อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ศาสนาในพื้นที่สาธารณะใหม่

Posted: 01 Jan 2017 04:45 PM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เวบไซท์ประชาไท)

ผมได้รับโอกาสที่ดีมากในการเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านพระมหาบุญช่วย สิรินุธโธ และคุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ในโครงการวิจัยเรื่อง “การพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนบนฐานศาสนธรรม” สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.​) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น การเข้าร่วมนี้ทำให้เกิดความคิดหลากหลายและมองเห็นสังคมในอีกมิติหนึ่ง จึงขอนำบางประเด็นมาเล่าสู่กันฟังครับ

ท่านพระมหาบุญช่วย สิรินุธโธ ผู้ประสานงานโครงการวิจัยได้เลือกชุนชนที่เป็นพื้นที่การวิจัยที่มีความหลากหลาย อันประกอบด้วยชุมชนที่นับถือศาสนาพุทธ คริสต์ และอิสลาม ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนั้นเกิดขึ้นจากพี่น้องในชุมชนเห็นปัญหาของตนเองและปรารถนาจะแก้ไขด้วยการใช้ฐานศาสนธรรมให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาของตนเอง

คุณพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้กล่าวเน้นว่าโครงการนี้มีความหมายและความสำคัญอย่างยิ่งในแง่ที่จะทำให้เราเริ่มมองเห็นและมองหาแนวทางการปรับตัวของ “เทวศาสตร์ในพื้นที่สาธารณะใหม่” ซึ่งเป็นประเด็นที่ศาสนาคริสต์ในโลกตะวันตกได้พยายามปรับตัวมานับเนื่องทศวรรษ

ท่านพระมหาบุญช่วย ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายของการประชุมทำนองว่าหากโครงการทั้งหมดสามารถที่จะปรับศาสนธรรมมาใช้แก้ปัญหาของชุมชนได้ ก็จะเป็นฐานคิดต่อไปว่าหากสังคมไทยจะเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยศาสนธรรมจะทำอย่างไรกันได้บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญยิ่งของสังคมไทยในปัจจุบัน

กรอบคิดในการแสวงหา “ความรู้” เพื่อสังคมของท่านทั้งสองควรจะเป็นหลักการที่สังคมไทยควรจะต้องหยิบมาใคร่ครวญกันนะครับ เพราะในวันนี้ เราเกือบจะมองไม่เห็นหลักการของศาสนาหรือศาสนธรรมปรากฏอยู่ในชีวิตของผู้คนเลย

หากเรานิยาม “ศาสนา” ในเชิงวัฒนธรรมเพื่อทําความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น กล่าวได้ว่า “ศาสนา” คือ ระบบของสัญญลักษณ์ซึ่งมีพลังในการอธิบายกระบวนการของชีวิตทั้งหมด ตั้งแต่อดีต เรื่อยมาถึงปัจจุบัน และมองไปสู่อนาคต พลังของการอธิบายเกิดขึ้นได้เพราะการอธิบายครอบคลุมมิติต่างๆของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านของอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และยึดโยงแนบแน่นกับความหมายที่ดีงาม (ระบบศีลธรรม) ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทั้งหมด

พลังของศาสนาที่สามารถอธิบายทุกสรรพสิ่งได้อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกันไปนี้จึงเป็นรากฐานแรงจูงใจของมนุษย์ในการจรรโลงสรรพสิ่งตามเป้าหมายของกระบวนชีวิตในศาสนานั้นๆ

พลังในการอธิบายกระบวนการของชีวิตทั้งหมดในอดีตกาลมีสูงมากเพราะสังคมมนุษย์ไม่ได้มีความแตกต่างมากนักในสถานะทางเศรษฐกิจและระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด “มนุษย์จึงเป็นมนุษย์”ที่ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในกรอบการอธิบายของศาสนา อดีต (ชาติ) ปัจจุบัน (กาล) และอนาคต (ชาติ) อยุ่ในชุดเดียวกัน อาจจะมีความแตกต่างอยู่ในเรื่องชนชั้นแต่ไม่ได้มีทางมองโลก มองชีวิตที่ฉีกขาดจากกัน

แต่สังคมไทยปัจจุบัน (รวมทั้งสังคมโลกด้วย) กลับมีความแปลกแยกแตกต่างกันมากมายและเกิดขึ้นในทุกมิติของชีวิต ผมคิดว่าวันนี้สังคมไทยเหมือน “ สังคมขนมชั้น” แบบโมเสคแยกย่อย (ชิ้นเล็กๆที่ประกอบกันเป็นชิ้นใหญ่แต่ไม่เป็นโมเสครูปเดียวกัน ) สังคมลักษณะนี้จะเห็นได้ว่าแม้ว่าแต่ละชั้นจะอยู่รวมกันแต่ก็ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นในแต่ละกลุ่มชนชั้นก็มีรอยแยกระหว่างกันอีกด้วย

ตัวอย่างของกฎทั่วไปที่อธิบายภาวะของการดำรงอยู่ของสรรพสิ่ง ซึ่งซ้อนทับบนการอธิบายกระบวนการของชีวิตทั้งหมด (ที่ครอบคลุม อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของมนุษย์) เช่น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น) กฎทั่วไปนี้เคยอธิบายการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งเช่นนี้กลับไมมีเสน่ห์ต่อคนอีกหลายกลุ่มในสังคม เช่น “อนัตตา” คือ ความไม่มีตัวตนนั้น ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีพลังกับกลุ่มคนชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยที่มีสํานึกเชิงปัจเจกชนนิยมที่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตนเอง จนทําให้เกิดการตีความบิดเบี้ยวและสร้างกฎทั่วไปใหมที่เน้นถึง ภาวะที่เป็นอัตตาที่มีอยู่/และดํารงอยู่ของสภาวะนิพพาน (ซึ่งเดิมเป็นอนัตตา) หรือการเกิดลัทธิพิธีใหม่ๆมากมายในสังคม

“สังคมขนมชั้น” แยกย่อยแบบโมเสคกลายเป็นพื้นที่สาธารณะใหม่ขนาดใหญ่ที่คนอยู่ร่วมกันในลักษณะที่ไม่มีใครเข้าใจและเห็นใจกันอีกแล้ว ขณะเดียวกันในแต่ละชิ้นของโมเสคสังคมก็สร้างความหมายของชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ศาสนาที่ครั้งหนึ่งเคยประสานหรือสร้างความรู้สึกร่วมกันในความหมายของชีวิตก็ลดความหมายลงไปจนเกือบหมดสิ้น

ความรู้ที่นักวิจัยในโครงการวิจัยชุดนี้กำลังแสวงหาอยู่จึงไม่ใช่แค่การตอบเพียงแค่ปัญหาในชุมชนแต่ละพื้นที่เท่านั้น แต่หากกำลังเสาะแสวงหาทางออกให้แก่สังคมโดยรวมอีกโสดหนึ่งด้วย เพราะท่านทั้งหลายกำลังดึงเอาแก่นแกนของศาสนธรรมให้กลับเข้ามาอยู่อย่าง “เป็นธรรมดา” ของชีวิตประจำวันของคนทั่วไปในชุมชน เพื่อที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาหลายอย่างในชุมชนตนเอง

หากศาสนธรรมแยกออกจากชีวิตธรรมดาของผู้คน และเป็นเพียง“สมบัติ”ของคนกลุ่มน้อยที่ใฝ่ฝันบรรลุบรมธรรมของศาสนา เราก็คงต้องเผชิญปัญหาสังคมหนักหน่วงมากขึ้นๆไปเรื่อยๆ ดังนั้น พวกเราเองก็คงจำเป็นที่จะต้องคิดถึงการสร้าง “ศาสนาธรรมที่เป็นธรรมดา” เพื่อที่จะทำให้เป็นพลังในการประสานหรือสร้างความรู้สึกร่วมในสังคมให้แจ่มชัดเพื่อชีวิตของเราและลูกหลานในอนาคต





เผยแพร่ครั้งแรกใน: กรุงเทพธุรกิจ

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.