Posted: 02 Jan 2017 03:10 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย หย่อมความกดอากาศสูงปกคลุมทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศเย็น ส่วนภาคเหนือระวังฝนฟ้าคะนองเพราะลมฝ่ายตะวันตก - ด้านกองทัพภาค 4 สำรวจความเสียหายและช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพื้นที่ชายแดนใต้
ส่วนลักษณะอากาศในอีก 7 วันข้างหน้า วันที่ 2- 4 ม.ค. ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังมีอากาศเย็นโดยทั่วไป ภาคเหนือจะมีฝนตกหนักบางแห่งและลมกระโชกแรง สำหรับภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วงวันที่ 5-8 ม.ค. จะมีฝนลดลง คลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง
2 ม.ค. 2560 เมื่อเวลา 17.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศฉบับที่ 19 "ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ฝนตกหนักถึงหนักมากภาคใต้ตอนล่าง และคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ฉบับที่ 19 ลงวันที่ 02 มกราคม 2560" มีรายละเอียดดังนี้
มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทย ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากบริเวณจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ปริมาณฝนที่ตกสะสม น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากที่จะเกิดขึ้นได้ และติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่ซัดเข้าหาฝั่ง ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 4 มกราคม 2560 ไว้ด้วย
สำหรับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศพม่าเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรง ส่วนมากบริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นโดยทั่วไป ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
ประกาศ ณ วันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 17.00 น.
กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2560 เวลา 23.00 น.
(ลงชื่อ) วันชัย ศักดิ์อุดมไชย
(นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย)
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
สำหรับการคาดหมายลักษณะอากาศ 7 วันข้างหน้า ในช่วงวันที่ 2- 4 ม.ค. 60 บริเวณประเทศไทยตอนบนอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยกับมีหมอกในตอนเช้า แต่ยังมีอากาศเย็นโดยทั่วไป โดยบริเวณภาคเหนือจะมีฝนตกหนักบางแห่ง และลมกระโชกแรง สำหรับภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร
ส่วนในช่วงวันที่ 5-8 ม.ค. 60 บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในบางพื้นที่ แต่ยังคงมีอากาศเย็นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง
ข้อควรระวังในช่วงวันที่ 2 - 4 ม.ค. 60 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไว้ด้วย และประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งให้ระมัดระวังอันตรายจากคลื่นซัดฝั่งด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง
สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 2-4 ม.ค. 60 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อุณหภูมิต่ำสุด 22-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 5 - 8 ม.ค. 60 อากาศเย็น อุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียส โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม. /ชม.
กองทัพภาค 4 สำรวจความเสียหายและช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยพื้นที่ชายแดนใต้
ที่มา: กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
อนึ่ง พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุว่าเกิดสภาวะฝนหนักในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้บางพื้นที่น้ำระบายไม่ทันจนส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วมขึ้น โดย พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารทุกหน่วย เตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชน ทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และถุงยังชีพ โดยประสานกับสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิ และภาคประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย ทั้งพลเรือน, ตำรวจ ,ทหาร เข้าช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน ตลอดจนเตรียมอพยพประชาชนหากพบว่ามีน้ำท่วมสูง พร้อมทั้งให้เปิดศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเพื่อทำการช่วยเหลือประชาชน
พื้นที่ จ.ยะลา ออกสำรวจความเสียหาย จำนวน 15 หมู่บ้าน 7 ตำบล 4 อำเภอ พื้นที่ จ.นราธิวาสออกสำรวจความเสียหาย จำนวน 25 หมู่บ้าน 16 ตำบล 9 อำเภอ และได้อพยพประชาชน จำนวน 13 ครัวเรือน ส่วนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลาและ จ.ปัตตานี เป็นพื้นที่เฝ้าระวังน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม และน้ำท่วมตลิ่ง เนื่องจากยังคงมีฝนตกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
แสดงความคิดเห็น