Posted: 03 Jan 2017 08:29 AM PST (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)
สกอตแลนด์เป็นอีกแห่งหนึ่งที่กำลังจะนำแนวคิด 'รายได้ขั้นพื้นฐาน' ที่เปลี่ยนจากสวัสดิการแบบเดิมมาเป็นสวัสดิการการให้เงินระดับพื้นฐานกับประชาชนทุกคน โดยจะมีการนำร่องทดลองใช้ในเมืองไฟฟ์และกลาสโกว์ที่มีปัญหาความยากจน ตามประเทศอื่นๆ ในยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์ แม้ว่าจะมีเสียงวิจารณ์ว่าแนวคิดนี้ยังอุดมคติมากเกินไปในยุคปัจจุบัน
3 ม.ค. 2560 พรรคชาติสกอต หรือเอสเอ็นพี (SNP) แห่งสกอตแลนด์เปิดเผยว่าพวกเขาจะทดลองยกเลิกสวัสดิการแบบเดิมแล้วนำแนวคิด 'รายได้ขั้นพื้นฐาน' (Basic Income) มาใช้แทนกับเมืองกลาสโกว์และเมืองไฟฟ์ โดยที่แนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานจะเป็นการเสนอรายได้ขั้นต่ำที่แน่นอนให้กับประชาชนทุกคน โดยบอกว่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความยากจน
พรรคเอสเอ็นพีซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสกอตแลนด์ประกาศจะใช้ "รายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า" (universal basic income) ที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมีรายได้พื้นฐานไม่ว่าจะมีงานทำหรือไม่ โดยจะมีการทดลองกับเมืองที่ปกครองโดยสมาชิกสภาพรรคแรงงานคือกลาสโกว์และไฟฟ์ หลังจากที่ในปี 2559 ที่ผ่านมามีการประชุมหารือกันในเรื่องนี้ แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการประกาศชัดเจนว่าระดับรายได้พื้นฐานที่ว่าอยู่ที่จำนวนเท่าใด
รายได้ขั้นพื้นฐานดังกล่าวนี้จะถูกนำมาใช้แทนสวัสดิการอื่นๆ อย่างเงินสงเคราะห์ของคนที่กำลังหางาน สวัสดิการครัวเรือนที่มีคนทำงานและมีรายได้ต่ำ (working tax credits) และเงินบำนาญรัฐ โดยจะแทนที่ด้วยการจ่ายเงินให้เท่ากันในอัตราเดียวทั้งกับผู้ที่ว่างงานและผู้ที่มีงานทำ เงินที่ได้รับมากกว่านี้จะถูกหักภาษี
แมตต์ เคอร์ ส.ส.พรรคแรงงานบอกว่าเขาก็เหมือนกับคนอื่นๆ จำนวนมากที่สนใจแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานแต่ไม่ได้มั่นใจในระบบนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามปัญหาความยากจนทำให้เขาต้องหันมาหาแนวคิดนี้ โดยที่เมืองกลาสโกว์เป็นเมืองที่เด็ก 1 ใน 3 มีชีวิตอยู่ภายใต้ความยากจน เมืองไฟฟ์เองก็มีปัญหาความยากจนที่แอบซ่อนอยู่ภายในจากการสำรวจของหน่วยงานสภาองค์การลูกจ้าง
กาย สแตนดิง ศาตราจารย์นักเศรษฐศาสตร์ผู้สนับสนุนรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้าและผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร "เครือข่ายรายได้พื้นฐานโลก" (Basic Income Earth Network หรือ BIEN) พูดถึงสาเหตุที่ต้องมีรายได้ขั้นพื้นฐานว่าเพราะต้องการปลดแอกผู้คนจากความเชื่อที่ว่าคนเราต้องทำงานเพื่อให้มีชีวิตรอด อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำให้งานในหลายอาชีพกลายเป็นเรื่องซ้ำซ้อน นอกจากนี้เขายังเคยทำนายว่ามาตรฐานการครองชีพที่ไม่มีความเจริญก้าวหน้าและความไม่มั่นคงในการงานจะทำให้เกิดกระแสประชานิยมแบบขวาจัดเกิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตามมีฝ่ายต่อต้านแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานแปะป้ายว่าแนวคิดนี้เป็น "นิยายโลกอุดมคติ" และ "เงินได้เปล่า" พวกเขากล่าวหาว่าแนวคิดนี้จะทำให้ผู้คนขี้เกียจ และเป็นการให้เงินของสาธารณะกับคนที่มั่งมีอยู่แล้ว
ดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่าการใช้แนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานเคยประสบความสำเร็จในโครงการนำร่องที่แอฟริกาและอินเดีย แนวคิดนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในยุโรป เมื่อไม่นานมานี้มีการนำการทดลองใช้แนวคิดนี้เป็นโครงการนำร่องที่เนเธอร์แลนด์และฟินแลนด์ อย่างไรก็ตามการทดลองในฟินแลนด์ไม่ใช่รายได้ขั้นพื้นฐานแบบถ้วนหน้าเพราะเป็นการให้แต่กับคนที่ตกงาน
กลุ่มผู้สนับสนุนบอกว่าแนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานจะทำให้เกิดระบบสวัสดิการที่ซับซ้อนน้อยลง มีความเป็นธรรมมากขึ้น ลดปัญหาความขัดแย้งเรื่องสิทธิ์ในการใช้สวัสดิการแบบเดิม เหมาะสมกับครอบครัวเพราะเป็นการยอมรับว่างานดูแลจัดการภายในบ้านก็เป็นงานอย่างหนึ่งที่ควรได้รับผลตอบแทน นอกจากนี้ยังเชื่อว่าจะทำให้คนมีความสุขและมีสุขภาพดีเพราะสามารถเรียนรู้หรือเข้ารับการฝึกอบรมต่างๆ ได้อย่างอิสระ และยังเป็นการลดรายจ่ายภาครัฐด้วย
อย่างไรก็ตามจอห์น เรนโตล นักข่าวและนักวิจารณ์การเมืองจากดิอินดิเพนเดนต์เขียนบทความวิจารณ์แนวคิดรายได้ขั้นพื้นฐานว่าถึงแม้จะเป็นแนวคิดที่มีความปรารถนาดีจากการเล็งเห็นสิทธิและสวัสดิการของประชาชนและมองอนาคตของเรื่องการงานในอนาคตว่าจะเต็มไปด้วยงานพาร์ทไทม์ งานที่ไม่สม่ำเสมอ งานที่ไม่มั่นคงแน่นอน แบบในยุคปัจจุบัน ทำให้ต้องมีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมรองรับผู้คนที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง แต่เรนโดลก็กังวลว่าการดำเนินการจะทมีรายจ่ายแพงมากและอาจจะทำให้คนที่มีรายได้ในค่าเฉลี่ยต่อปีถูกขึ้นภาษีหนักขึ้นมาก เรนโดลจึงเรียกร้องให้นักนโยบายทั้งหลายมองสภาพความเป็นจริงกันมากขึ้นแทนที่จะมองสิ่งที่เพ้อฝันอย่างเดียว
เรียบเรียงจาก
Scotland set to pilot universal basic income scheme in Fife and Glasgow, The Independent, 03-01-2017
Basic income is the latest bad political idea that refuses to die, John Rentoul, The Independent, 03-01-2017
แสดงความคิดเห็น