บีบีซีไทย - BBC Thai
เอเชียคืบหน้าเรื่องการส่งเสริมธุรกิจ ขณะที่ไทยติดโผ 50 ชาติเอื้อต่อการทำธุรกิจด้วย
ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) เผยรายงานการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจในแต่ละประเทศประจำปี 2559-2560 วันนี้ (26 ต.ค.) โดยอ้างอิงผลสำรวจเศรษฐกิจและการลงทุนจาก 190 ประเทศทั่วโลกตลอดปีที่ผ่านมา พบว่าไทยติดอยู่ใน 50 ประเทศแรกของโลกที่มีความคืบหน้าด้านการเอื้ออำนวยความสะดวกต่อการทำธุรกิจต่างๆ
รายงานของธนาคารโลกใช้ชื่อว่า “โอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน” เป็นการสำรวจข้อมูลและให้คะแนนประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมธุรกิจของธนาคารโลก ได้แก่ ความสะดวกในการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตเรื่องการก่อสร้าง การขอใช้บริการไฟฟ้า การจดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ การติดต่อขอกู้เงิน การปกป้องนักลงทุนรายย่อย การจัดเก็บภาษี การค้าชายแดน การบังคับใช้กฎหมายระหว่างคู่สัญญา และการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย
กลุ่มประเทศและเขตบริหารพิเศษที่มีคะแนนด้านการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางธุรกิจมากที่สุด 5 อันดับแรกของโลกในปีนี้ ได้แก่ นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ นายอูลริค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย ระบุว่าไทยมีคะแนนด้านการส่งเสริมธุรกิจโดยรวมดีขึ้น ทำให้เลื่อนจากอันดับ 49 ของโลกมาเป็นอันดับ 46 ในปีนี้ โดยมีคะแนนรวมเพิ่มขึ้นจากเดิม 71.65 เป็น 72.53 คะแนน เนื่องจากไทยปฏิรูประบบการจัดการยื่นขอดำเนินเรื่องประกอบธุรกิจให้รวมศูนย์ในที่เดียวและใช้เวลาน้อยลง ทั้งยังมีการประเมินความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินและการธนาคาร ช่วยให้นักลงทุนได้รับข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น การปฏิรูปเหล่านี้ทำให้ไทยมีคะแนนรวมด้านการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจไม่ทิ้งห่างจากประเทศชั้นนำอื่นๆ มากนัก
ส่วนการส่งเสริมบรรยากาศด้านธุรกิจอื่นๆ ในประเทศไทย รวมถึงการสนับสนุนการลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณะ การพัฒนาแรงงานฝีมือผ่านระบบการศึกษา และการส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ ช่วยให้เกิดการแข่งขันขึ้นในประเทศ นำไปสู่การจ้างงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีอีก 2 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพัฒนาการด้านการส่งเสริมและเอื้ออำนวยความสะดวกด้านการประกอบธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ อินโดนีเซียและบรูไน เนื่องจากมีการปฏิรูปกฎหมายและเงื่อนไขด้านการลงทุน ช่วยให้นักลงทุนเริ่มประกอบธุรกิจในประเทศได้อย่างรวดเร็วขึ้น
รายงานของธนาคารโลกระบุด้วยว่า กลุ่มประเทศแถบเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิกมีการปฏิรูปด้านธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 45 ประเด็น จากเดิมที่เคยมีการปฏิรูปใน 28 ประเด็นเมื่อปีที่ผ่านมา บ่งชี้ให้เห็นว่ากระแสการปฏิรูปด้านธุรกิจกำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้
แสดงความคิดเห็น