ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ชี้ หากทรัมป์ใช้นโยบายกีดกันการค้าทันทีหลังถูกแต่งตั้ง กระทบไทยแค่ช่วงสั้น ส่งผลเสียต่อสินค้าเคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ แต่จะส่งผลดีต่อเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อุปกรณ์การแพทย์ คิดเป็นร้อยละ 0.2 หรือ 16,000 ล้านบาท ของการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีนี้

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ระบุว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายต่างๆ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้มากน้อยแค่ไหน การกล่าวสุนทรพจน์ในวันรับตำแหน่งจะช่วยสร้างความชัดเจนในนโยบาย โดยเฉพาะในด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทรัมป์มองว่านโยบายการค้าเสรีของสหรัฐฯ ที่มีมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีรูสเวลท์ เปิดช่องให้คู่ค้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้า และสร้างสภาวะการค้าขาดดุลกับสหรัฐฯ เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา เป็นมูลค่ามหาศาลกว่า 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยขาดดุลกับจีนเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวร้อยละ 40 ของการขาดดุลทั้งหมด ส่วนกับไทยขาดดุลเป็นอันดับ 12 เพียง 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 เท่านั้น ทรัมป์จึงมองว่าการกีดกันทางการค้ากับจีนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ กฎหมายของสหรัฐฯ มอบอำนาจที่ค่อนข้างจำกัดให้ประธานาธิบดีสามารถใช้ได้ทันที โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภาครองเกรส โดยหากยึดตามกฎหมายการค้า (Trade Act of 1974, section 122) ประธานาธิบดีสามารถตั้งกำแพงภาษีนำเข้ากับประเทศที่มีการขาดดุลในปริมาณมาก สูงสุดที่ร้อยละ 15 และ/หรือ กำหนดโควตาเป็นเวลาสูงสุด 150 วันเท่านั้น ไม่ใช่ที่ร้อยละ 45 ตามที่ได้กล่าวไว้ตอนหาเสียง ดังนั้นผลกระทบที่แท้จริงหากทรัมป์ตัดสินใจใช้มาตรการดังกล่าวทันที จึงอาจไม่มากนักเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองว่า ผลกระทบต่อการส่งออกไทยจะเป็นในทางอ้อม จากการที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีกับจีน ซึ่งจะกระทบสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การอุปทานที่ไทยส่งไปจีน และจีนส่งต่อไปสหรัฐฯ โดยสินค้าดังกล่าวเป็นประเภทวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอเป็นหลัก คาดการณ์มูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 หรือ ประมาณ 49,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวมีผลดีเช่นกัน กล่าวคือ การที่สินค้าของจีนถูกกีดกัน สินค้าไทยในประเภทเดียวกันหรือใกล้เคียง ย่อมมีโอกาสมาทดแทนสินค้าจีนนั้นๆ ได้ ซึ่งหลักๆ เป็นประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และอุปกรณ์การแพทย์ คาดการณ์มูลค่าส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 หรือประมาณ 33,000 ล้านบาท ดังนั้นหากชั่งน้ำหนักผลกระทบทั้งสองด้านแล้ว พบว่าส่งออกไทยจะเสียหายเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.2 หรือ 16,000 ล้านบาท ทำให้มูลค่าส่งออกในปีนี้ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 1.5 เหลือ ร้อยละ 1.3

ทั้งนี้ในระยะยาว เป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะตั้งกำแพงภาษีได้สูงถึงร้อยละ 45 หากสภาคองเกรสมีมติเห็นชอบกับนโยบายดังกล่าว ผลกระทบกับไทย จึงอาจสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการณ์ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวด้วยกลยุทธ์ต่างๆ อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต การย้ายฐานไปในทำเลที่ได้เปรียบเชิงภาษี หรือหาวิธีเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และให้ความสำคัญกับตลาดในภูมิภาค โดยภาครัฐควรเร่งเจรจาส่งเสริมการค้าระหว่างภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะการรวมกลุ่ม RCEP (ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน).

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.