Posted: 29 Oct 2016 07:20 PM PDT (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
หลังกระแสแชร์เพจ ทนายคู่ใจ โพสต์เตือนขายข้าวทางออนไลน์มีความผิดทางกฎหมาย ด้านโฆษกกระทรวงยุติธรรม โพสต์แจงชาวนาโพสต์ขายข้าวไม่ผิด พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 พร้อมอธิบายเจตนารมณ์ดังกล่าว ขณะที่ เพจ สคบ. ตอบ ขายปลาทองผ่านเฟซบุ๊กไม่ต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรง
ที่มา เพจ 'ทนายคู่ใจ'
30 ต.ค. 2559 จากภาวะราคาข้าวเปลือกตกต่ำอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวนาและผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาหาทางออกโดยจำนวนนั้นได้ใช้การโพสต์ขายข้าวผ่านทางออนไลน์และเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตามวานนี้ (29 ต.ค.59) เพจ 'ทนายคู่ใจ' ซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 2 แสนราย โดยเนื้อหาของโพสต์ที่มีการแชร์กว่า 3,000 รวมทั้งเดลินิวส์และมติชนออนไลน์นำโพสต์ดังกล่าวไปเผยแพร่ต่อ ซึ่งเพจนี้โพสต์ เกี่ยวข้องกับการขายข้าวทางออนไลน์ ซึ่งแอดมินเพจดังกล่าวระบุว่าจะมีความผิดทางกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน สร้างกระแสทั้งความกังวลต่อผู้ต้องการขายข้าวรวมทั้งกระแสวิพากษ์ความถูกต้องของการเสนอข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน
ธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมและโฆษกกระทรวงยุติธรรม ได้โพสต์ข้อความแย้งเพจทนายคู่ใจดังกล่าว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'ธวัชชัย ไทยเขียว' ในลักษณะสาธารณะ ว่า เกษตรกรสีข้าวและขายเองไม่ผิดพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545
โฆษกกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ตามเจตนารมณ์ พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องมาจากการทำตลาดขายตรงและตลาดแบบตรงในปัจจุบันได้มีการใช้วิธีการชักชวนและจัดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในธุรกิจดังกล่าว โดยตกลงจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าว ซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อพิจารณาดูคำนิยามตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งให้คำนิยามต่างๆ แล้วการขายข้าวของเกษตรกรที่สีข้าวและขายเอง จึงไม่เข้าข่ายตามกฏหมายขายตรง
“ขายตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ตลาดแบบตรง” หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น
"ผู้จำหน่ายอิสระ” หมายความว่า บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
“ตัวแทนขายตรง” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
"เกษตรกรสีข้าวและขายข้าวเอง จึงไม่เข้าข่ายเป็นผู้จำหน่ายอิสระ เนื่องจากไม่เป็นตัวแทนขายตรง เพราะไม่มีการผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น ไม่ใช่การตลาดแบบตรง และไม่เป็นการขายตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 แน่นอนครับ อนึ่ง ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรรัฐบาลก็จะมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป" ธวัชชัย กล่าวสรุป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วานนี้ เฟซบุ๊กเพจ สคบ. กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ได้ตอบข้อสงสัยผู้ใช้เฟซบุ๊กถึงการทำเพจขายปลาทอง เป็นธุรกิจในครัวเรือน นั้นต้อง จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือไม่ ซึ่งเพจดังกล่าวตอบว่า "สามารถประกอบธุรกิจได้เลยครับ เพราะว่าการขายผ่าน ทาง Facebook นั้นไม่ต้องจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับทาง สคบ ครับ"
รวมทั้งมีผู้นำกรณีที่เพจทนายคู่ใจไปสอบถาม ซึ่งเพจ สคบ.ฯ ตอบกลับวว่า ขอบคุณสำหรับข้อมูล ทาง สคบ เองจะรีบดำเนินการ
สำหรับรายละเอียดที่เพจ ทนายคู่ใจ โพสต์กรณีการขายข้าวทางออนไลน์ จะมีความผิดทางกฎหมาย นั้น มีรายละเอียดดังนี้
ขายข้าวสารผ่านเฟสบุ๊ค ระวังโดนจับนะ
กระแสข้าวเปลือกต่อกิโลราคาตกต่ำยิ่งกว่าอาหารหมาหรือมาม่าซักห่อนี่มันเจ็บปวดจริงๆ แต่จะเจ็บยิ่งกว่าถ้าเอามาขายแล้วถูกดำเนินคดีโดยไม่รู้ตัว
บ้านเราจะมีกฎหมายอยู่ฉบับหนึ่งเรียกว่า พรบ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้มีอำนาจดำเนินคดี การโพสขายสินค้าออนไลน์นั้นต้องยื่นเรื่องขอจดทะเบียนต่อสคบ.ก่อน มิเช่นนั้นจะมีความผิดตามกฎหมายซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังเงินที่อุสาขายข้าวได้จะโดนเอามาจ่ายค่าปรับซะล่ะ
(อ้างอิง พรบ.ขายตรงและการตลาดแบบตรง
มาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 27 ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจการตลาดแบบตรง.. ยกเว้นได้รับอนุญาต
มาตรา 47 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20และมาตรา 27 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน )
วิธีแก้ไขคือให้ชาวนาไปเสียเงินจดทะเบียนการขายตรงกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละจังหวัดครับ จะได้ถูกต้องตามกฎหมาย
กดไลค์กดแชร์กดติดตามแฟนเพจ #ทนายคู่ใจ ไว้ไม่เสียเปรียบใคร #แชร์วนไป#ขายข้าวสาร
แสดงความคิดเห็น