เปิดชีวิตผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศไทย พบภาวะกลับไม่ได้ไปไม่ถึง หลายชีวิตอดอยาก-เสี่ยงถูกจับกุม

Posted: 24 Jan 2017 06:03 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

เดอะการ์เดียนนำเสนอสภาพชีวิตผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่จำเป็นต้องใช้ชีวิตอดๆ อยากๆ ขณะติดอยู่ในไทยเพื่อรอเดินทางไปยังประเทศอื่น โดยที่หางานทำหรือเรียนหนังสือก็ไม่ได้ แถมยังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวไม่รู้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ทางการบุกมาจับเมื่อไหร่

24 ม.ค. 2560 หลังเสร็จจากละหมาด นัสซร์ (นามสมมุติ) ชาวซีเรียเชื้อสายปาเลสไตน์อายุ 58 ปี ก็จุดบุหรี่ 1 ใน 60 มวนที่เขาจะสูบต่อวัน ยักไหล่เป็นเชิงขอโทษพร้อมบอกกับผู้สัมภาษณ์ว่า มันเป็นเรื่องเครียดที่ต้องเป็นผู้ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมายในไทย นัสซร์อาศัยอยู่กับเพื่อนชาวอิรัก 2 คน เขาลี้ภัยสงครามจากซีเรียเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

เดอะการ์เดียนระบุว่า เดิมทีนัสซร์อาศัยอยู่ในเขตชานเมืองของกรุงดามัสกัสกับภรรยาและลูกอีก 3 คน โดยทำธุรกิจเกี่ยวกับพรม ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อสงครามคืบคลานเข้ามา "แทนที่จะได้เห็นคนยิ้มอยู่บนท้องถนนกลับมาศพคนตายอยู่ มันถึงเวลาแล้วที่ต้องหนีออกมา"

มีคนแนะนำนัสซร์ให้มาที่ประเทศไทยแทนการไปเส้นทางในกรีซที่เสี่ยงกว่า เพื่อนเขาบอกว่าเมื่อเขามาถึงประเทศไทยแล้วจะต้องใช้เวลาอีกสองสามสัปดาห์ในการที่สหประชาชาติจะจัดหาที่ตั้งรกรากใหม่ให้เขาได้ เขายอมทำตามคำแนะนำนี้เพราะดูไม่ยุ่งยาก แม้ตัวนัสซร์หรือครอบครัวเขาเองก็ไม่รู้จักประเทศไทยมาก่อน เขาตั้งเป้าหมายว่าจะมาอยู่ไทยขั่วคราวก่อนที่จะเดินทางไปยุโรป แต่กลายเป็นว่าเวลาผ่านมาแล้ว 4 ปี เขาก็ยังไม่ได้ออกจากไทยพร้อมสถานะผู้ลี้ภัย จากระบบการพิจารณาของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่พิจารณาให้คนที่มาก่อนและพิจารณาคนที่มีความเสี่ยงมากกว่าก่อน

นั่นทำให้นัสซร์ต้องอาศัยอยู่ในไทยเกินกำหนดวีซ่าจนกลายเป็นผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายโดยที่ทำอะไรไม่ได้ สถานะนี้ทำให้เขาหางานทำไม่ได้ จำต้องพึ่งพาเงินจากพี่น้องของเขาที่อยู่ในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่ออกจากซีเรียตั้งแต่ก่อนมีสงคราม เขาต้องใช้ชีวิตในแต่ละวันไปกับการพยายามทำตัวให้ไม่เป็นจุดเด่นเพราะกลัวถูกจับกุม ประเทศไทยไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยทำให้ไม่มีการรองรับสถานะผู้ลี้ภัยหรือมีการคุ้มครองพวกเขา ในขณะที่ UNHCR ประกาศว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีตัวเลขผู้ลี้ภัยในไทยเพิ่มมากขึ้น 3 เท่า

สภาพของผู้ลี้ภัยที่ต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไปทำงานหรือเรียนหนังสือไม่ได้เช่นนี้ยังเกิดกับผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ รวมถึงฟิราซ (นามสมมุติ) ซึ่งหลบซ่อนตำรวจตรวจคนเข้าเมืองด้วยความหวาดระแวงอยู่เสมอ เขาตัวแข็งทื่อทุกครั้งที่ได้ยินเสียงที่ไม่คุ้นเคยเล็ดรอดผ่านเข้ามาในที่พักห้องเล็กๆ ที่เขาอาศัยอยู่ ครอบครัวของฟิราซเคยถูกจับกุมเมื่อ 2 ปีก่อน เขาเล่าว่าหลังจากที่ครอบครัวเขาถูกจับอัดอยู่ในห้องขังแคบๆ "เหมือนแกะ" เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนจะมีการจ่ายเงิน 140,000 บาท จึงจะได้รับการประกันตัว

ฟิราซเล่าว่าพวกเจ้าหน้าที่มักจะปรากฏตัวตอนกลางคืนโดยที่ไม่รู้ว่าจะมาเย้ยหยันพวกเขาหรือมาจับตัวพวกเขาไป ฟิราซเป็นผู้ลี้ภัยสองต่อ ก่อนหน้านี้เขาเคยลี้ภัยจากปาเลสไตน์ แต่ในปี 2555 ภัยสงครามก็ลามไปถึงค่ายผู้ลี้ภัยยามุค ในกรุงดามาสกัส ทำให้ครอบครัวเขาต้องหนีไปเลบานอน พวกเขาอยู่กันอย่างยากลำบากจนกระทั่งสามารถเก็บเงินมาที่ไทยได้

อย่างไรก็ตามฟิราซยังใช้ชีวิตอยู่อย่างยากลำบากภายใต้เงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อเดือนจากสหประชาชาติ และอีก 600 บาทเพื่อช่วยเหลือลูกๆ ของเขา พวกเขาจำเป็นต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยของบริจาค ฟิราซเล่าว่าเขาจำเป็นต้องเลิกส่งลูกไปเรียนหนังสือฟรีในโรงเรียนผู้ลี้ภัย ราคารถประจำทางทำให้เขาต้องใช้เงิน 70 บาทต่อวัน โดยที่เงินจำนวนนี้เขานำมาทำอาหารได้ ในตู้เย็นของเขามีแต่แครอทเหี่ยวๆ กะหล่ำปลีคล้ำเป็นสีน้ำตาล และปลาซาร์ดีนกระป๋องหมดอายุแล้ว เขาเลี้ยงครอบครัวด้วยของพวกนี้ ฟิราซบอกว่าเขานอนไม่หลับ ต้องคิดอยู่เสมอว่าจะมีชีวิตรอดในวันพรุ่งนี้อย่างไร และจะหาอะไรให้ครอบครัวกิน

ผู้ลี้ภัยอีกรายหนึ่งคือซาห์รา อายุ 15 ปี ดูจะเป็นหนึ่งในจำนวนของผู้ลี้ภัยที่มีอนาคตที่ดีกว่าคนอื่นๆ หลังจากที่บ้านในดามาสกัสถูกทำลายครอบครัวเธอเลือกมาที่ไทยเพราะไม่อยากเสี่ยงตายลอยเรือไปกรีซ แต่เธอก็ต้องอยู่แต่ในแฟลตโดยที่ออกไปเรียนหนังสือที่ไหนไม่ได้เป็นเวลา 2 ปี ใช้เวลาอ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในห้อง ครอบครัวเธออาศัยความช่วยเหลือจากศูนย์ผู้ลี้ภัยกรุงเทพฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก UNHCR หลังจากที่พ่อเธอไม่มีงานทำ

แต่ซาห์ราก็โชคดีเมื่อครอบครัวเธอได้รับเอกสารการตั้งรกรากใหญ่ในสหรัฐฯ มีผู้ลี้ภัยเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่จะได้รับโอกาสเช่นนี้ ซาห์รารู้สึกตื่นเต้นกับการได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ เธอบอกว่า "มันไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มันก็ดีกว่าการมีชีวิตอยู่ในสงคราม"



เรียบเรียงจาก

'How will we survive?': Syrian refugees trapped in poverty in Thailand, The Guardian, 23-01-2017

https://www.theguardian.com/global-development/2017/jan/23/how-will-we-survive-syrian-refugees-trapped-in-poverty-in-thailand

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.