ก.แรงงาน เปิด 5 กลยุทธ์ ช่วยผู้สูงอายุมีอาชีพ มีงานทำ
Posted: 28 Oct 2016 09:26 AM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กระจายงานสู่บ้านหรือชุมชน ขยายอายุเกษียณราชการ ส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องภาคเอกชน ส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย และสร้างฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงานด้านผู้สูงอายุ
28 ต.ค. 2559 รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่า วันนี้เมื่อเวลา 13.30 น. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน วัน ศ.นิคม จันทรวิทุร ประจำปี 2559 และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารแรงงานในสังคมผู้สูงอายุ : สถานการณ์และข้อเสนอเพื่อการเตรียมความพร้อมของสังคมไทย” ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถานประกอบการ นายจ้าง ผู้นำแรงงานและบุคคลที่สนใจประมาณ 150 คน
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการปาฐกถาว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งมีจำนวนกว่า 10 ล้านคนจากประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเป็นอับดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบทบาทภารกิจของกระทรวงแรงงานคือ การส่งเสริมการประกอบอาชีพและการทำงานให้กับผู้สูงอายุซึ่งมีการจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการทำงานในระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) มีด้วยกัน 5 กลยุทธ์คือ 1) กระจายงานสู่บ้านหรือชุมชน คือการส่งเสริมให้ภาคเอกชนกระจายงานให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่บ้าน 2) ขยายอายุเกษียณราชการคือ ขยายอายุเกษียณสายงานภาครัฐที่ขาดแคลนที่ไม่ใช่ตำแหน่งบริหารและปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้สอดคล้องกับการขยายเกษียณอายุ 3) ด้านการส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องภาคเอกชน คือสร้างแรงจูงใจเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ภาคเอกชนต่ออายุการทำงานหรือขยายเวลาการทำงาน 4) ส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ประสบการณ์การทำงานและสมรรถนะทางร่างกาย และ 5) การสร้างฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงานด้านผู้สูงอายุ คือสร้างตลาดแรงงานผู้สูงอายุทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานผู้สูงอายุ
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีการดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ฯ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ในส่วนของการส่งเสริมการประกอบอาชีพและการทำงานให้กับผู้สูงอายุ โดยมีการนำร่องในเรื่องการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุและการขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ มีการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ โดยมีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในส่วนของการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุและการแก้ไขให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างและขยายอายุในการมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ นอกจากการจ้างงานยังมีการส่งเสริมการมีงานทำกับผู้สูงอายุ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของแรงงานสูงอายุ ตลอดจนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่แรงงานไทยด้วย
แสดงความคิดเห็น