การค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือ Exoplanet ทุกวันนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว จำนวนที่ค้นพบ ณ วันนี้มากเป็นพันๆ นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก้าวไปถึงขั้นตั้งหน้าตั้งตาทำเรื่องที่ลึกลงไปกว่ากว่านั้น คือหาชีวิตในระบบดาวอื่นกันเลยทีเดียว
สตีเฟน เคน นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซาฟรานซิสโก เป็นหนึ่งในนักค้นหาชีวิตต่างดาว และระบบดาวที่ถูกหมายตาไว้คือระบบดาว Wolf 1061 ห่างออกไป 14 ปีแสงจากโลก
คำว่าระบบดาวหมายถึงดาวฤกษ์ ที่มีบริวาณเป็นดาวเคราะห์โคจรอยู่โดยรอบ เหมือนกับระบบดาวบ้านเกิดเราที่มีดาวเคราะห์น้อยใหญ่โคจรรอบดาวดาวฤกษ์ศูนย์กลางนั่นคือดวงอาทิตย์ ในบทความนี้เราขอเรียกดาวฤกษ์ตรงกลางระบบดาวว่าดาวแม่แล้วกัน เข้าใจง่ายดี
ชีวิตต้องอยู่บนดาวเคราะห์หรือดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ และดาวเคราะห์ดวงนั้นก็ต้องอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกวา Habitable zone รอบดาวแม่ นั่นคือไม่ใกล้และไม่ห่างเกินไป โดยขึ้นกับขนาดและชนิดดาวแม่เป็นสำคัญ
ดาวแม่ที่เป็นดาวฤกษ์ยักษ์สีน้ำเงิน จะมีความร้อนสูงมาก ดาวเคราะห์ต้องอยู่ห่างๆจึงมีชีวิตเกิดได้
ดาวแม่ที่เป็นดาวฤกษ์แคระแดง จะมีความร้อนต่ำมาก ดาวเคราะห์ต้องอยู่ใกล้มากจึงมีความอบอุ่นพอ ห่างไปก็หนาวเย็นชีวิตเกิดยาก
ดาวแม่ที่เป็นดาวฤกษ์เหลือง (แบบดวงอาทิตย์เรา) ดาวเคราะห์ต้องอยู่ในระยะประมาณโลกเราก็จะพอดีๆ กะคร่าวๆคือ Habitable zone น่าจะกว้างจากดาวศุกร์ถึงดาวอังคาร ใกล้กว่านี้ร้อนไป ห่างกว่านี้ก็เย็นไป
นอกจากนี้ขนาดของดาวเคราะห์ดวงนั้นก็สำคัญ เพราะหากมีขนาดเล็กกว่าโลกเราเกินไป แรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์นั้นก็จะต่ำจนทำให้ดึงดูดระบบบรรยากาศเอาไว้ไม่ได้
สภาพส่วนประกอบของบรรยากาศก็เป็นอีกส่วนหนึ่่ง คือนอกจากจะมีก๊าซที่เหมาะกับชีวิตแล้วก็น่าจะมีลักษณะเรือนกระจกกักเก็บแสงแดดให้อบอุ่นมีความเสถียรไม่แตกต่างร้อนเย็นเกินไป
ฟังดูไม่ง่ายเลยที่จะพบดาวเคราะห์ที่เหมาะกับการกำเนิดชีวิตที่เหมาะสม ซึ่งเราก็มีประสบการณ์มาแล้วกับที่ไม่เคยได้เจอชีวิตแม้ขนาดเล็กๆนอกโลกของเราในระบบสุริยะนี้
ทีมงานของสตีเฟน เคนเล็งไปที่ดาวเคราะห์ที่มีรหัส c หรือลำดับที่ 3 ในระบบ Wolf 1061 หรือเรียกต่อท้ายไปเลยว่าดาวเคราะห์ Wolf 1061 c เพราะเล็งเห็นว่ามันมีลักษณะถูกต้องตรงกับที่กล่าวมาทุกประการ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่อาจฟันธงลงไปได้ เพียงแต่หวังว่าระยะ 14 ปีแสงถึงว่าใกล้ หากฟลุ๊คโชคดีมีใครที่นั่นพอจะคุยกับเรารู้เรื่อง การส่งสัญญาณติดต่อกันก็ยังพอทำได้เพราะรอไม่นานมากแค่ 28 ปี (ระยะส่งสัญญาณไปกลับ)
แต่ทางทีมงานก็จะรอให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ที่มีกำลังขยายสูงขึ้นสู่งโคจรก่อน (น่าจะตุลาคมปีหน้า 2018) เพื่อใช้กล้องนี้ส่องดาว Wolf 1061 c ให้แน่ใจอีกครั้ง
ที่มา https://www.sciencedaily.com/releases/2017/01/170119161546.htm
อ้างอิง http://exoplanetarchive.ipac.caltech.edu/
เรียบเรียงโดย @MrV
อ้างอิง http://exoplanetarchive.ipac.caltech.edu/
เรียบเรียงโดย @MrV
แสดงความคิดเห็น