7 จังหวัดภาคใต้รับฝนตกหนักอีก 22-25 ม.ค.นี้
Posted: 20 Jan 2017 11:13 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
ปภ.เผยน้ำท่วมภาคใต้ตั้งแต่ ธ.ค. 2559 ประชาชนได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต 80 ราย วันที่ 22-25 ม.ค. ฝนตกหนักอีก 7 จังหวัด
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
 
21 ม.ค. 2560 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ระบุว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึงปัจจุบัน ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด รวม 122 อำเภอ 755 ตำบล 5,812 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 563,616 ครัวเรือน 1,725,714 คน ผู้เสียชีวิต 80 ราย ผู้สูญหาย 4 ราย ถนน 4,314 จุด คอสะพาน 348 แห่ง ท่อระบายน้ำ 243 แห่ง ฝาย 126 แห่ง อ่างเก็บน้ำ 2 แห่ง สถานที่ราชการเสียหาย 25 แห่ง  โรงเรียน 2,336 แห่ง โดยล่าสุดสถานการณ์คลี่คลายอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง นราธิวาส ปัตตานี กระบี่ และตรัง และยังมี 7 จังหวัดที่ยังมีน้ำท่วมบางพื้นที่  ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี พัทลุง ยะลา ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และสงขลา รวม 27 อำเภอ 133 ตำบล 861 หมู่บ้าน
 
“จากการติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทย วันนี้ (21ม.ค.) จะมีฝนหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข่างแรงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนวันที่ 22-25 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส” อธิบดีปภ. กล่าว
 
นายฉัตรชัย กล่าวว่า ปภ.ได้เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักและฝนตกสะสมที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยประจำจุดเสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
 
หลายจังหวัดภาคใต้น้ำยังท่วมหนั
 
 
 
 
ที่มาภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
 
วันเดียวกันนี้ (21 ม.ค.) สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ รายงานว่าฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องตลอด 4 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง1.55 เมตร ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโก-ลก 9 ชุมชน จำนวน 800 ครัวเรือน รวม 2,553 คน ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น และจนถึงขณะนี้เจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคมเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก ยังคงออกประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ประสบภัยอพยพไปอยู่ที่ศูนย์อพยพผู้ประสบอุทกภัยโรงเรียนเทศบาล 4 และโรงเรียนเทศบาล 1 แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังไม่ยอมอพยพออกมาจากบ้าน ทำให้มีเพียง 7 ครัวเรือนรวม 24 คนเท่านั้นที่อพยพออกไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย
 
ด้านนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนราธิวาส กล่าวว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำโก-ลกในห้วงนี้จะเพิ่มสูงขึ้นชั่วโมงละ 2 เซนติเมตร และคาดว่าจะมีระดับสูงสุดที่ประมาณ 1.80 เมตรแล้วจะทรงตัวหรือเพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณฝนจะลดลงแม้จะมีฝนตกต่อเนื่องต่อไปจนถึงวันที่ 25 มกราคมนี้ สำหรับการระบายน้ำออกจากพื้นที่ยังใช้การระบายน้ำทางธรรมชาติที่น้ำในแม่น้ำโก-ลกจะไหลลงสู่ที่ต่ำในพื้นที่อำเภอตากใบแล้วไหลลงสู่ทะเล แต่จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการในส่วนของประตูระบายน้ำในพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่หนุนสูงไหลเข้ามาสมทบ
 
ที่จังหวัดสงขลา หลังจากที่เกิดฝนตกต่อเนื่องกันระยะนี้ทำให้หลายพื้นที่เกิดน้ำท่วมซ้ำเป็นรอบที่ 4 เช่นที่บ้านแลแบง หมู่ที่ 1 ตำบลสะบ้าย้อย อำเภอสะบ้าย้อย น้ำป่าจากเทือกเขาสันกาลาคีรีได้ไหลลงมาเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้ (21 ม.ค. 60) และได้มีการอพยพชาวบ้านออกจากหมู่บ้านแล้ว 36 ครัวเรือน จำนวน 202 คน ไปอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพชั่วคราวภายในศาลาประชาคมอำเภอสะบ้าย้อย
นอกจากนี้ น้ำยังได้ไหลเข้าท่วมพื้นที่ภายในเขตเทศบาลตำบลสะบ้าย้อยบางส่วน โดยเฉพาะเส้นทางสายสะบ้าย้อย-บ้านโหนด น้ำท่วมสูงประมาณ 50 เมตร และสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วงเนื่องจากยังมีน้ำหนุนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
เช่นเดียวกับในพื้นที่ 4 อำเภอริมทะเลสาบสงขลา ขณะนี้ บางพื้นที่เริ่มถูกน้ำจากทะเลสาบสงขลาหนุนเข้าท่วมซ้ำอีกครั้ง เช่นในพื้นที่อำเภอกระแสสินธุ์ หลายชุมชนระดับน้ำสูงขึ้น และอยู่ในภาวะเฝ้าระวัง
 
ส่วนสภาพน้ำท่วมในพื้นที่เขตอำเภอเมืองยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากที่ตำบลสะเตงนอก ซอยปะจูรง ซอย 6 ผังเมือง 4 ชุมชนหลังวัดตรีมิตร ยังคงมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากปริมาณน้ำที่สะสมจากฝนตกหนัก และคูระบายน้ำออกไม่ทัน อยู่ประมาณ 20-30 เซนติเมตร โดยลดลงจากเมื่อวานนี้ ส่วนที่ชุมชนวิฑูรอุทิศ 10 เทศบาลนครยะลา ได้เร่งนำเครื่องสูบน้ำมาสูบน้ำออกจากถนนที่มีน้ำท่วมขัง จนลดลงเกือบเป็นปกติ ขณะที่ ถนนเส้นทางไปยังชุมชนบ้านเปาะยานิ ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง เจ้าหน้าที่ได้ปิดกั้นเส้นทางไม่ให้รถสัญจรไป-มา เนื่องจากพื้นที่บ้านเปาะยานิ เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ประกอบกับเป็นพื้นที่รับน้ำจากบึงแบเมาะ ซึ่งมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งเนื่องจากฝนตกหนัก ทำให้ยังมีน้ำท่วมขังสูงกว่า 50 เซนติเมตร ส่วนพื้นที่รอบเขตเมืองยะลา ซึ่งติดริมแม่น้ำปัตตานี น้ำยังคงล้นเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน
 
ขณะที่ นายกาส เส็นโต๊ะเย็บ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ได้รายงานสถานการณ์หลังฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดยะลา ว่าในส่วนของพื้นที่อำเภอเมืองยะลา มีพื้นที่ประสบอุทกภัย จำนวน 5 ตำบล 30 หมู่บ้าน ประชาชนเดือดร้อน 720 ครัวเรือน 2,882 คน อพยพ 32 ครัวเรือน 150 คน ถนน 3 สาย (สามารถสัญจรได้) สะพาน 1 แห่ง ฝาย 1 แห่ง พื้นที่การเกษตร 566 ไร่ บ่อปลา 2 บ่อ ประกอบด้วย ตำบลพร่อน หมู่ที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 จำนวน 290 ครัวเรือน 1,450 คน ตำบลสะเตงนอก หมู่ที่ 1 , 3 , 4 , 6 , 7 , 9 , 10 , 12 , 13 จำนวน 44 ครัวเรือน 176 คน ตำบลลำใหม่ หมู่ที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 , 7 จำนวน 106 ครัวเรือน 304 คน ตำบลยุโป หมู่ที่ 1 , 2 , 3 , 4 , 5 , 6 จำนวน 280 ครัวเรือน 952 คน ตำบลท่าสาป หมู่ที่ 3 (น้ำกัดเซาะแนวริมเขื่อนแม่น้ำปัตตานี) โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว
 
ส่วนแนวโน้มสถานการณ์มีฝนตกต่อเนื่อง มีน้ำท่วมขังในที่ลุ่มพื้นที่ตำบลพร่อน อำเภอเมืองยะลา ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี เริ่มเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ใกล้แม่น้ำ และคาดว่าจะขยายวงกว้างในพื้นที่ใกล้เคียง มีการแจ้งเตือนเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
 
ขณะเดียวกันทางชลประทานยะลา ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเขื่อนเก็บน้ำชลประทานปัตตานี ให้แจ้งเตือนประชาชนท้ายเขื่อน อำเภอเมือง อำเภอหนองจิก อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เตรียมขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูง เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี ที่ไหลมาจากอำเภอบันนังสตา อำเภอกรงปินัง และอำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา มีมวลน้ำปริมาณมากจากปริมาณฝนตกสะสม จึงอาจจะทำให้มวลน้ำดังกล่าวไหลไปสมทบกับปริมาณน้ำในเขื่อนปัตตานี และจะไหลลงสู่ปลายน้ำที่จังหวัดปัตตานี ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงในพื้นที่ริมแม่น้ำปัตตานี จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากสื่อและการแจ้งเตือนจากทางจังหวัดในทุกระยะ
 
ขณะที่ เขื่อนบางลางจังหวัดยะลา ยังคงสามารถรับน้ำได้อีกถึง 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีการปล่อยน้ำจากเขื่อนบางลางแต่อย่างใด
 

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.