กรุงเทพโพลล์ ชี้ 75.2% หนุนพรรคการเมือง-คู่ขัดแย้งให้สัจจะวาจาสร้างความปรองดอง
Posted: 20 Jan 2017 01:23 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท) 
กลุ่มประชากรตัวอย่าง 47.2 % เชื่อมั่นค่อนข้างมาก หากลงนามข้อตกลง แล้วจะสร้างความปรองดอง 72.1% มอง ม.44 ยังจำเป็นอยู่ในการสร้างความสามัคคีปรองดอง 57.9% อยากให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง 


20 ม.ค. 2560 กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ทางออกของความปรองดองในสังคมไทย” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,216 คน พบว่า  ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 75.2 เห็นด้วยว่าควรให้พรรคการเมืองและคู่ขัดแย้งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือทางออกโดยทำสัจจะวาจาร่วมกัน และให้ลงนามข้อตกลง (MOU) เป็นลายลักษณ์อักษรให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม เพื่อสร้างความปรองดองให้แก่สังคม โดยในจำนวนนี้ให้เหตุผลว่า  ประเทศจะเดินหน้าพัฒนาได้เร็วขึ้น (ร้อยละ 59.1) รองลงมาคือ จะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้งได้เร็วยิ่งขึ้น (ร้อยละ 47.1) และจะได้มีหลักฐานชัดเจน ไม่มีใครกล้าละเมิดข้อตกลง (ร้อยละ 43.0) ขณะที่ร้อยละ 20.5 เห็นว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ยังไงก็กลับมาขัดแย้งอยู่ดี และร้อยละ 4.3 ไม่แน่ใจ
 
เมื่อถามต่อว่าเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใดว่าการสร้างความปรองดองโดยการทำ MOU ในข้างต้นจะช่วยทำให้สังคมเลิกขัดแย้ง แบ่งฝักฝ่ายได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ส่วนใหญ่ร้อยละ 47.2 เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 43.8 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ที่เหลือร้อยละ 9.0 ไม่แน่ใจ
 
ส่วนข้อคำถามที่ว่า ม.44 ยังจำเป็นหรือไม่กับสังคมไทย หากรัฐบาลต้องการสร้างความสามัคคีปรองดอง ส่วนใหญ่ร้อยละ 72.1 เห็นว่าจำเป็นอยู่ ขณะที่ร้อยละ 19.8 เห็นว่าไม่จำเป็นแล้ว ที่เหลือร้อยละ 8.1 ไม่แน่ใจ
 
เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการรีเซ็ตนักการเมืองในปัจจุบัน ให้เว้นวรรคการเมือง 1 สมัย เพื่อให้ผ่านข้อครหาที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง และให้นักการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน หากยังไม่สามารถสร้างความปรองดองได้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.2 ระบุว่า “เห็นด้วย” ขณะที่ร้อยละ 21.9 ระบุว่า “ไม่เห็นด้วย” และร้อยละ 10.9 ยังไม่แน่ใจ
 
สุดท้ายเมื่อถามว่าควรปฏิรูปสร้างความปรองดองให้แล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้งหรือเดินหน้าเลือกตั้งเลยตามโรดแมปที่วางไว้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.9 อยากให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง ส่วนร้อยละ 35.9 อยากให้มีการเลือกตั้งเลยตามโรดแมปที่วางไว้ และเดินหน้าปฏิรูปต่อไปพร้อมๆ กัน ที่เหลือร้อยละ 6.2 ยังไม่แน่ใจ
 
รายละเอียดการสำรวจ : 
 
วัตถุประสงค์การสำรวจ
1) เพื่อสะท้อนความเห็นถึงแนวทางการปฏิรูปสร้างความปรองดอง ในสังคมไทย
2) เพื่อสะท้อนความเห็นว่าควรปฏิรูปสร้างความปรองดองให้แล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือเดินหน้าเลือกตั้งเลยตามโรดแมปที่วางไว้
 
ประชากรที่สนใจศึกษา  การสำรวจใช้การสุ่มตัวอย่างจากประชาชนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป โดยการสุ่มสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากฐานข้อมูลของกรุงเทพโพลล์ ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) แล้วใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักด้วยข้อมูลประชากรศาสตร์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย
      
ความคลาดเคลื่อน (Margin of Error) การประมาณการขนาดตัวอย่างมีขอบเขตของความคลาดเคลื่อน  ± 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95%
 
วิธีการรวบรวมข้อมูล ใช้การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ (Enumeration by telephone) โดยเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีโครงสร้างแน่นอน ประกอบด้วยข้อคำถามแบบเลือกตอบ (Check List Nominal) และได้นำแบบสอบถามทุกชุดมาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ก่อนบันทึกข้อมูลและประมวลผล
 
ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล   :  17 – 18 มกราคม 2560

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.