Posted: 02 Jan 2017 12:58 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
รบ.วางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2.5% บวกลบ 1.5% ‘สภาผู้ส่งออก’ คาดส่งออก 60 โต 1-2 % ตัวเลขประเมินจีดีพีหลายสำนักคาดโต 3.2 จนถึง 4% 'สภานายจ้าง' ห่วงเด็กจบใหม่สายสังคมฯ โอกาสตกงานสูง พร้อมเปิด 12 ข้อเสนอแนะแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ของ อนุสรณ์ ธรรมใจ
อย่างไรก็ตาม 30 ธ.ค. 59 จาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า รายงานนโยบายการเงินฉบับเดือน ธ.ค. 2559 ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ในปี 59 และ 60 มีแนวโน้มขยายตัวใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ที่ 3.2% และ 3.2% ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 59 และปี 60 อยู่ที่ 0.2% และ 1.5% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 0.7% และ 0.8% ตามลำดับ จากการคาดการณ์ของ กนง. แล้ว ยังมีอีกหลายสำนักออกมาคาดการณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.2% จนถึง 4% ด้วยหลายหลายปัจจัย เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของภาครัฐ การบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัว ดังนี้
ครม.วางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2.5% บวกลบ 1.5%
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนออนุมัติเป้าหมายนโยบายการเงินประจำปี 60 พร้อมข้อตกลงระหว่าง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และ รมว.การคลัง ในการกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่ รมว.การคลัง และ กนง.เห็นชอบร่วมกัน โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ 2.5% บวกลบ 1.5%
เวิลด์แบงก์ประเมินปี 60 จีดีพี ขยาย 3.2% ทีมเศรษฐกิจ รบ.คาด 3.5-4%
กอบศักดิ์กล่าวอีกว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม.ถึงกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประเมินอัตราการขยายตัวของจีดีพี ในปี 59 ว่าจะขยายตัวได้ 3.1% และในปี 60 จะขยายตัว 3.2% ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับที่ทางทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลได้ประมาณการไว้ว่าจีดีพีไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ช่วง 3-3.5% ซึ่งจะต้องรอดูในไตรมาสที่ 4 โดยเฉพาะผลจากมาตรการช็อปช่วยชาติและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว ส่วนในปี 60 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้สูงขึ้น 3.5-4% ต่อปี
ศูนย์วิจัยกสิกร คาดโต 3.3%
วันเดียวกัน (21 ธ.ค.59) ศูนย์วิจัยกสิกร ระบุว่า ปี 60 คาดหวังการลงทุนภาคเอกชนเริ่มขับเคลื่อน หนุนการเติบโตอย่างสมดุลมากขึ้น การท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐ และการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ต้องอาศัยแรงผลักดันเสริมจากการส่งออก (ไม่ติดลบ) และการลงทุนภาคเอกชน การจัดทำงบประมาณกลางปี 60 นับเป็นปัจจัยบวกใหม่ เบื้องต้น KResearch ยังคงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 60 ไว้ที่ 3.3% และรอประเมินรายละเอียดและความคืบหน้าของงบกลางปี รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อีกครั้ง
หอการค้า คาด ขยายตัวได้ 3.5-4%
20 ธ.ค.ที่ผ่านมา วิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.3-3.5% ซึ่งภาพรวมถือว่ามีอัตราการฟื้นตัวอย่างช้าๆ และ ไม่ได้ขยายตัวสูงอย่างที่คาดหวังไว้ โดยตั้งแต่ไตรมาส 1/59 เศรษฐกิจขยายตัวที่ 3.2% ไตรมาส 2/59 ขยายตัว 3.5% และ ไตรมาส 3/59 ขยายตัว 3.3% ขณะที่ปี 60 ขยายตัวได้ 3.5-4% ส่วนการส่งออกปี 59 คาดว่าจะขยายตัวติดลบติดลบ 1-0% และ ปี 60 คาดว่าขยายตัว 0-2% โดยปัจจัยที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ รวมถึงการลงทุน และ การใช้จ่ายจากภาครัฐ ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปีหน้า ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนให้หันกลับมาลงทุนเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลจากแนวนโยบายรัฐบาบทรัมป์ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ความเสี่ยงทางการเมืองในภูมิภาคยุโรป รวมถึงการเติบโตที่ชะลอลงของเศรษฐกิจจีน
ธปท.ชี้โตกว่า 3.2%
24 ธ.ค.59 วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขยายตัวของจีดีพี ไทยในระยะอีก 1-2 ปีข้างหน้า ตามที่รัฐบาลมีความมุ่งหวังจะเห็นเติบโตได้เต็มศักยภาพที่ระดับ 4-5% นั้น มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะเติบโตในระดับดังกล่าว หากมีการปฏิรูปการลงทุนเนื่องจากปัจจุบันยังมีบางภาคส่วนที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ เช่น การลงทุนภาคเอกชน โดยในช่วงที่ผ่านมาพบว่าชะลอตัวลงกว่าอดีต หากมีการลงทุนมากขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น S Curve ก็จะช่วยตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวได้ ขณะที่ภาคเกษตรของไทยยังมีโอกาสที่จะยกระดับศักยภาพได้ และจะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศด้วย ทั้งนี้ ในปี 60 มองว่าจีดีพีไทยมีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่าที่ กนง. คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.2% โดยมีปัจจัยบวกสำคัญที่จะเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าเติบโตได้มากขึ้นนั้น ประกอบด้วย หากเศรษฐกิจของสหรัฐฟื้นตัวได้ดีขึ้นจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ก็จะส่งผลดีมาถึงการค้าการลงทุนที่ทำให้ไทยได้รับอานิสงส์ในส่วนนี้ด้วย รวมถึงโครงการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหากในปีหน้าสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผล และทำได้เร็วกว่าคาดก็จะช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คาดไว้
TDRI มองโต 3.2% เริ่มเห็นสัญญาณการบริโภคในปท.ฟื้นตัว
9 ธ.คง 59 กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาร่วมระหว่างธนาคารโลก และทีดีอาร์ไอถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 60 ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เพิ่มขึ้นจากปี 59 ที่จะขยายตัวได้ 3% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกในปี 60 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0-1% หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น จากปีนี้ที่มองว่าปีนี้การส่งออกจะติดลบเล็กน้อยหรือทรงตัวที่ 0%
ทั้งนี้ ในปี 60 การบริโภคในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และสถานการณ์ความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 60 ได้ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 60 ได้ ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะมีส่วนช่วยได้บ้าง เนื่องจากเงินลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยเศรษฐกิจเพียง 5-6%
ซีไอเอ็มบีคาดโต 3.2%
22 ธ.ค.59 อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ประเมินเศรษฐกิจปีนี้น่าจะมีอัตราการขยายตัวของจีดีพี ที่ 3.3% ส่วนปี 60 เศรษฐกิจน่าจะเผชิญทั้งโอกาสและความท้าทาย เปรียบเหมือนสายรุ้งที่มีทั้งด้านสดใสและด้านอึมครึม จากสีม่วงไปจนถึงสีแดง โดยคาดว่าจีดีพีปีหน้าจะโตได้ที่ 3.2% โดยสาเหตุที่มองปีหน้าโตได้น้อยกว่าปีนี้มาจากความเสี่ยงตลาดโลกเป็นหลัก แม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะฟื้นตัวได้บ้างจากการบริโภค แต่ก็ไม่อาจชดเชยแรงกดดันจากภายนอกได้ ซึ่งการทำมาตรการกระตุ้นระยะสั้นของโภครัฐน่าจะช่วยได้เพียงประคองเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ไม่สามารถกระตุ้นให้โตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนภาครัฐคิดเป็นเพียง 6% ของจีดีพี
อนุสรณ์ คาดเศรษฐกิจโลกปีหน้าโต 3.3-3.6%
25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ปี 60 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 60 ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 59 โดยอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ 3.3-3.6% ในปีหน้า ท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตสูงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงตัวเลขเฉลี่ยจีดีพีโลกให้ปรับตัวดีขึ้น คาดว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ระดับ 1.8-2% และ ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศตลาดเกิดใหม่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 4.6-5% ระบบการค้าโลกจะเผชิญแรงกดดันของลัทธิกีดกันทางการค้าและความเป็นชาตินิยมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระแสโลกาภิวัตน์การเปิดเสรีจะหันมาให้น้ำหนักกับการทำข้อตกลงทางการค้าและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจแบบทวิภาคีมากขึ้นกว่าระบบพหุภาคี ความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรปจะถูกสั่นคลอนโดยพรรคการเมืองขวาจัดหรือซ้ายจัดที่กำลังก้าวเข้ามามีอำนาจของรัฐบาลในยุโรปหลายประเทศ
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังประเมินด้วยว่า อัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยอยู่ที่ 2-3% การนำเข้าอยู่ที่ 4-5% ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลมากจากรายได้การท่องเที่ยว เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิต่อเนื่อง อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะสาขาที่เทคโนโลยีจะเข้ามาทดแทนการทำงาน ขณะที่ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานด้านช่วงเทคนิคและแรงงานระดับล่างต่อไป
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นต่อเนื่องยังไม่สามารถเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากขาดนวัตกรรม ระบบการศึกษา ระบบวิจัย คุณภาพทรัพยากรมนุษย์ยังคงอ่อนแอ จึงมีเพดานจำกัดในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะปานกลางและระยะยาว นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐและนิติธรรมเข้มแข็งนัก ขาดยุทธศาสตร์ในการบูรณาการทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แม้นมียุทธศาสตร์ก็ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดขึ้นจริง ขณะที่ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ปัญหาความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ ลดเหลื่อมล้ำยังไม่ดีนักและมีแนวโน้มแย่ลงได้อีกหากยังแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมอุปถัมภ์เป็นอุปสรรคต่อความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ
สภาผู้ส่งออก คาดส่งออก 60 โต 1 – 2 %
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา นพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ระบุว่าได้ปรับคาดการณ์การเติบโตของการส่งออกปี 60 ไว้ที่ 1 – 2% โดยคาดว่าการส่งออกของไทยจะ ได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักที่สำคัญในตลาดโลกต่อเนื่องจากปลายปี 59 และ 2. การปรับตัวของผู้ส่งออกไทยต่อสภาพการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การค้าระหว่าง ประเทศของโลกในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกของไทย ประกอบด้วย 1. สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงเปราะบางและยังทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาคธุรกิจยังมีความกังวลเกี่ยวกับกำลังซื้อที่แท้จริงของผู้บริโภค ว่าจะดีขึ้นในทิศทางเดียวกันหรือไม่ 2. การออกมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรม ภายในประเทศซึ่งอาจนำโดยสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่การตอบโต้ในลักษณะเดียวกันโดยประเทศคู่ค้าอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การค้า ระหว่างประเทศ ในภาพรวมหดตัวลงในระยะยาว แต่จะทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ของปี 2560 เป็นต้นไป 3. สถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งอาจ ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าตามมาในวงกว้าง และ 4. ภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะชะงักงันในซัพพลายเชนของการค้าระหว่างประเทศ
'สภานายจ้าง' ห่วงเด็กจบใหม่สายสังคมฯ โอกาสตกงานมากสูง
20 ธ.ค.ที่ผ่านมา ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทยเปิดเผยว่าแนวโน้มการจ้างงานในปี 2560 ว่า ภาพรวมการจ้างงานของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นจากปี 2559 เนื่องจากอัตราว่างงานของไทยยังคงอยู่ระดับต่ำ แต่สิ่งที่ต้องติดตามคือ นักศึกษาจบใหม่ที่จะมีเข้ามาในระบบเพิ่มขึ้นเดือนมีนาคมกว่า 2 แสนคน ส่วนหนึ่งอาจประสบภาวะตกงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีสายสังคมศาสตร์ ดังนั้นหากภาครัฐกำหนดนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 เพื่อขับเคลื่อนประเทศ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดแผนพัฒนาแรงงานเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานสายอาชีพ เช่น ช่างกล ช่างฝีมือ เป็นต้น พร้อมกับแนะนำว่าสังคมไทยควรให้คุณค่าของการศึกษาภาคอาชีวะมากขึ้น เพื่อให้ผู้ปกครองและเยาวชนกล้าตัดสินใจเข้าเรียนสายอาชีพ
"เราขาดช่าง พอเด็กเข้าไปเรียนแล้วก็ไม่มีระบบที่จะไปรองรับวิทยฐานะของเขาเหมือนในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี หรือประเทศยุโรปอื่น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การจบช่างกับจบปริญญาตรีไม่ได้ด้อยไปกว่ากัน เราจะต้องไม่เอาเปรียบเขา เขาต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญาตรี" ธนิต กล่าว พร้อมแนะนำสำหรับนักศึกษา ที่กำลังจะจบใหม่ในปีการศึกษาหน้า ว่า ให้หาความรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะภาษาที่สองและทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ส่วนข้อกังวลเรื่องการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงาน มองว่า ภาคอุตสาหกรรมไทย อาจต้องใช้เวลาอีกระยะ จะไม่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด เราคงไม่ได้ใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบเหมือนที่หลายๆ คนฝันไว้ ถึงอย่างไรก็ต้องมีการใช้แรงงาน แต่แน่นอนว่าแรงงานก็จะลดลงในอนาคต เพราะคนมีอายุมากขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น แต่การใช้แรงงานจะไม่ได้น้อยลงอย่างฮวบฮาบ" ธนิต ระบุ
12 ข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล โดย อนุสรณ์
25 ธ.ค. ที่ผ่านมา ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีข้อเสนอแนะในทางนโยบายต่อรัฐบาล ไว้ 12 ข้อ ดังนี้
ข้อแรก แรงกดดันจากลัทธิกีดกันทางการค้าเพิ่มสูงขึ้น ระบบการค้าพหุภาคีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงในบางภูมิภาค พลวัตนี้เป็นความเสี่ยงต่อภาคการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของไทย ขณะเดียวกันทำให้เกิดโอกาสของการเปิดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีในระดับทวิภาคีเพิ่มขึ้น รัฐควรเร่งกำหนดทบทวนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ วางยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อให้ “ไทย” พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน
ข้อสอง ต้องเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยมาตรการประชานิยมระยะสั้น มาเป็น ระบบสวัสดิการโดยรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการเงินการคลัง
ข้อสาม เร่าดำเนินการปฏิรูปการศึกษาและระบบวิจัย ตาม ยุทธศาสตร์แผนการศึกษาชาติ 15 ปี และ แผนยุทธศาสตร์ฉบับ 8 ของสภาวิจัยแห่งชาติ
ข้อสี่ เพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณพร้อมกับเร่งให้เกิดความคืบหน้าในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งคมนาคม และ ระบบบริหารจัดการน้ำ
ข้อห้า ใช้มาตรการภาษี มาตรการการเงิน มาตรการลงทุนทางด้านวิจัย มาตรการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ภาคส่งออกไทยกลับมาขยายตัวเป็นบวกและสามารถแข่งขันได้
ข้อหก พัฒนาระบบนิติรัฐให้เข้มแข็งโดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับการค้า การลงทุนและการแข่งขันที่เป็นธรรม มีความคงเส้นคงวาของการดำเนินนโยบาย สร้างระบบธรรมาภิบาล ขจัดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การติดสินบน ลดขั้นตอนในการทำงานและลดอำนาจดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดต้นทุนของภาคธุรกิจอันเกิดจากความประสิทธิภาพและความล่าช้าของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ
ข้อเจ็ด ปรับขนาดของระบบราชการและรัฐวิสาหกิจให้ลดลง (Smaller Government) และ เพิ่มประสิทธิภาพสูงขึ้น จ่ายค่าตอบแทนให้สูงขึ้นในระดับเดียวกับเอกชน ทำให้แปรรูปรัฐวิสาหกิจ (Privatization) ในกิจการที่เอกชนทำได้ดีกว่าและบรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ข้อแปด ส่งเสริมให้มีการปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง และ เพิ่มอำนาจให้กับคนที่มีอำนาจน้อยเพื่อให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของกลุ่มต่างๆในสังคม สิ่งนี้จะนำมาสู่การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ
ข้อเก้า นโยบายต่อภาคเกษตรกรรม มีมาตรการเพิ่มผลิตภาพ มาตรการลดต้นทุน มาตรการทางการตลาด ควรมีการกำหนดการเพดานการถือครองที่ดินและจัดตั้ง ธนาคารที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
ข้อสิบ ควรมีการทบทวนเพื่อให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำอย่างเหมาะสม ปรับเปลี่ยน “กองทุนประกันสังคม” ให้เป็นองค์กรมหาชน จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ใช้แรงงานโดยให้กองทุนประกันสังคมถือหุ้น
ข้อสิบเอ็ด เร่งรัดการก่อหนี้เพื่อนำมาลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมาย ศึกษาและพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยน หน่วยงานจัดเก็บภาษี จากหน่วยงานราชการ มาเป็น องค์กรมหาชน ภายใต้การกำกับของรัฐบาล
ข้อสิบสอง ดำเนินการเพื่อให้ “ประเทศไทย” กลับคืนสู่ประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งตามโรดแมป หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาต้องมีคำอธิบายที่มีเหตุผลเพื่อไม่กระทบต่อความเชื่อมั่น หากทำไม่ได้จะกระทบภาคการลงทุนอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนจากต่างประเทศ
เรียบเรียงจาก :
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, 20 ธ.ค. 2559, หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจปีหน้าขยายตัว3.5-4% http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/732691
ไทยโพสต์, 21 ธ.ค. 2559, เคาะกรอบเงินเฟ้อ2.5% เมินเวิลด์แบงก์กดจีดีพี หอการค้ามั่นใจศก.โต http://www.thaipost.net/?q=เคาะกรอบเงินเฟ้อ25-เมินเวิลด์แบงก์กดจีดีพี-หอการค้ามั่นใจศกโต
ศูนย์วิจัยกสิกร, 21 ธ.ค.2559 http://m.kasikornbank.com/TH/WhatHot/Documents/KR-21Dec16.pdf
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 30 ธ.ค. 2559, กนง.ชี้สัญญาณเงินเฟ้อต่ำ ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อ-คงเศรษฐกิจไทยปี59 โต 3.2% http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1483100415
ประชาไท, 8 ธ.ค. 2559, ว่างงานเพิ่มจากปีก่อน 'จัดหางาน' พบ 10 เดือนที่ผ่านมายอด 3.86 แสนคน แต่อยู่ในสภาวะปกติ http://prachatai.com/journal/2016/12/69167
ไทยโพสต์, 24 ธ.ค. 2559, ธปท.ชี้ปี60จีดีพีโตกว่า3.2% แนะรัฐยกระดับเกษตร ลั่นพร้อมดูแลเงินบาท http://www.thaipost.net/?q=ธปทชี้ปี60จีดีพีโตกว่า32-แนะรัฐยกระดับเกษตร-ลั่นพร้อมดูแลเงินบาท
ไทยรัฐออนไลน์, 9 ธ.ค. 2559, TDRI มองศก.ไทยปี60 โต 3.2% จากส่งออก-บริโภคภายใน ห่วงปัจจัยเสี่ยง ตปท. http://www.thairath.co.th/content/806712
สำนักข่าวไทย, 28 ธ.ค.2559, สภาผู้ส่งออก คาดส่งออกปี 2560 โตร้อยละ 1 – 2 http://www.tnamcot.com/content/623496
ไทยพีบีเอส, 20 ธ.ค.2559, เด็กจบใหม่สายสังคมศาสตร์น่าห่วง ปี 60 เสี่ยงตกงานสูง https://news.thaipbs.or.th/content/258875
แสดงความคิดเห็น