ผ่ากลยุทธ์นักแสดงตลกอิตาลีแย่งคะแนนพรรคการเมืองเดิมอย่างเป็นกอบเป็นกำ

Posted: 28 Oct 2016 03:43 AM PDT  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ในอิตาลีมีขบวนการที่เรียกตัวเองว่า 'ขบวนการห้าดาว' (Movimento 5 Stelle หรือ M5S) ที่กลายเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ชวนให้จับตามอง ดิอิโคโนมิสต์เขียนถึงที่มาและสาเหตุที่ทำไมขบวนการที่มาจากดาราตลกและนักวางยุทธศาสตร์ทางอินเทอร์เน็ตถึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นในอิตาลี


แฟ้มภาพขบวนการห้าดาว ในปี 2557 (ที่มา: Wikipedia/Livioandronico2013)

ในนิตยสารดิอิโคโนมิสต์ฉบับวันที่ 24 ต.ค. 2559 ระบุถึงเรื่องราว 'ขบวนการห้าดาว' (M5S) ที่นำโดยบล็อกเกอร์และ ดาราตลกอย่างเบปเป กริลโล ผู้ที่เหมือนเอาไมเคิล มัวร์ นักทำสารคดีสหรัฐฯ และรัสเซลล์ แบรนด์ นักแสดงตลกอังกฤษ มาผสมกัน กริลโลเริ่มก่อตั้ง M5S เมื่อปี 2552 ร่วมกับนักวางแผนยุทธศาสตร์ทางอินเทอร์เน็ตชื่อ เกียนโรแบร์โต คาซาเลกจิโอ ในตอนนั้นยังไม่มีใครเป็นนักการเมือง

คาซาเลกจิโอ ชวนกริลโลเข้าร่วมกับเขาหลังจากที่กริลโลถูกไล่ออกจากรายการโทรทัศน์เพราะไปวิจารณ์คนที่มีอำนาจ โดยให้กริลโลเริ่มเขียนเว็บบล็อก จากนั้นก้เริ่มให้แฟนๆ บล็อกผู้ติดตามเขาอย่างเลื่อมใสพบปะกันจนกลายเป็นกลุ่มในระดับท้องถิ่นและนำไปสู่การก่อตั้ง M5S ในที่สุด โดยที่ก่อนหน้าจะตั้งพรรคนี้กริลโลเคยมีประสบการณ์เป็นนักการเมืองมาก่อนบ้างแล้ว

ในแง่ของสาเหตุที่กลุ่มนี้เริ่มน่าจับตามองดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า เพียงแค่ในเวลา 7 ปี M5S กลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในอิตาลี ขณะที่อิตาลีกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยงหัวต่อทางการเมืองพวกเขากำลังจะมีการลงประชามติในวันที่ 4 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยเป็นประชามติเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแต่งตั้งและอำนาจของรัฐสภาอิตาลีซึ่งอาจจะเป็นการชี้ชะตารัฐบาลผสมทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี และอาจจะฉากความปั่นป่วนทางการเมืองครั้งใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเมื่อปี 2556 ขบวนการ M5S ที่ลงเลือกตั้งด้วยมีคะแนนตามพรรคที่ชนะอย่างพรรคพีดีอยู่เพียงร้อยละ 4 เท่านั้น และมีคะแนนโหวต 8.6 ล้านเสียง สร้างผลสะเทือนต่อพรรคฟอร์ซาที่เคยเป็นคู่แข่งของพีดีรวมถึงพรรคฝ่ายขวาอื่นๆ ที่สู้ไม่ได้ ในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา M5S ก็สามารถเอาชนะพรรคใหญ่อย่างพีดีได้ทั้งในกรุงโรมและแม้กระทั่งในเมืองฐานคะแนนเสียงของฝ่ายซ้ายอย่างตูริน

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่า ปรัชญาของกลุ่ม M5S ไม่ได้มองตัวเองเป็นพรรคการเมืองเลย แต่มองตัวเองเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อกำจัดพรรคการเมืองที่พวกเขามองว่าเป็นแหล่งของระบอบอุปถัมภ์ ทั้งนี้พวกเขายังไม่ได้แค่มองว่าอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือหาเสียงสนับสนุนพวกเขาเท่านั้นแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ M5S มีอยู่ จากที่สื่ออินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นต้องมีตัวกลางทำให้มีโอกาสทำลายระบบพรรคการเมืองในที่สุดและอาศัยการโหวตออนไลน์เป็นช่องทางประชาธิปไตยทางตรง นอกจากนี้ยังมีรูปแบบที่ M5S ทำตัวเสมือนผู้มาโปรด ไม่ยอมทำข้อตกลงร่วมกับพรรคการเมืองใด มีลักษณะคล้ายลัทธิอะไรบางอย่าง และการพยายามยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองไม่ใช่ขวาหรือซ้ายเพื่อพยายามหาแนวร่วมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่า ถึงแม้ผู้นำ M5S จะมีพื้นเพมาจากฝ่ายซ้ายแต่ก็ได้รับคะแนนเสียงจากฝ่ายขวาจำนวนมาก แม้ว่าจะมีความได้เปรียบจากความสามารถเข้าถึงคนที่มีแนวทางการเมืองทั้งสองแบบได้ แต่ก็กลายเป็นข้อเสียได้เช่นกันเพราะสมาชิกฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในขบวนการก็เริ่มปะทะกันในเรื่องนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นกลุ่มย่อยๆ ในขบวนการ อีกทั้งยังมีปัญหาความท้าทายในเรื่องที่คนที่ได้รับเลือกตั้งเข้าไปจะมีประสบการณ์มากพอในการบริหารงานหรือไม่ ถ้าหากนายกเทศมนตรีที่ประชาชนเลือกเข้าไปบริหารงานไม่ได้ ประชาชนก็จะคิดว่าขบวนการนี้ไม่ควรเข้าไปนำประเทศ

เรียบเรียงจาก

Italy’s Five Star Movement, The Economist, 24-10-2016 http://www.economist.com/blogs/economist-explains/2016/10/economist-explains-22

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.