ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต แห่งฟิลิปปินส์ กล่าวระหว่างเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันพุธว่า เขาต้องการให้ทหารสหรัฐฯ ในฟิลิปปินส์ถอนกำลังออกไปภายในเวลา 2 ปี...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตร์เต แห่งประเทศฟิลิปปินส์ แสดงท่าทีที่ไม่เป็นมิตรต่อสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง โดยเขากล่าวระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นในวันพุธที่ 26 ต.ค. ว่า เขาต้องการให้ทหารอเมริกันถอนกำลังออกจากประเทศภายใน 2 ปี หากเป็นไปได้ เขายังบอกกับผู้นำญี่ปุ่นด้วยว่า จะอยู่เคียงข้างในประเด็นพิพาททะเลจีนใต้กับจีน

ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงความมั่นคงในปัจจุบัน สหรัฐฯ มีทหารประจำการที่ค่ายทหาร 5 แห่งในฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประธานาธิบดี ดูเตร์เต รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนก.ค. เขาก็เน้นย้ำเรื่องการถอยห่างออกจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดมานาน และอดีตเจ้าอาณานิคม โดยหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศจีนแทน ซึ่งเมื่อสัปดาห์ก่อน ดูเตร์เตเพิ่งประกาศแยกตัวจากสหรัฐฯ ระหว่างเยือนกรุงปักกิ่งของจีน

ล่าสุด ดูเตร์เต กล่าวที่การประชุมผู้บริหารธุรกิจญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวเมื่อวันพุธว่า “ผมต้องการให้ประเทศของผมปลอดทหารต่างชาติ บางทีอาจจะภายใน 2 ปีข้างหน้า ผมต้องการให้พวกเขาออกไป” ดูเตร์เตยังพูดซ้ำเรื่องความเป็นไปได้ที่เขาจะยกเลิกข้อตกลงทางทหารกับสหรัฐฯ รวมทั้งพูดถึงความต้องการของเขาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ดูเตร์เตจะมีท่าทีที่แข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ มากขึ้น แต่สหรัฐฯ ก็ยังยืนยันที่จะร่วมมือกับฟิลิปปินส์ต่อไป โดยนาย จอช เคียร์บี โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันอังคารว่า “สหรัฐฯ จะไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อทุกคำพูดจากนายดูเตร์เต เราจะทำงานร่วมกันต่อไปด้วยความสัมพันธ์นี้ เราจะทำตามพันธสัญญาของเราภายใต้สนธิสัญญาความมั่นคงต่อไป”

ประธานาธิบดีดูเตร์เตพบปะกับนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น 

อนึ่ง ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ นอกจากกล่าวโจมตีสหรัฐฯ แล้ว ดูเตร์เตยังยืนยันต่อหน้าเหล่านักธุรกิจชาวญี่ปุ่นด้วยว่า การเดินทางเยือนประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ก่อนของเขานั้น เป็นการเยือนเพื่อพูดคุยในเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ใช่การทหาร และหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกับจีนเรื่องการเป็นพันธมิตร ขณะที่เขารับประกันระหว่างการเข้าพบนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ แห่งญี่ปุ่น ด้วยว่า เขาจะยืนหยัดเคียงข้างญี่ปุ่นในประเด็นเรื่องข้อพิพาททะเลจีนใต้



แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.