Posted: 16 Dec 2017 02:48 AM PST  (อ้างอิงจากอีเมล์ข่าว เว็บไซต์ประชาไท)

หนุนสร้างงานคนพิการ ใช้สิทธิ ม.35 แล้วกว่า 2 หมื่นราย/รมว.แรงงานถก ออท.สปป.ลาวตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ/สปส.ส่ง SMS เตือนผู้ประกันตน ม.39 อย่าขาดส่งเงินสมทบ/เตือนคนไทยไปตายเกาหลีพุ่ง! โดยเฉพาะแรงงานผิด กม. เหตุหนาวจัด

หนุนสร้างงานคนพิการ ใช้สิทธิ ม.35 แล้วกว่า 2 หมื่นราย

รมว.แรงงานหนุนสร้างงานคนพิการ เผยคนพิการใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 35 โดยจัดสถานที่ให้จำหน่ายสินค้าหรือบริการ ให้สัมปทานพื้นที่ และให้ความช่วยเหลือต่างๆ แล้วกว่า 2 หมื่นราย คิดเป็นร้อยละกว่า 96 จากยอดคนพิการมาขอรับบริการกว่า 2 หมื่นราย ขณะเดียวกันได้นำร่องจ้างงานคนพิการในหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคร่วม 90 ราย

นายอนุรักษ์ ทศรัตน์ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การสร้างงานให้คนพิการ เพื่อให้มีรายได้ เป็นนโยบายที่พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรา 35 ตามพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ให้แก่คนพิการและนายจ้าง/สถานประกอบการ พร้อมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้รับสิทธิมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ผ่านมานั้น กรมการจัดหางานได้สนับสนุนให้คนพิการใช้สิทธิตามมาตรา 35 ใน 7 ประเภทกิจกรรม ได้แก่ 1) ให้สัมปทาน เช่น ให้สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตร ตู้เครื่องดื่มอัตโนมัติในบริเวณสถานประกอบการ ให้ช่องสัญญานวิทยุ/โทรทัศน์ จัดสรรเสื้อโปโลของสถานประกอบการให้คนพิการไปจำหน่าย เป็นต้น 2) จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ เช่น โรงพยาบาลจัดพื้นที่ให้คนพิการเปิดร้านขายดอกไม้ สถานประกอบการจัดพื้นที่ให้เปิดบริการรับฝากรถ เป็นต้น 3) จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการโดยวิธีพิเศษ เช่น จ้างเหมาบริการให้คนพิการนวดผ่อนคลาย ทำความสะอาดสำนักงาน เป็นต้น 4) ฝึกงาน เช่น จัดหลักสูตรฝึกการเจียระไนอัญมณี การซ่อมคอมพิวเตอร์พื้นฐาน ซ่อมเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น 5) จัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ติดตั้งลิฟท์สำหรับคนพิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว สร้างพื้นผิวต่างสัมผัสสำหรับคนพิการทางการเห็น เป็นต้น 6) ล่ามภาษามือ เช่น จ้างล่ามภาษามือเพื่อคนพิการทางการได้ยินให้สื่อสารกับหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น 7) ให้ความช่วยเหลืออื่นใด เช่น มอบเงินให้คนพิการซื้ออุปกรณ์ทำไม้กวาดเพื่อจำหน่าย ซื้อสินค้าที่คนพิการทำเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ สร้างร้านจำหน่ายสินค้าในชุมชน สร้างศูนย์การเกษตร เป็นต้น ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า การจัดทำสัญญาขอใช้สิทธิของทั้งสองฝ่ายเป็นไปโดยสมัครใจ และรายชื่อคนพิการที่ขอใช้สิทธิจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่พบคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการว่าได้รับสิทธิเป็นไปตามคำขอใช้สิทธิหรือไม่

จากการดำเนินงานที่ผ่านมา ขณะนี้คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมาใช้บริการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 แล้ว จำนวน 21,868 ราย ได้รับสิทธิตามมาตรา 35 จำนวน 21,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.36 นอกจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมการจัดหางานซึ่งเป็นหน่วยงานหลักนำร่องการจ้างคนพิการทำงานในหน่วยงานภาครัฐได้บรรจุคนพิการเข้าทำงานจำนวน 90 ราย เป็นข้าราชการ จำนวน 2 ราย พนักงานราชการ 1 ราย และจ้างเหมาบริการตามโครงการส่งเสริมคนพิการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยทำงานที่กรมการจัดหางานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 87 ราย ติดต่อขอรับบริการหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 นายอนุรักษ์ กล่าว

ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 16/12/2560

เอ็มจี ผุดโรงงานเหมราชฯ กำลังการผลิต 1 แสนคันต่อปี

บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เทงบ กว่า 1 หมื่นล้านบาท เปิดโรงงานผลิตรถยนต์ นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี ชูการผลิตด้วยนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์อัจฉริยะ ผสาน กับเทคโนโลยีการผลิต และระบบตรวจสอบ คุณภาพที่ดีที่สุด และเป็นเป็นมิตรต่อ สิ่งแวดล้อม

มร.สือ กั๋ว หย่ง กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท เอสเอไอซี-มอเตอร์ ซีพี จำกัด กล่าวว่าโรงงานแห่งใหม่นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการพัฒนาแบรนด์เอ็มจีในประเทศไทย จะช่วยให้บริษัท เอสเอไอซี- มอเตอร์ ซีพี มีการเติบโตและพัฒนาได้เร็วขึ้น หลายปีที่ผ่านมา บริษัทได้นำรถยนต์คุณภาพหลายรุ่นเข้าสู่ตลาด เช่น MG3, MG5, MG6, MG GS และรุ่นล่าสุด MG ZS ที่มาพร้อมระบบอัจฉริยะ "i-SMART" และเป็นรถรุ่นแรกในโลก ที่สามารถสั่งการด้วยเสียงภาษาไทย

"นับตั้งแต่ รถยนต์ MG ZSใหม่ เป็นต้นไป รถเอ็มจีทุกรุ่นจะผลิตขึ้นในโรงงานแห่งใหม่นี้ ภายใต้สี่ยุทธศาสตร์หลักของเครือ เอสเอไอซี-มอเตอร์ ได้แก่ อินเตอร์เนต คาร์, รถพลังงานทางเลือก, คาร์ แชร์ริ่ง และรถขับเคลื่อนเองอัตโนมัติ พร้อมกับนำเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเตอร์เนต ที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ในรถเอ็มจี รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์การเดินทาง และประสบการณ์การใช้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภคชาวไทย เพื่อสร้าง เอสเอไอซี- มอเตอร์ ซีพี ให้เป็นฐานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาระดับโลก ที่ปักหลักในประเทศไทย และครอบคลุมทั่วอาเซียน"

นายธนากร เสรีบุรี รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์และประธานคณะผู้บริหารกลุ่มธุรกิจยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า "ความสำเร็จของเรามาจากความร่วมมือและความเชื่อมั่น ระหว่างผู้ร่วมทุนเครือเซี่ยงไฮ้ ออโตโมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผลมาจากความพยายามมุ่งมั่นของคณะผู้บริหาร และพนักงาน ในฐานะตัวแทนบริษัทร่วมทุน ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้เห็นโรงงาน แห่งใหม่ ที่เสร็จสมบูรณ์ตามกำหนด ซึ่งจะเป็นรากฐานที่มั่นคงในการพัฒนาเอ็มจีในระยะยาวต่อไป"

สำหรับโรงงานผลิตรถยนต์ เอ็มจี แห่งใหม่ ตั้งอยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด แห่งที่ 2 จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 437.5 ไร่ มีกำลังการผลิต สูงสุด 100,000 คันต่อปี ด้วยนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ (Automations) และหุ่นยนต์อัจฉริยะ (Intelligent Robotics) ผสานกับเทคโนโลยีการผลิตและระบบตรวจสอบคุณภาพที่ดีที่สุดและเป็นโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา: แนวหน้า, 15/12/2560

รมว.แรงงานถก ออท.สปป.ลาวตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การหารือร่วมกับ นายแสง สุขะทิวง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำประเทศไทย มีการพูดคุยเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กลุ่มบัตรสีชมพูและกลุ่มใบจับคู่ รวมถึงปัญหาและอุปสรรคจากการดำเนินงานของฝ่ายไทยและฝ่ายลาว ซึ่งจากการตรวจสอบการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวที่ผ่านมา พบว่า แรงงานสัญชาติลาวที่จดทะเบียนบัตร สีชมพู มีจำนวนทั้งสิ้น 71,521 ราย ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้ว 17,024 ราย คงเหลือ 54,497 ราย และกลุ่มใบจับคู่ (MOU) มีจำนวนทั้งสิ้น 87,792 ราย จึงได้เสนอเป็นหลักการให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติลาวกลุ่มใบจับคู่ จากเดิมที่ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง เพื่อดำเนินการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยในรูปแบบ MOU นั้น สามารถดำเนินการเบ็ดเสร็จที่ประเทศไทย ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงาน

พร้อมทั้ง เพิ่มขีดความสามารถของการให้บริการระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว ให้มากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาและกัมพูชา เพื่อให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด

ทั้งนี้ ท่านทูตลาวได้รับหลักการดังกล่าวไว้พิจารณา โดยขอให้ทางรัฐบาลไทยทำหนังสือและจัดทำแผนปฏิบัติการ เพื่อนำเรียนทางการ สปป.ลาว ต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 14/12/2560

เทงบปี' 2562 ลงท้องถิ่นกระตุ้น ศก.ฐานราก-อุ้มผู้สูงวัย

ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ร่วมงานประชุมสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2017 OECD-ASIAN Senior Budget Officials ครั้งที่ 13 โดยมีประเทศสมาชิก เข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

รมช.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของไทย ในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 (เริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2561-30 กันยายน 2562) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้จัดทำให้เร็วขึ้น ซึ่งจะให้ทุกหน่วยงานเสนอคำขอใช้งบประมาณมายัง สำนัก งบประมาณภายในวันที่ 27 ธันวาคม 2560 นี้

ทั้งนี้ ภายหลังจากทุกหน่วยงานยื่นคำของบประมาณแล้ว จะมีการประชุม 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงบประมาณ เพื่อจัดสรรงบประมาณอย่างเหมาะสม ก่อนพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณ 2562ต่อไป

สำหรับการจัดทำงบประมาณ 2562 จะมีการเน้นการจัดสรรลงสู่ท้องถิ่น มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ ชุมชน ซึ่งจะเป็นรากฐานให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อไป โดยขณะนี้ได้ให้ความสำคัญกับงบประมาณการพัฒนา การท่องเที่ยวเมืองรองมากขึ้น และ ท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้นด้วยเช่นกัน

"การจัดทำงบประมาณยุคใหม่มุ่งเน้นจัดสรรงบประมาณรองรับสังคมผู้สูงอายุตามโครงสร้างประชากร เพื่อออกมาตรการส่งเสริมผู้สูงอายุหลังเกษียณได้ทำงาน เพราะยังมีศักยภาพในการทำงาน การอบรมให้ความรู้ ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปลี่ยนไปเน้นการรับฟังความต้องการจากท้องถิ่นแทนการจัดสรรจากส่วนกลาง เช่น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฟื้นฟู พัฒนา สินค้า วัฒนธรรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ดังนั้น การจัดทำ งบประมาณรายจ่ายปี 2562 จะเปลี่ยนไปมาก"

ด้านนายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า ในวันที่ 10 มกราคม 2561 จะมีการประชุมร่วมทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อหารือการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2562 โดยเบื้องต้นจะเป็นงบประมาณแบบขาดดุล แต่จะเป็นการขาดดุลลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น จึงใช้ งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจลดลง

ขณะที่การจัดทำงบประมาณ 2562 จะเน้นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะในเขต พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดัน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S-Curve และการสาธารณสุขที่เน้นการป้องกันโรคควบคู่การรักษา เป็นต้น

"การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานคุณภาพ ทั้งอีอีซี, เศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงาน มีคุณภาพและศักยภาพนับล้านคน และการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพียงอย่างเดียวจะมีความเสี่ยง" นายเดชาภิวัฒน์ กล่าว

ที่มา: แนวหน้า, 14/12/2560

สปส.ส่ง SMS เตือนผู้ประกันตน ม.39 อย่าขาดส่งเงินสมทบ

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 39 ที่สิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนจากการขาดส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน และเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนฯที่สิ้นสภาพกว่า 9.6 แสนคน ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมและประสงค์อยู่ในระบบประกันสังคมอีกครั้ง สปส.จึงได้นำระบบการแจ้งเตือนกรณีส่งเงินสมทบไม่ตรงตามกำหนดผ่านระบบบริการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) มาใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกันตนฯ ต้องสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเพราะขาดส่งเงินสมทบ โดยตั้งแต่มิ.ย.ถึงก.ย.60 ได้ส่งSMS แจ้ง 52,199 ราย มีผู้ประกันตนฯได้รับ SMS แล้วมาชำระเงิน 28,008 ราย ดังนั้นตนจึงขอเชิญชวนให้แจ้งข้อมูลเบอร์โทรศัพท์มือถือเพื่อขอรับบริการ SMS ได้ที่สปส.ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกในการชำระเงินซึ่งมีหลายช่องทาง เช่น หักผ่านบัญชีเงินฝาก จ่ายผ่าน Pay at Post ที่ทำการไปรษณีย์ หรือจ่ายผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น

ที่มา: เดลินิวส์, 13/12/2560

“ซีพีเอฟ” รับรางวัลช่วยคนพิการมีงานทำ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) มอบโล่ประกาศเกียรติคุณองค์กรสนับสนุนงานด้านคนพิการดีเด่น ประจำปี 2560 แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” และบริษัทในกลุ่ม เชิดชูเกียรติในฐานะองค์กรเอกชนชั้นนำไทยที่มีแผนงาน และจัดจ้างคนพิการทำงานอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ในงานวันคนพิการสากลประจำปี 2560 โดยมี “พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

“ปริโสทัต ปุณณภุม” รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรมนุษย์บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักดี และให้ความสำคัญของการสร้างสังคมพึ่งตน และเพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ให้คนพิการได้รับประโยชน์โดยตรงแทนการจ่ายเงินชดเชยเข้ากองทุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ซีพีเอฟร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถบรรลุเป้าหมายในการสนับสนุนให้คนพิการในสังคมมีงานทำที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ช่วยให้คนพิการพึ่งพาตนเอง และเลี้ยงดูครอบครัว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นำไปสู่สังคมที่มีการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ซีพีเอฟภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างโอกาสให้กับคนพิการด้อยโอกาสในสังคมสามารถเข้าถึงการทำงานที่มั่นคง สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และช่วยให้คนพิการดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีและได้ทำประโยชน์ตอบแทนคุณสังคมของตนเอง”

ปัจจุบันบริษัทดำเนินการจัดจ้างคนพิการทำงานกับซีพีเอฟ รวม 723 คน ครบถ้วนตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งช่วยให้คนพิการเอง และครอบครัวได้รับประโยชน์โดยตรงมากกว่าการให้ภาคเอกชนสมทบเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

ทั้งนี้ บริษัทได้ส่งเสริมการสร้างอาชีพคนพิการ เป็นไปตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 อยู่ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.จัดจ้างคนพิการทำงานอยู่ในสถานประกอบการของบริษัททั่วประเทศ รวม 184 คน 2.สำหรับคนพิการที่ด้อยโอกาส ฐานะยากจน และมีอุปสรรคในการเดินทาง ซีพีเอฟร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ด้านคนพิการ จัดจ้างคนพิการทำงานช่วยเหลือในชุมชนของคนพิการเอง อาทิ ช่วยโรงเรียน วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมถึงองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

ซึ่งรวมถึงการจัดจ้างนักกีฬาบาสเกตบอลวีลแชร์ทีมชาติไทยเป็นพนักงานบริษัท พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย และอาหารในช่วงการเก็บตัวฝึกซ้อม และเดินทางไปร่วมแข่งขันสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ รวม 328 คน ส่วนในกลุ่มที่ 3 เป็นการจัดจ้างงานตามมาตรา 35 โดยการให้สัมปทานแก่คนพิการ จัดสถานที่ให้จัดจำหน่ายสินค้าในโรงงานและสถานประกอบการของบริษัท

นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังได้ติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจว่าคนพิการได้รับการปฏิบัติที่ดี อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่คนพิการถึงที่บ้าน เพื่อให้มั่นใจว่าคนพิการทำงานสาธารณประโยชน์ในชุมชนตนเองมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งวัด โรงเรียน และหน่วยงานในชุมชนว่าคนพิการได้เข้ามีส่วนสำคัญในการเติมเต็มและช่วยให้การดำเนินงานหลายเรื่องประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย จนนำไปสู่การสร้างสังคมที่มั่นคง และยั่งยืนในระยะยาว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 14/12/2560

เตือนคนไทยไปตายเกาหลีพุ่ง! โดยเฉพาะแรงงานผิด กม. เหตุหนาวจัด

แฟนเพจเฟซบุ๊กของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ชื่อ Royal Thai Embassy, Seoul ได้เผยแพร่สถิติการเสียชีวิตของคนไทยที่อาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลีว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งล่าสุดในปัจจุบันถึงช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ มีคนไทยเสียชีวิตในสาธารณณัฐเกาหลีแล้ว 66 ราย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก หัวใจล้มเหลว หรือนอนไหลตาย ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตได้แสดงความกังวลและห่วงใยถึงประชาชนชาวไทย

โดยโพสต์ดังกล่าว ระบุว่า ขอแสดงความกังวลและความห่วงใยมายังชาวไทยที่พำนักอาศัยอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี โดยขอให้เอาใจใส่ดูแลสุขภาพของตนตลอดระยะเวลาการพำนักอยู่ เนื่องจากจำนวนคนไทยที่เสียชีวิตในสาธารณรัฐเกาหลี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จากจำนวนผู้เสียชีวิต 29 ราย ในปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 72 ราย ในปี 2559 ทั้งนี้ ในปัจจุบัน (กลางเดือนธันวาคมของปี 2560) มีคนไทยเสียชีวิตในสาธารณรัฐเกาหลีแล้วจำนวนทั้งสิ้น 66 ราย โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่ ได้แก่ เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจล้มเหลว/หัวใจวาย นอนไหลตาย ปอดบวม อุบัติเหตุ และขาดอากาศหายใจ

โพสต์ระบุต่อว่า โดยเฉพาะแรงงานไทยที่เดินทาง เข้ามาทำงานในลักษณะผิดกฎหมาย ซึ่งจะไม่ได้รับการคุ้มครอง/ไม่ได้รับสวัสดิการตามกฎหมายท้องถิ่น และมักประสบปัญหาการถูกหลอก/เอารัดเอาเปรียบจากนายหน้า และถูกกดขี่จากนายจ้างให้ทำงานหนัก ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุเจ็บป่วย ต้องรับการรักษาพยาบาล แรงงานผิดกฎหมายจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วย รวมถึงในกรณีเสียชีวิตด้วย อาทิ ค่ารักษาพยาบาลที่มีจำนวนสูงมากจากโรงพยาบาล ค่าบัตรโดยสารเครื่องบิน หรือค่าจัดการ / ขนส่งศพกลับประเทศไทย ด้วย ซึ่งค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในสาธารณรัฐเกาหลี ถือว่าสูงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ไม่คุ้มค่ากันหรือเพียงพอกับเงินรายได้ที่เก็บออมเงินจากการทำงานอย่างหนักในตลอดระยะเวลาที่พำนักอาศัยในสาธารณรัฐเกาหลี

สถานเอกอัครราชทูตฯ จึงขอให้พี่น้องชาวไทยที่พำนักอยู่ในสาธารณรัฐเกาหลี โปรดเอาใจใส่ในสุขภาพของตนเป็นลำดับแรก ทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและของมึนเมา ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอแก่ความต้องการของร่างกาย ประกอบการงานอย่างมีสติรอบคอบตลอดเวลา และระมัดระวังในการแต่งกายให้อบอุ่นพอเพียงกับอากาศหนาวจัด โดยเฉพาะในช่วง 2-3 เดือนนี้ ที่มีสภาพอากาศหนาวจัดติดลบเกิน 10 องศาในหลายพื้นที่ของสาธารณรัฐเกาหลีด้วย

ที่มา: ข่าวสด, 13/12/2560

กก.ค่าจ้างนัดถกขึ้นค่าแรง คาดปรับ 2-15 บาท ไม่แน่ใจทันปีใหม่

หลังจาก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เข้ารับตำแหน่งมาเกือบ 2 สัปดาห์ ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ พล.ต.อ.อดุลย์ ได้เรียกบริษัทจัดนำเข้าแรงงานต่างด้าว 120 บริษัท เข้าประชุมรับทราบนโยบายการทำงานยุคมีอดีต ผบ.ตร.เป็น รมว.แรงงาน และวันเดียวกันยังเปิดรับฟังความเห็นจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย นำโดยนายกลินท์ สารสิน ประธาน กกร. ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าไทย ซึ่ง กกร.เคยไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่มีบทลงโทษที่สูงเกินไป ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงจะมีการประชุมบอร์ดค่าจ้าง เพื่อเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ซึ่งเลื่อนมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ที่ผ่านมาด้วย ส่วนปมการแก้ปัญหาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวที่ยังล่าช้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน จ.สมุทรปราการนั้น รมว.แรงงาน ก็จะลงพื้นที่ตรวจผลการทำงานในวันที่ 15 ธ.ค. หลังให้เวลากรมการจัดหางาน 15 วัน ไปแก้ปัญหาพิสูจน์สัญชาติแรงงานเมียนมาที่ทำงานอืดอาดและปัญหานายหน้าเรียกค่าหัวคิว พร้อมคาดโทษหากทำไม่ได้ จะให้จัดหางานจังหวัดและอธิบดีกรมการจัดหางานรับผิดชอบ

ด้านนายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อเคาะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ ว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังคงเป็นคณะกรรมการค่าจ้างชุดเดิม หรือชุดที่ 19 ที่หมดวาระแล้วแต่ยังรักษาการรอชุดใหม่ ส่วนจะพิจารณาปรับขึ้น 2-15 บาท ตามกระแสข่าวหรือไม่ต้องรอผลสรุปจากที่ประชุมก่อนที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ในวันที่ 1 ม.ค. ให้กับแรงงานได้หรือไม่

ขณะที่นายอาทิตย์ อิสโม กรรมการค่าจ้างฝ่ายรัฐบาล กล่าวว่า วันที่ 13 ธ.ค. มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างแน่นอน ส่วนอัตราที่จะมีการเพิ่มขึ้นนั้นยังไม่นิ่ง จึงยังไม่ขอพูดสำหรับการตั้งคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระแต่ยังรักษาการ ยังไม่แน่ใจว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน จะเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรีวันไหน แต่หากรัฐบาลอยากให้การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นของขวัญปีใหม่ผู้ใช้แรงงานก็น่าจะตั้งกรรมการชุดใหม่ในสัปดาห์นี้ แต่คณะกรรมการชุดเก่าก็สามารถพิจารณาเคาะได้เลยไม่จำเป็นจะต้องรอ

ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์, 12/12/2560

แรงงานติง รบ. คนไทยพ้นความยากจนไม่จริง ย้ำไม่ได้ต่อต้านรัฐ แต่สงสัยขอตัวเลขคิดคำนวณ

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลยกธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทยได้เริ่มหลุดพ้นจากความยากจน และกำลังก้าวสู่ความมั่นคั่ง ว่า เ กรณีที่มีผลสำรวจของเวิลด์แบงก์ระบุว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของคนพบว่า เริ่มหลุดจากความยากจนนั้น อาจเป็นมาตรฐานที่คิดของเขาเองหรือไม่ เพราะความเป็นจริงไม่ใช่สำหรับประเทศไทย เพราะหากไทยไปอิงแบบนั้นเราแย่แน่ เพราะข้อเท็จจริงหากจะคำนวณค่าเฉลี่ยรายได้ ควรต้องเอารายได้ของบุคคลที่มีรายได้น้อยไม่ใช่คนมีรายได้ปานกลางถึงมาก เราควรเอารายได้แต่ละบุคคลที่มีรายได้ต่ำที่สุดนำมาคำนวณ แต่แบบนี้ไม่ใช่ เพราะยังมีคนมีรายได้ไม่ถึง 1,000 บาทต่อเดือนอีกเยอะ แบบนี้จะทิ้งคนจนไว้ข้างหลังหรืออย่างไร การคิดแบบนี้ตนไม่ทราบว่า เป็นการคิดแบบเอาคนรายได้สูงมาเป็นตัวตั้งหรือไม่ ซึ่งไม่สะท้อนความเป็นจริง

นายชาลีกล่าวอีกว่า การคำนวณรายได้ของประเทศนั้น ควรต้องเอาตัวเลขคนรายได้ต่ำจึงจะเหมาะสม โดยรายได้สูงต้องตัดไป รัฐบาลต้องทำให้ถูกต้องให้คนยอมรับ โดยเอาคนมีรายได้ต่ำทั้งหมด จากการลงทะเบียนคนรายได้น้อย โดยเอาตัวเลขนี้มาคิดคำนวณ ซึ่งยังมีคนที่ไม่ลงทะเบียนอีกด้วยซ้ำ จริงๆหากเอาคนที่ไปลงทะเบียนประมาณ 11-12 ล้านคนแล้วเอามาคำนวณเป็นค่าเฉลี่ยจะดีกว่า หากเราเอาคนที่มีรายได้ต่ำมาคำนวณเป็นตัวตั้ง เราก็จะได้คิดได้ว่าจะทำอย่างไรให้คนรายได้ต่ำมีรายได้ประจำ และพอยังชีพอย่างสม่ำเสมอ นี่คือโจทย์สำคัญ และจะเป็นเรื่องของความยั่งยืน

“เอาแค่ง่ายๆ ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงาน ณ ปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับค่าครองชีพด้วยซ้ำ ยิ่งในกรณีคนรายได้น้อยเขาจะพอยังชีพอย่างไร ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนมาก ทั้งคนไม่มีงานทำ พ่อแม่พี่น้องชาวนาที่อยู่ต่างจังหวัด มีรายได้ไม่สม่ำเสมอ อย่างบางเดือนได้เงินเยอะ ประมาณ 12,000 บาทแค่เดือนเดียว แต่อีก 11 เดือนไม่ได้ แสดงว่ามีใช้แค่เดือนละ 1,000 บาท ดังนั้น จึงไม่ควรพูดว่าค่าความจนหลุดออกไปแล้ว หากพูดเช่นนี้ เอาตัวเลขมาเปิดเผยเลย และเอากลุ่มคนจนมาพูดเลยว่า เขาหลุดพ้นความยากจนจริงหรือไม่ เราต้องคำนวณเชิงมหภาคด้วย แต่ผมก็ยังมองว่ารัฐบาลอาจมีตัวเลขจริงๆ แต่ประชาชนสงสัย รัฐบาลก็ต้องออกมาตอบด้วย ซึ่งเราไม่ได้ต่อต้านรัฐบาล แต่เราต้องการได้เหตุผล หากได้จริงก็ดี หากไม่จริงมาประกาศก็มีปัญหาทางสังคม” นายชาลีกล่าว และว่า ขนาดค่าแรงขั้นต่ำยังไม่เพียงพอเลย จะแก้ปัญหายังไงต่อไปก็ยาก ใครมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็คงยาก เรื่องนี้ต้องช่วยกันหมด ทั้งข้าราชการ ฝ่ายการเมืองด้วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 11/12/2560 ประชาชาติธุรกิจ

สนง.สถิติฯ เผยตัวเลขคนว่างงาน ต.ค. 2560 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยตัวเลขการทำงานของคนไทยล่าสุดเดือนตุลาคมที่ผ่านมาพบว่า จำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมีจำนวน 481,000 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายนและช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนตุลาคม 2560 พบว่า จำนวนผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป 56.05 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.22 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยผู้มีงานทำ 36.65 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.81 แสนคน และผู้รอฤดูกาล 8.53 หมื่นคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 18.83 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงจำนวนผู้ว่างงานในเดือนตุลาคม 2560 มีทั้งสิ้น 481,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.3 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 31,000 คน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.3 และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน 2560 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 38,000 คน และอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.3

เมื่อพิจารณาอัตราการว่างงานตามเพศในเดือนตุลาคม 2560 เพศชายมีอัตราการว่างงานร้อยละ 1.4 และเพศหญิงมีอัตราการว่างงาน ร้อยละ 1.1 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานเพศชายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็นร้อยละ 1.4 และเพศหญิงอัตราการว่างงานไม่เปลี่ยนแปลง

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.