กรรมการสิทธิหวั่น ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ อาจกระทบสิทธิเสรีภาพบุคคล สิทธิในข้อมูลข่าวสาร

Posted: 28 Oct 2016 01:51 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

28 ต.ค. 2559 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ระบุมีบางบทบัญญัติที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล รวมถึงสิทธิในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ

สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านเสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย และกฎ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้มีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้มีประสบการณ์จริงหลายท่านเป็นองค์คณะ มีความเห็นว่าร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหลายมิติ และพบว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อกำหนดความผิดและโทษสำหรับการกระทำที่เกี่ยวข้องกับระบบหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ รวมทั้งมีบางบทบัญญัติที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล รวมถึงสิทธิในการรับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะ

ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงมีมติให้ทำข้อเสนอไปยังรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี ในประเด็นการกำหนดฐานความผิดและองค์ประกอบฐานความผิดที่มีความหมายกว้างขวาง และขาดคำนิยามตามฐานความผิดที่ชัดเจน ซึ่งจะนำไปสู่การใช้ดุลพินิจและการตีความของผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งบางมาตราได้กล่าวถึงกระบวนการและหลักเกณฑ์การระงับการให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยให้อำนาจรัฐในการกำกับควบคุมการใช้เสรีภาพ ระงับการทำให้เผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ และไม่มีการกำหนดลักษณะเนื้อหาประเภทใดที่อาจถูกพิจารณาระงับหรือลบข้อมูล ซึ่งอาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมากเกินหลักจำเป็นและได้สัดส่วน รวมถึงในทางปฏิบัติอาจมีการบังคับใช้กฎหมายไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

กสม. ระบุด้วยว่า ทั้งนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและคณะรัฐมนตรีจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของ กสม.ไปประกอบการพิจารณาโดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชน ซึ่งถือเป็นหลักประกันในการปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง รวมทั้งสร้างกลไกป้องกันมิให้นำไปสู่การกระทบต่อสิทธิมนุษยชน อันจะนำมาซึ่งสังคมที่เคารพต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานที่เคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.