หมายเหตุประเพทไทย #129 ศัพท์คำไหนใครบัญญัติ

Posted: 30 Oct 2016 07:05 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

หมายเหตุประเพทไทย สัปดาห์นี้ คำ ผกา และชานันท์ ยอดหงษ์ ชวนอ่านบทความของ สายชล สัตยานุรักษ์ หัวข้อ "ประวัติศาสตร์การบัญญัติศัพท์: มิติหนึ่งของการเมืองวัฒนธรรมก่อนและหลังการปฏิวัติ 2475" เล่าเรื่องการเมืองของการบัญญัติศัพท์สมัยใหม่ ในยุคที่วิทยาการความรู้จากตะวันตกเข้าสู่สยามประเทศ และสิ่งที่มาพร้อมกันก็คือแนวคิดทางการเมืองจากตะวันตก ที่ชนชั้นนำซึ่งเกรงการ "ตื่นศัพท์" "ตื่นลัทธิ" จะส่งผลต่ออำนาจสถานะของพวกเขา

ทั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน อดีตประธานสมัชชาองค์การสหประชาชาติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายสมัย เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการ "บัญญัติศัพท์" แปลคำศัพท์ต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย โดยกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เข้าใจธรรมชาติของภาษาดีว่า "คำมีชีวิตของตนเอง รู้จักเกิดแก่เจ็บตายเหมือนกัน ความหมายย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทศะ" โดยที่คำศัพท์จำนวนมากที่กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์แปลเป็นภาษาไทยยังคงใช้กันอยู่จนถึงปัจจุบัน แต่มีอยู่คำหนึ่งคือ "ประชาชาติ" ที่แปลมาจากคำว่า "Nation" กลับไม่เป็นที่นิยมใช้

ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ ก็เข้ามาช่วงชิงการ "บัญญัติศัพท์" อย่างเช่น "นายผี" อัศนี พลจันทร เสนอการแปลคำว่า "bourgeois" ว่า "แพศยะ" ฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่าง พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ เสนอแปลคำว่า "Liberty" เป็น "เอาแต่ใจตนไม่ยอมใคร" และ "เสเพล"

แม้แต่คำว่า "Revolution" ก็มีผู้เสนอคำแปลหลายแบบ ผู้นำคณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ เสนอคำว่า "อภิวัฒน์" ขณะที่หลวงวิจิตรวาทการ เสนอคำว่า "พลิกแผ่นดิน" ขณะที่ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์เสนอคำว่า "ปฏิวัติ" ฯลฯ

การแข่งขัน/ช่วงชิงของกลุ่มการเมืองต่างๆ ในการแปลคำศัพท์จากต่างประเทศเป็นภาษาไทย การ "บัญญัติศัพท์" แสดงอำนาจของภาษา และส่งผลต่อการก่อรูปทางความคิดของคนในสังคมไทยอย่างไร ติดตามได้ในรายการหมายเหตุประเพทไทย



ติดตามรายการหมายเหตุประเพทไทยย้อนหลังที่

https://www.facebook.com/maihetpraphetthai หรือ

https://www.youtube.com/playlist?list=PLyjd9jzMpO2Xby4FyxWMwY8auIFY01eVQ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.