คุกหญิง: ชีวิตที่ขาดพร่อง ความเป็นมนุษย์ที่ขาดหาย

Posted: 27 Oct 2016 11:37 PM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ชีวิตที่ขาดพร่อง ทั้งของใช้สอยประจำวันและศักดิ์ศรี ของผู้ต้องขังหญิง-ผ้าอนามัยไม่มีกาว เสื้อชั้นในยี่ห้อ ‘คามีหรอบ’ พาราฯ 108 โรค ห้ามป่วยหนัก ทิชชู่ 3 แผ่นต่อคนตั้งแต่เย็นถึงเช้ามืด ไม่มีหมอประจำ เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม-สิทธิของผู้ต้องขังยังไม่ได้รับการปฏิบัติจริง เพราะปัญหาคนล้นคุก เมื่อกฎหมายยาเสพติดกวาดต้อนคนเข้าคุก

‘ผู้หญิง’ มีรายละเอียดในการใช้ชีวิตแตกต่างจากผู้ชาย เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ความขาดแคลนงบประมาณของกรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถจัดหาสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นให้แก่ผู้ต้องขังหญิงอย่างเพียงพอ

‘คามีหรอบ’ เป็นแบรนด์ชุดชั้นในยอดฮิตของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำบางแห่งที่พูดถึงกันอย่างสนุกปาก มันคือแบรนด์ชุดชั้นในที่หาซื้อไม่ได้ในโลกนอกกำแพง ครั้งแรกที่ได้ยินผมไม่เข้าใจ มีคนบอกว่าให้ผวนกลับ...’ขอบมีรา’ ชุดชั้นในของผู้ต้องขังหญิงค่อนข้างขาดแคลน ที่ได้รับบริจาคมาก็มักเป็นไซส์ใหญ่เกินกว่าจะใส่ได้ ผู้ต้องขังหญิงจึงต้องใส่ชุดชั้นในชุดเก่าแก่ไปเรื่อยๆ เก่าเสียจนขอบชุดชั้นในขึ้นรา

“อย่างแจกเสื้อในแย่งกันเป็นพัลวันเลย เขาแจกเป็นห้อง ห้องที่เรานอน แต่มีเรื่องเส้น สมมติถ้าเราไม่ถูกกับหัวหน้าห้อง เราก็จะได้ทีหลัง ไม่มีสิทธิเลือก เขาจะให้คนของเขาก่อน แต่ได้เหมือนกัน บางทีได้มาไซส์ 40 เราไม่มีนมจะเอามาใส่อะไร เราก็ต้องให้เขาไป กางเกงในตัวเท่าหม้อแกง เราก็ใส่ไม่ได้ เอาหนังยางมามัดกางเกงในเหรอ เราก็ต้องให้เขาไป สรุปแล้วเราก็ไม่ได้อยู่ดี

“ผ้าอนามัยขอที่หน้าแดนด้วย ให้เซ็นชื่อ ให้ห่อหนึ่ง ถ้าเป็นเยอะก็ขออีก คุกใหญ่แจกเป็นประจำเดือนอยู่แล้ว นานๆ แจกที แล้วของที่ได้ก็คุณภาพไม่ดี ผ้าอนามัยเป็นของหลวงจริงๆ เฉพาะคุกอย่างเดียว เอาแปะใส่กางเกงในปุ๊บ พอถกนั่งเยี่ยว ถ้าไม่จับไว้ร่วงเลย ถ้าจะใส่ผ้าอนามัยต้องหากางเกงในแน่นๆ หรือมัดยางให้แน่น เพราะเวลาวิ่งมันหลุดลงมาจากผ้าถุงเลย เคยมีคนวิ่งหลุดกองกลางสนามเลย เพราะผ้าอนามัยมันไม่มีกาว เราแปะเพื่อไม่ให้ผ้าถุงเราเลอะแค่นั้นเอง ถ้าเรามีตังค์เราก็ซื้อลอริเอะ โซฟีใช้” ติ๊ก อดีตผู้ต้องขัง เล่าสภาพภายในที่เธอพบเจอให้ฟัง

ปลา อดีตผู้ต้องขังอีกคนหนึ่งที่มาจากเรือนจำคนละแห่งกับติ๊ก ประสบปัญหาไม่ต่างกัน เธอเล่าว่า

“ผ้าอนามัยมีให้ แต่ไม่ค่อยใช้ มันใช้แล้วคัน แต่บางคนก็ใช้ อย่างแฟ้บยี่ห้อมือปืน ใช้แล้วมันกัดมาก เราเลยบริจาคให้เอาไปขัดพื้นเถอะ แต่บางคนก็ทน แต่พี่เอามาผสมกับบรีสแล้วก็ยังทนไม่ได้ เพราะมันใส่โซดาไฟเยอะ ฟองไม่ค่อยมี ชุดหลวงบางครั้งก็ขาดแคลน เป็นผ้าหนา ถ้าคุณซักไม่สะอาด ไม่โดนแดด จะเหม็น แล้วใส่ขึ้นนอน มันร้อน ชุดนอนถ้าใครมีตังค์ก็ซื้อ ล็อกเกอร์มันเล็ก 10 นิ้วครึ่งคูณ 13 นิ้วครึ่ง ใส่ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะชุดนอน ชุดหลวง ของกิน ของที่ญาติตีมา ของใช้ รองเท้า ขันอาบน้ำ ใส่อยู่ในล็อกเกอร์นี้หมด”

ผมปล่อยให้เธอพรั่งพรูเรื่องราวเหมือนทำนบแตกออกมา


"ผ้าอนามัยเป็นของหลวงจริงๆ เฉพาะคุกอย่างเดียว เอาแปะใส่กางเกงในปุ๊บ พอถกนั่งเยี่ยว ถ้าไม่จับไว้ร่วงเลย ถ้าจะใส่ผ้าอนามัยต้องหากางเกงในแน่นๆ หรือมัดยางให้แน่น เพราะเวลาวิ่งมันหลุดลงมาจากผ้าถุงเลย"

“วันหนึ่งเบิกได้ 300 บาท แต่ก่อนเบิกได้แค่ 200 พี่ใช้ไม่พอต้องกู้นอกระบบ 4 วัน ดอก 20 บาท ใครบอกว่าร้อยละ 20 ต่อเดือนแพง ในนั้น 4 วัน ร้อยละ 20 ในนั้นมีเจ้าแม่เงินกู้ ปล่อยกู้จนรวย บางคนในบุ๊คมีตั้ง 2 แสน แล้วส่งออกที่บ้านครั้งละห้าหกหมื่น เขาเรียกว่าอยู่เป็น บางคนเจ้าหน้าที่ก็รู้ เขาก็ไม่อยากจะยุ่ง ปัญหาในนั้นมันเยอะ เขาก็ช่างมัน ถ้าใครไม่คืน เวลามีญาติมา ตีของแห้งของสดมา หลังเซ็นต์รับเสร็จ มันเอาไปเลย

“หรือเรื่องงาน งานที่ให้เพื่อนพี่ทำกัน บางทีเป็นแวร์จากร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งที่เขาแจก วันหนึ่งต้องมียอดด้วยนะ เป็นร้อยๆ สองร้อยสามร้อยใบต่อคน มันกดแล้วต้องกดแรง ปั๊กๆๆ เจ็บมือ มวนบุหรี่ตราไก่ แผ่นทองคำเปลว ต้องทำงานพวกนี้ คนหนึ่งต้องทำสี่ห้าหกร้อยใบต่อวัน สามสี่เดือนได้ร้อยหนึ่ง รายได้ดีสุดคือพวกงานจักร เดือนละสามสี่ร้อย มันไม่พอใช้ ใครบอกว่าอยู่ในคุกไม่ต้องมีเงิน ต้องมี”

เรื่องอาหารการกิน เธอถามผมว่าเคยกินมั้ยมาม่าน้ำเย็น? เธอหมายถึงบะหมี่สำเร็จรูปที่ลวกด้วยน้ำอุณหภูมิปกติ เพราะในเรือนจำไม่มีน้ำร้อนให้ เธอบอกว่าไม่เคยกินก็ต้องกิน ที่ทำให้พอทนได้เพราะเธอกินเฉพาะเส้น โดยนำเส้นมาม่าที่ลวกด้วยน้ำเย็นๆ นั้นมาทำยำกับสิ่งประดามีที่พอซื้อหาได้ในเรือนจำ

ปลายังบ่นอีกว่า อาหารในนั้นมักจะซ้ำๆ กันหลายวัน เธอต้องเจอกับโจ๊กตีนไก่ หมูสักยันต์-เดี๋ยว อะไรคือหมูสักยันต์? เธอตอบว่าหมูที่เหนียวมากจนเคี้ยวไม่ออก ยังมีคะน้าพันปีที่ต้นใหญ่มากและเหนียว ผักบุ้งก็สับจนถึงใกล้ราก ปลาเค็มก็เค็มอย่างกับเกลืออบ

แต่นั่นคือสภาพก่อนการรัฐประหาร เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขึ้นมามีอำนาจ พวกเธอก็ถูกสั่งห้ามทำกับข้าว

...............

ภายหลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คำสั่งและนโยบายต่างๆ ทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษรและไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ส่งตรงไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ กรมราชทัณฑ์และเรือนจำดูจะเป็นองคาพยพหนึ่งที่กระทบหนัก ในที่นี้หมายถึงชีวิตของผู้ต้องขังที่ต้องเผชิญกับความเข้มงวด ที่หลายเรื่องดูอ่อนในเชิงเหตุผลและไม่ใยดีถึงการใช้ชีวิตของผู้ต้องขัง

“เขาเขียนไว้หน้าห้องเรือนนอนว่านอน 30-33 คน แต่วันที่พี่ไปถึงครั้งแรก 77 คน นอนไม่ได้เลย พอปีที่ 2 นอน 58 คน พอรัฐประหารเสร็จมาใช้กฎทหารกับพวกพี่ ผ้าห่มที่ซื้อไว้ๆ เอามาทำเป็นที่นอนเพราะพี่ปวดหลัง เขาบอกส่งคืนญาติ แต่เราไม่ยอม เพราะเราซื้อเองในนี้ เพื่อใช้ ไม่ได้ซื้อเพื่อบริจาค”

อวยพร สุธนธัญญากร กระบวนกร โครงการจากใจสู่ใจ การฟื้นฟูจิตใจผู้ต้องขังหญิงระยะยาว เล่ากับประชาไทว่า

“มีปัญหาความขาดแคลนหลายอย่าง เรื่องทิชชู่ ตอน คสช. มาตอนแรกมีคำสั่งว่าห้ามเอาอะไรขึ้นเรือนนอนเลย ตอนนี้ให้เอาขึ้นไปคนละ 3 ข้อ (หมายถึง 3 แผ่น) พอ คสช. ห้ามปุ๊บก็ไปทั่วประเทศ แต่ผู้หญิงมีรายละเอียด บางคนมีประจำเดือน บางคนใส่แว่น หนังสือก็เอาขึ้นไม่ได้ บางคนชอบเขียนบันทึก อ่านหนังสือสวดมนต์ เขาก็สั่งห้ามกวาดเลย เราก็คุยกับหัวหน้าแดน คสช. มีคำสั่งมาแบบนี้ กลัวจะมีความผิด จึงปฏิบัติตาม เขาบอกว่าไม่ใช่การบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ

“คสช. ต้องการเข้มงวดยาเสพติด น้ำดื่มก็ห้าม อันนี้คือตอนแรกๆ ผู้ต้องขังรู้สึกว่าแบบนี้ไม่โอเค จึงเจรจากัน บางทีก็อนุโลมให้เอาน้ำขึ้นไปได้ขวดหนึ่ง ทิชชู่ขึ้นได้ 5 ข้อ ผ้าอนามัยเอาขึ้นได้ ตอนหลังลดเหลือ 3 ข้อ ประเด็นคือบางทีไม่ได้มีปัญหาเรื่องยาเสพติดก็ไม่สามารถตัดสินใจได้เอง เพราะเป็นนโยบายกวาดเหมือนกันหมด คสช. บอกว่าถ้าคุณไม่จัดการ ผมจะจัดการเอง กรมก็กลัว จึงสั่งให้แต่ละเรือนจำเข้มงวดเอง มันก็กินความไปถึงหนังสือ สมุดก็เอาขึ้นเรือนนอนไม่ได้ แต่ละเรือนจำก็พยายามหาวิธีให้”

...............

การถูกจำกัดโดยคำสั่งของ คสช. การขาดแคลนเครื่องใช้ส่วนตัว และรายละเอียดต่างๆ ในชีวิตของผู้หญิง ทำให้ประเด็นสุขอนามัยในเรือนจำหญิงเป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง ในบางเรือนจำที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเยือน ที่ตากเสื้อผ้าไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังหญิงต้องนำเสื้อผ้าไปตากไว้กับพื้น ซึ่งเรือนจำบางแห่งก็ห้ามเพราะมองว่าไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ขณะที่บางแห่งก็อนุโลมให้ ผู้ต้องขังหญิงจึงเป็นโรคผิวหนังกันมาก บางแห่งจึงมีการจัดเวรซักผ้า เช่น ผ้าห่ม 2 เดือนจะซัก 1 ครั้ง ถ้าถึงคิวของผู้ต้องขังคนใด แล้วเกิดติดธุระอื่น ก็ต้องรอไปอีก 2 เดือน เป็นต้น

ผู้ต้องขังหญิงมีสิทธิที่จะได้รับการบริการสุขภาพจากรัฐหรือไม่? คำตอบคือ มี พวกเธอมีสิทธิเข้าถึงบริการสุขภาพภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเหมือนประชาชนทั่วไป แต่ประเด็นนี้กลับถูกละเลย อันเนื่องจากปัญหาผู้ต้องขังล้นคุก การขาดแคลนงบประมาณและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะให้การดูแล ทางออกสำหรับพวกเธอจึงเป็น ‘ห้ามป่วย’ ปลาเล่าว่า

“ข้างในก็ล้อกัน อย่าได้เป็นอะไรนะ พารา 108 โรคนะเว้ย”

บางกรณีผู้ต้องขังอาจต้องเผชิญกับการดูหมิ่นดูแคลนอย่างร้ายแรง เช่นกรณีของติ๊กที่ภายหลังจากคลอดลูกและกลับเข้ามาในเรือนจำ เธอมีเหตุให้ต้องพบแพทย์ภายในเรือนจำ เธอเล่าว่า

“เย็บแผลกลับมา ที่มันสูง เราต้องก้าว แผลมันแตก เป็นหนอง เราบอกหมอผู้ชายในเรือนจำ เขาไม่เปิดแผลดูหรอก เขาบอกเดี๋ยวก็หาย ให้พารามากิน เป็นหมอที่ประจำอยู่ที่นั่น วันหนึ่งก็แค่ไม่กี่คน พูดง่ายๆ หยาบๆ หมอแดกหมาในปาก พูดจาหมาไม่แดก ด่าเลยวันนั้นต่อหน้านาย ยอมโดนลงโทษ มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”


"เรื่องทิชชู่ ตอน คสช. มาตอนแรกมีคำสั่งว่าห้ามเอาอะไรขึ้นเรือนนอนเลย ตอนนี้ให้เอาขึ้นไปคนละ 3 ข้อ (หมายถึง 3 แผ่น) พอ คสช. ห้ามปุ๊บก็ไปทั่วประเทศ แต่ผู้หญิงมีรายละเอียด บางคนมีประจำเดือน บางคนใส่แว่น หนังสือก็เอาขึ้นไม่ได้ บางคนชอบเขียนบันทึก อ่านหนังสือสวดมนต์ เขาก็สั่งห้ามกวาดเลย"

โดยสภาพที่เป็นอยู่ ผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ในแดนหญิงเล็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือนจำชาย การบริการสุขภาพต้องประสบกับปัญหามากกว่าทัณฑสถานหญิงหรือแดนหญิงในเรือนจำใหญ่ เนื่องจากแดนหญิงเล็กไม่มีสถานพยาบาลของตนเอง ต้องใช้สถานพยาบาลร่วมกับผู้ต้องขังในแดนชาย ซึ่งมักต้องรอให้ผู้ต้องขังชายตรวจรักษาก่อน เพราะระเบียบของเรือนจำไม่อนุญาตให้ผู้ต้องขังชายและผู้ต้องขังหญิงพบกัน อวยพร กล่าวว่า

“ปกติหมอที่จะเข้าเรือนจำ เข้าน้อยอยู่แล้ว ถ้าเข้าได้อาทิตย์ละครั้งถือว่าหรู ถ้าเป็นเรือนจำกลางที่มีแดนหญิง เขาก็จะเข้า ซึ่งอยู่ในแดนชาย ผู้หญิงก็จะไม่ได้เจอกับหมอ ในเรือนจำเองอย่างมากก็อาจจะมีพยาบาลสักคน ซึ่งดูทั้งผู้หญิงผู้ชาย

“ที่เคยเจอ มีผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่งป่วย เขาปวดเข่าจนลุกไม่ไหว นอนอยู่หลายวัน จนวันนั้นเราเข้าไป เขามีไข้ด้วย จับไปที่หัวเข่ามันร้อนมากแล้วก็บวม จนรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว มันอักเสบติดเชื้อ คือถ้าไม่หนักหนาสาหัสจริงๆ เรือนจำแทบจะไม่พาคนไปโรงพยาบาลเลย แล้วกรณีแบบนี้ก็ยังไม่ถูกพาไปโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่บางคนซึ่งไม่ได้มีหน้าที่โดยตรง แต่เขาเห็นว่าอาการนี้ไม่ไหวแล้ว เขาก็ทำอะไรมากไม่ได้"

ดวงของผู้ต้องขังหญิงรายนี้ยังไม่ถึงฆาต พอดีว่าในช่วงนั้นมีญาติของเธอมาเยี่ยม แต่ปรากฏว่าเธอไม่สามารถออกมาพบญาติได้ ญาติจึงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นและทำเรื่องให้ส่งเธอไปโรงพยาบาล แพทย์บอกว่าคนไข้เกิดการติดเชื้อ หากมาพบแพทย์เนิ่นช้ากว่านี้ ญาติอาจต้องจัดงานศพแทน ทำให้คนทำงานกับผู้ต้องขังหญิงอย่างอวยพรรู้สึกว่า ห้ามป่วยหนัก เพราะในเรือนจำไม่มีโรงพยาบาล มีเพียงยาสามัญประจำบ้านที่ผู้ต้องขังเป็นผู้จ่ายกับพยาบาลอีกหนึ่งคนคอยดูแล

“ส่วนทัณฑสถานหญิงจะดีกว่าหน่อย หมอจะเข้ามาอาทิตย์ละครั้ง ก็จะเข้ามาในทัณฑสถานหญิงเลย มีเครื่องมือ มียามากกว่า ผู้หญิงเข้าถึงได้เลย แต่ถ้าเป็นเรือนจำกลาง ผู้หญิงเป็นแดนแดนหนึ่ง แล้วจะออกมาห้องพยาบาลที่ต้องเจอผู้ชายด้วยจะยากมาก แต่กรณีป่วยหนัก ต้องไป รพ. ถ้าไม่หนักจริงๆ ยากมากที่เขาจะพาคุณไป ผู้ต้องขังหญิงบางคนตกบันได ขาพลิก ไม่ได้ไป รพ. เขาก็ไปห้องพยาบาลข้างใน ให้ยากิน ยานวด คือมันก็ดีขึ้น แต่มันต้องการเอ๊กซเรย์ แต่เขาวิเคราะห์แล้วว่าไม่มาก จึงไม่พาออกไป ทุกวันนี้ต้องเดินขาแป สงสัยกระดูกคงเคลื่อนหรือหัก แล้วไม่ได้ไปรักษาให้ถูกต้อง จากเดินขาตรงๆ ก็เดินขาแป อากาศเย็นๆ ก็ปวด”

อีกตัวอย่างหนึ่ง ด้วยสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้ต้องขังหญิงในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องเผชิญกับความหนาวเหน็บที่เรียกว่าสาหัส อวยพร กล่าวว่า ปกติเรือนจำจะให้ผ้าห่มเนื้อบางแก่ผู้ต้องขังคนละ 3 ผืน ผืนหนึ่งม้วนเป็นหมอน ผืนหนึ่งเป็นผ้าห่ม และผืนหนึ่งสำหรรับปูนอน แต่ช่วงหน้าหนาว 3 ผืนไม่มีทางเพียงพอ

“แต่ก่อนให้ 5 ผืน แล้วก็อนุญาตให้ญาติซื้อให้ได้ด้วย ทางเหนือกับอีสานก็รู้สึกว่าแบบนี้ผู้ต้องขังประท้วงแน่ บรรดา ผอ. จึงประชุมกันเองเพื่อทำบันทึกขอเป็น 5 ผืนอย่างเก่า แต่หน้าหนาว 5 ผืนก็ไม่พอ เพราะผ้าห่มคุณภาพไม่ดี ถ้ามากกว่านี้เรือนจำก็ไม่ไหว เพราะงบไม่พอ”

...............

ชาติชาย สุทธิกลม อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก็กล่าวว่า ‘โดยหลักกรม’ ราชทัณฑ์มีหน้าที่ต้องจัดหาของใช้พื้นฐานให้เพียงพอ

ใน ‘คู่มือติดคุก’ ที่เผยแพร่อยู่ในเว็บของทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ (www.hosdoc.com) หัวข้อ ‘สิทธิของผู้ต้องขัง’ (เฉพาะ 4 ข้อแรก) ระบุว่า

1.สิทธิที่จะได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการและเพียงพอต่อความต้องการ กรมราชทัณฑ์รับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ ทุกวัน ฟรี !ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคุกจนถึงวันสุดท้าย

2. สิทธิที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะมีเสื้อผ้าของตนเองจากญาติที่นำมาให้ ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้า ผ้าห่มและของใช้ประจำตัว ทางเรือนจำจะรับผิดชอบจัดหาให้


"มันถามประวัติ ท้องได้ไง ตาก็เหร่ อ้าว พูดยังงี้ได้ไง ทำไมหมอพูดแบบนี้ ท้องมีพ่อหรือเปล่าก็ไม่รู้ หรือว่าไปนอน ไปเมา ให้ใครเอา เอาไปทั่วหรือเปล่าไม่รู้ โห ขึ้นสิ ด่าเลย นี่หมอเป็นหมอหรือหมอเป็นหมา พูดจาไม่ได้เรื่องเลย โดนลงโทษเลย”

3.สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ เรือนจำทุกแห่งได้พยายามจัดเรือนนอนให้ผู้ต้องขัง ได้พักอาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

4.สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (0 บาท รักษาทุกโรค) เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่พยาบาลคอยให้การบำบัดรักษาโรคให้กับผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะมีการพิจารณาส่งตัวออกรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกหรือส่งตัวมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่กรุงเทพ

แต่จากเรื่องราวทั้งหมด มองเห็นได้ไม่ยากว่าสิทธิผู้ต้องขังศักดิ์สิทธิ์และได้รับการปฏิบัติจริงเพียงใด

...............

เป็นความผิดของกรมราชทัณฑ์และเรือนจำหรือไม่? แน่นอนว่าทั้งสองหน่วยงานคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าทั้งสองหน่วยงานเป็นเพียงหนึ่งในฟันเฟืองที่บิดเบี้ยวของระบบที่ใหญ่กว่า โดยเฉพาะกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของไทย

พิจารณาและสืบค้นอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ปัญหาต่างๆ ที่ผู้ต้องขังหญิงต้องพบเผชิญ ไม่ใช่แค่การใช้อำนาจที่ฝังแน่นในระบบเรือนจำมาเนิ่นนาน การขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตเพราะกรมราชทัณฑ์ขาดแคลนงบประมาณ การให้บริการสุขภาพที่ไม่มีคุณภาพ แท้จริงแล้วรากเหง้าปัญหาคือสถานการณ์ ‘คนล้นคุก’ (ไม่ว่าจะคุกหญิงหรือคุกชาย)

ทำไมคนล้นคุก เพราะสังคมไทยมีอาชญากรจำนวนมาก มี ‘คนเลว’ จำนวนมาก อย่างนั้นหรือ? หรือว่ากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของเรามีบางอย่างที่ผิดพลาด?

ผู้ต้องขังหญิงถึงร้อยละ 84.58 ถูกลงโทษในคดียาเสพติด

ตัวเลขจากกรมราชทัณฑ์ระบุว่า ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2559 นับเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่เป็นนักโทษเด็ดขาดมีทั้งสิ้น 35,768 คน เป็นนักโทษเด็ดขาดจากคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดจำนวนถึง 30,821 คน

กฎหมายยาเสพติดกำลังกวาดต้อนผู้คนจำนวนมากเข้าคุก...[full-post]

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.