งแต่กรกฎาคม 2550 ถึง ธันวาคม 2554
- คดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ขึ้นถึงชั้นศาล เป็นความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์ 62 คดี และเป็นความผิดต่อเนื้อหา 215 คดี

- คดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว เป็นคดีตามมาตรา 14(1) มากที่สุด ซึ่งเป็นความผิดประเภทหมิ่นประมาท การฉ้อโกง และเป็นความผิดต่อระบบ ตามลำดับ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.